การเมืองหลังการเลือกตั้ง กำลังร้อนแรง ทั้งการล่ารายชื่อถอนถอดกกต. และการเคลื่อนไหวจัดตั้งรัฐบาล พร้อมวาทกรรมทางการเมือง ออกมาเป็นระยะๆ
ล่าสุดนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ เจอหมายเรียกทำความผิดมาตรา 116 เป็นภัยต่อความมั่นคง โดย พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ ฝ่ายกฎหมายคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นผู้กล่าวหา
สำหรับมาตรา 116 ในประมวลกฎหมายอาญา หมวดความมั่นคง บัญญัติไว้ว่า ผู้ใดกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือ หรือวิธีอื่นใด อันไม่ใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือไม่ใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต
1.เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกฎหมายแผ่นดินหรือรัฐบาล โดยใช้กำลังข่มขืนใจ หรือใช้กำลังประทุษร้าย 2. เพื่อให้เกิดความปั่นป่วน หรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน ถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร หรือ 3. เพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี
อย่างไรก็ตาม หากเป็นการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต เป็นการใช้เสรีภาพการแสดงความคิดเห็นตามสิทธิขั้นพื้นฐานในรัฐธรรมนูญ ย่อมไม่เป็นความผิดตามมาตรา 116 และต้องไม่มีเจตนาให้กระทบต่อความมั่นคงของรัฐ
ทั้งนี้ก่อนหน้าคสช. มีการจับกุม และดำเนินคดีผู้วิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลและคสช. (เห็นต่าง) เป็นจำนวนมาก อาทิ นายจาตุรนต์ ฉายแสง คดีให้สัมภาษณ์นักข่าวโจมตีคสช.ที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศ เมื่อวันที่ 27 พ.ค. 2557 รวมถึงแกนนำพรรคเพื่อไทย จัดแถลงข่าวเรื่อง “4 ปีที่ล้มเหลวของรัฐบาล และ คสช. นำประเทศไปสู่ความมืดมนและอันตราย” เมื่อวันที่ 17 พ.ค. 2561 หรือกรณีมีการชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน ซึ่งฝ่าฝืนประกาศ และคำสั่งคสช. ฉบับที่ 37/2557
...
สำหรับคำสั่งคสช.ฉบับที่ 37/2557 กำหนดให้คดีในประมวลกฎหมายอาญาหมวด “ความมั่นคง” และคดีฐานฝ่าฝืนประกาศและคำสั่งคสช. ที่พลเรือนตกเป็นผู้ต้องหาต้องพิจารณาที่ศาลทหาร หรือในบางกรณีที่โดนข้อหาอื่นร่วมด้วย อาจต้องพิจารณาคดีที่ศาลพลเรือน ต่อมา คสช.ได้ออกประกาศคำสั่งที่ 55/2559 เมื่อวันที่ 12 ก.ย. 2559 ให้ยกเลิกอำนาจของศาลทหารในการพิจารณาคดีที่ระบุตามประกาศ ให้กลับไปอยู่ในอำนาจพิจารณาคดีของศาลยุติธรรม.