เหล่า กูรู นักวิชาการ สุดข้องใจ สูตรคำนวณ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ยึดตามพ.ร.ป.ส.ส.มาตรา 128 แท้จริง เอายังไงแน่ คะแนน7.1หมื่นคะแนน ได้ ส.ส.พึงมี 1 คน แต่พรรคเล็ก บางพรรคได้ไม่ถึงเกณฑ์ แค่ 3หมื่นกว่าคะแนน ทำไมถึงได้ ส.ส. 1 คน
จากกรณีที่พรรคเพื่อไทยแถลงข่าว และยังได้เผยแพร่เอกสารการคำนวณเก้าอี้ ส.ส. ที่อ้างว่า ถูกต้องที่สุด โดยนำจำนวนเสียงโหวตทั้งหมดที่เป็นบัตรดีที่ทุกพรรคการเมืองได้รับรวมกัน (35,532,647 เสียง) มาหารด้วย 500 (จำนวน ส.ส.ในสภา) จะได้เท่ากับ 71,065.3 ตัวเลขนี้จึงมีความหมายว่า พรรคการเมืองที่มีผู้สนับสนุนทั่วประเทศถึง 71,065 เสียง ก็พึงจะมี ส.ส. ในสภาได้ 1 คน ดังนั้นจึงเป็นไปไม่ได้ที่พรรคเล็กคะแนนต่ำกว่า 71,065 จะได้ ส.ส. มากถึง 13 พรรคการเมือง
...
ขณะนายวิโรจน์ ณ ระนอง ผู้อำนวยการวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขและการเกษตร สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว Viroj NaRanong หัวข้อ “คณิตศาสตร์มหัศจรรย์ของการเลือกตั้งของไทย” มีเนื้อหาดังนี้
"คณิตศาสตร์มหัศจรรย์ของการเลือกตั้งของไทย" หลายท่านยังเข้าใจผิดว่า วิธีการคำนวณที่ทำให้ได้ ส.ส.พรรคละ 13 พรรคเกิดจากการเจตนาปัดเศษที่ต่ำกว่า 1 ทิ้ง ในความเป็นจริงเกิดจากสาเหตุสองประการรวมกัน คือ
1.1 การตีความว่า ส.ส.พึงมีได้ตาม ม. 128 (2) (ที่อ้างใน ม. 128(3)) ว่าเป็น ส.ส. พึงมีได้ (เบื้องต้น) ที่ยังไม่ปัดเศษ แล้วนำมาลบ ส.ส. เขต ตาม 128 (3) เป็น จำนวน ส.ส. บัญชีรายชื่อที่พรรคจะได้รับเบื้องต้น
1.2 ม. 128 (4) บอกให้เอาแค่จำนวนเต็มมาก่อน ถ้ารวมแล้วไม่ครบ 150 ถึงให้ไปคิดเศษ
1.3 ในการคำนวณล่าสุดของผม จำนวนเต็มรวมกันได้ 152 แล้ว ขั้นนี้จึงไม่ได้เอาเศษมาใช้ (ไม่ว่าของพรรคใหญ่หรือพรรคเล็ก ซึ่งต่างก็มีเศษ) แต่หลายท่านอาจสงสัยว่า ทำไมผลรวมจำนวนเต็ม (ที่ยังไม่คิดเศษของใครเลย) ถึงได้เกิน 150 ได้ อันนี้มาจาก
2.1 กติกาใน ม. 128 (5) ที่มีผลทำให้พรรคที่ชนะ ส.ส. เขตมากอย่างพรรคเพื่อไทย ไม่ได้ ส.ส. บัญชีรายชื่อเลย เพราะถือว่าพรรค เพื่อไทย ได้คะแนนรวมน้อยกว่าคะแนนพึงมี
2.2 การที่พรรคเพื่อไทย ได้คะแนนน้อยกว่าคะแนนพึงมีต่อ ส.ส. 1 คน (ที่ได้จากการนำคะแนนทั้งหมดหารด้วย 500) ย่อมมีผลทำให้คะแนนที่เหลือ เมื่อหารด้วยจำนวน ส.ส. พึงมีแล้ว ได้ตัวเลขรวมกันที่เกินจาก 150 และในครั้งนี้ เมื่อคำนวณโดยวิธีของผม (ซึ่งเก็บเศษทั้งหมดมาใช้ถึงขั้นนี้ เพราะตีความว่าเป็นเจตนารมณ์ของ ม.128 (4)) จะมียอดรวมที่เกินจาก 150 ใกล้เคียงกับยอดที่พรรคเพื่อไทยไม่ได้ คือ 25 คน)
2.3 เมื่อมียอดรวมที่เกินมามากเช่นนี้ เอาแค่จำนวนเต็มมาก็ได้ 152 ซึ่งเกิน 150 แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องใช้เศษมาคิด หรืออีกนัยหนึ่งพรรคที่ได้คะแนนน้อยกว่า "คะแนนพึงมีสำหรับ ส.ส. 1 คน" ทั้งหมดจึงหลุดจากวงจรในการคำนวณขั้นนี้ ตามกติกาใน ม. 128 (4) นั่นเอง
นี่เป็นความมหัศจรรย์ของคณิตศาสตร์ ซึ่งหลายครั้งอาจจะต่างจาก common sense บ้าง แต่มักจะมีผลที่น่าทึ่งออกมาได้บ่อยๆ
หมายเหตุ: ในกรณีที่ยอดรวมของตัวเลขจำนวนเต็มตามข้อ 1.3 ต่ำกว่า 150 ก็จะมีการนำเศษของทุกพรรคมาเทียบกับ ซึ่งในกรณีนั้น ก็อาจจะได้พรรค 1 เสียงมาเข้ามาเพิ่มได้บ้าง แต่จะไม่มากเหมือนที่เราเห็นในวิธีการคำนวณอีกแบบตอนนี้ ซึ่งมีการปัดเศษจำนวน ส.ส. ที่แต่ละพรรคพึงมีได้ ขึ้นหรือลงตั้งแต่แรก (ซึ่งจะมีผลทำให้ไม่มีเศษเหลือใน ม. 128(3) ที่ทำให้ผม (และอาจรวมถึง จนท ที่เผยแพร่ 3 slide ของ กกต ที่ผมแชร์ไว้ข้างล่าง) ตีความว่าน่าจะผิดไปจากเจตนารมณ์ของ 128 (4))
ขณะที่ความเห็นของ นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตคณะกรรมการการเลือกตั้ง ชี้ว่า การคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อนั้น มีขั้นตอนของการคำนวณ เขียนไว้ใน มาตรา 128 ของ พรป.ส.ส. ซึ่งอ่านแล้วไม่สามารถเข้าใจได้โดยง่าย และสามารถอ่านแปลความหมายนำไปสู่การคำนวณที่แตกต่างกันและทำให้เกิดผลแตกต่างกันอย่างน้อยสองแบบ
แบบแรก เป็นแบบที่เห็นเผยแพร่ในสื่อทั่วไป ทำให้มีพรรคเล็กได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 1 ที่นั่ง เพิ่มขึ้นมาจำนวน 11 พรรค โดยเป็นพรรคที่ได้คะแนนระหว่าง 33,748 – 69,417 คะแนน ซึ่งเป็นคะแนนที่ต่ำกว่า ค่าเฉลี่ยของ ส.ส. 1 ที่นั่ง ที่คำนวณไว้ว่า เท่ากับ 71,065 คน เป็นการขัดกับเหตุผลว่า คะแนนแค่สามหมื่นเศษ ทำไมถึงได้ ส.ส. ในขณะที่ พรรคใหญ่และพรรคกลางต้องใช้คะแนนถึงเจ็ดหมื่นเศษ จึงได้ ส.ส.หนึ่งคน
แบบที่สอง เป็นการคำนวณโดยนักวิชาการ ที่นำแต่ละบรรทัดของกฎหมายมาแปลความและทดลองคำนวณ ซึ่งมีผลทำให้ 11 พรรคเล็กที่มีคะแนน ส.ส.เขต ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 71,065 คน ไม่ได้รับการจัดสรร ส.ส.บัญชีรายชื่อ และทำให้พรรคกลาง และพรรคใหญ่ มีจำนวน ส.ส.มากขึ้น
ผลคะแนนเลือกตั้ง 100% อย่างไม่เป็นทางการ
1. พรรคพลังประชารัฐ 8,433,137 คะแนน มีสัดส่วน ส.ส. พึงมี 118 คน แต่ได้ ส.ส. เขตแล้ว 97 คน จึงได้ ส.ส. บัญชีราย มาเติม อีก 21 คน ครบ 118 คน.
พรรคเพื่อไทย 7,920,630 คะแนน มีสัดส่วน ส.ส. พึงมี 111 คน แต่ได้ ส.ส. เขตแล้ว 137 คน จึงไม่มี ส.ส. รายชื่อเพิ่มอีก(คะแนนโอเวอร์แฮง).
3.พรรคอนาคตใหม่ 6,265,950 คะแนน มีสัดส่วน ส.ส. พึงมี 88 คน แต่ได้ ส.ส. เขตแล้ว 30 คน จึงได้ ส.ส. บัญชีราย มาเติม อีก 58 คน ครบ 88 คน.
4.พรรคประชาธิปัตย์ 3,947,726 คะแนน มีสัดส่วน ส.ส. พึงมี 55คน แต่ได้ ส.ส. เขตแล้ว 33 คน จึงได้ ส.ส. บัญชีราย มาเติม อีก 22 คน ครบ 55คน.
5.พรรคภูมิใจไทย 3,732,883 คะแนน มีสัดส่วน ส.ส. พึงมี 52คน แต่ได้ ส.ส. เขตแล้ว 39 คน จึงได้ ส.ส. บัญชีราย มาเติม อีก 13 คน ครบ 52คน
6. พรรคเสรีรวมไทย 826,530 คะแนน
7. พรรคชาติไทยพัฒนา 782,031 คะแนน
8. พรรคเศรษฐกิจใหม่ 485,664 คะแนน
9. พรรคประชาชาติ 485,436 คะแนน
10. พรรคเพื่อชาติ 419,393 คะแนน
11. พรรครวมพลังชาติไทย 416,324 คะแนน
12. พรรคชาติพัฒนา 252,044 คะแนน
13. พรรคพลังท้องถิ่นไทย 213,129 คะแนน
14. พรรครักษ์ผืนป่าประเทศไทย 136,597 คะแนน
15. พรรคพลังปวงชนไทย 81,733 คะแนน
16. พลังชาติไทย 73,871 คะแนน
***หากยึดที่สูตรนี้จริง พรรคการเมือง ได้คะแนน ส.ส.7.1 หมื่นกว่าคะแนน จึงจะได้ส.ส. 1 คน แล้วละก็ จะมีพรรคการเมือง ที่จะได้ ส.ส.พึงมี (ปาร์ตี้ลิสต์ จำนวน 16 พรรค) ตามรายชื่อด้านบน***
ดังนั้น ตอนนี้ต้องรอ กกต.เปิดเผยสูตรคำนวณ ส.ส.ที่ถูกต้องเสียก่อน แล้วจึงจะทราบผลที่แท้จริงว่า ใครได้ส.ส.เท่าไหร่กันแน่ เพื่อจะได้ชัดเจนขึ้นอีกระดับในการแข่งกันจัดตั้งรัฐบาลของ 2 พรรคการเมืองใหญ่ ต่อไป.