ศาลยุติธรรม เตรียมพร้อมรับคำร้อง กกต.ขอเเจกใบเเดง ผู้สมัคร ส.ส. ยัน ต้องพิจารณาเเล้วเสร็จเป็นไปตามกรอบ ไม่หวั่น คดียากหรือง่าย ใช้ผู้พิพากษาศาลฎีกา ประสบการณ์โชกโชนผ่านคดีมาทุกรูปเเบบ

เมื่อวันที่ 2 เม.ย. ที่ห้องประชุมสำนักงานศาลยุติธรรมชั้น 12 อาคารศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก นายสราวุธ เบญจกุล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม กล่าวถึงการรับคดีเลือกตั้ง ส.ส. ภายหลังการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มี.ค. ที่ผ่านมาของศาลฎีกาเเผนกคดีเลือกตั้ง ขณะนี้ทาง กกต. ยังไม่มีการยื่นขอให้พิจารณาเกี่ยวกับคดีเลือกตั้งเข้ามา โดยอำนาจที่จะแจกใบแดง ให้เพิกถอนสิทธิการรับสมัครเลือกตั้งของว่าที่ ส.ส. ภายหลังการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มี.ค.จะเป็นอำนาจวินิจฉัยของศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งเท่านั้น ขณะนี้ กกต. ไม่มีอำนาจที่จะแจกใบแดงแล้ว ซึ่งในการพิจารณาการการยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อตัดสิทธิการเลือกตั้ง ของ กกต. ก็จะมีคณะอนุกรรมการวินิจฉัย ซึ่งจะต้องรวบรวมข้อเท็จจริงก่อนที่จะส่งคณะกรรมการ กกต.ชุดใหญ่เป็นผู้พิจารณาก่อนที่จะยื่นคำร้องส่งศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้ง ขณะนี้ศาลฎีกายังมีเวลาเตรียมความพร้อมในการวินิจฉัยคดีเลือกตั้ง ส.ส. ที่ กกต.กำลังจะยื่นเข้ามา ซึ่งการทำงานของศาลฎีกาเราไม่ได้ดูว่าคดีมีความยากหรือง่าย เราจะพิจารณาจากพยานข้อเท็จจริงที่ปรากฏจากการนำสืบที่มีการเสนอต่อศาล และศาลจะนำข้อกฎหมายมาปรับเข้ากับข้อเท็จจริง เรื่องนี้จึงไม่มีอะไรยากง่าย ซึ่งการทำงานของศาลฎีกา ผู้พิพากษาผู้พิจารณาสำนวนจะเป็นผู้พิพากษาศาลฎีกาที่มีประสบการณ์สูงมีการทำงานทางคดีมาเกือบทั้งชีวิต มีประสบการณ์ในการรับฟังคดีและพยานหลักฐานทุกรูปแบบมาเเล้ว

ส่วนเรื่องระยะเวลาการพิจารณาคดีจะต้องเป็นไปตามกรอบกฎหมายว่า จะต้องพิจารณาวินิจฉัยให้แล้วเสร็จภายในกี่วัน หากไม่แล้วเสร็จตามกรอบที่กำหนด จะต้องดำเนินการอย่างไรต่อ แต่เราก็ต้องมาดูว่าจะทำอย่างไรให้รวดเร็วกว่ากรอบที่กำหนด ซึ่งในวันนี้กรอบตามกฎหมายก็สั้นลงกว่าในอดีตที่ว่าจะมีเลือกตั้งกันใหม่อีกครั้ง แต่ผลการพิจารณาเรื่องคดีเลือกตั้งครั้งที่แล้วยังไม่ออกมาสักที แต่วันนี้ไม่มีแล้ว เรื่องเวลาพิจารณาถูกล็อกไว้ตามกรอบกฎหมาย

...

ด้านนายสุริยันต์ กล่าวว่า จะเห็นว่า คดีที่มีการร้องเข้ามาก่อนวันเลือกตั้ง 24 มี.ค. ศาลฎีกามีคำสั่งไปหมดแล้ว 577 คดี ส่วนคดีที่จะเลือกตั้งจะใช้เวลาเท่าไรต้องเป็นไปตามกรอบที่กฎหมายกำหนด แม้หลัง กกต.ประกาศรับรองผลรายชื่อผู้ได้เป็น ส.ส. ศาลฎีกาก็ยังมีอำนาจพิจารณาในเรื่องใบแดงได้