จากท่าทีของสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ที่แสดงออกในระยะนี้เห็นได้ชัดว่ายังมีความแตกแยก อย่างน้อยที่สุดในด้านความคิดเห็น อาจเป็นความเห็นต่างลึกๆ ที่เริ่มต้นจากการแข่งขันเลือกตั้งหัวหน้าพรรค รวมทั้งความเห็นต่างในประเด็นที่ว่า จะสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไปหรือไม่ และในที่สุดก็ทำให้พรรคประชาธิปัตย์ แพ้ยับเยินในการเลือกตั้ง
ผลการเลือกตั้งทำให้พรรคประชาธิปัตย์ถูกลดสถานะจากการเป็นพรรคใหญ่ เป็นคู่แข่งกับพรรคเพื่อไทย มาเป็นพรรคอันดับ 3 เป็นพรรคขนาดกลางที่เล็ก จากที่เคยได้ ส.ส. 159 คน ในการเลือกตั้ง 2554 อาจเหลือไม่เกิน 55 คน จนนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ต้องแสดงความรับผิดชอบด้วยการลาออก ให้คณะกรรมการบริหารพรรคกำหนดทิศทางการเมืองใหม่
ที่ประชุมพรรคประชาธิปัตย์ ครั้งแรกหลังแพ้เลือกตั้ง ยังไม่ได้กำหนดทิศทางทางการเมืองจะเดินหน้าอย่างไร อาจต้องให้คณะกรรมการบริหารชุดใหม่และ ส.ส.ใหม่เป็นผู้ตัดสิน แต่นายถาวร เสนเนียม รองหัวหน้าพรรค แสดงความเห็นส่วนตัวว่า ควรร่วมรัฐบาลพรรคพลังประชารัฐ โดยอ้างว่าเป็นพรรคที่ได้คะแนนเสียงประชาชนมากที่สุด แต่อดีต ส.ส.หนุ่มของพรรคบางคนเห็นต่าง
นายณัฐ บรรทัดฐาน อดีต ส.ส.กทม. แสดงความเห็นว่า ในสถานการณ์ที่แพ้เลือกตั้งแบบนี้ พรรคประชาธิปัตย์ไม่ควรร่วมรัฐบาลกับฝ่ายใดทั้งสิ้น แต่ควรใช้เวลาทบทวนอุดมการณ์ของพรรค ควรทำหน้าที่เป็นฝ่ายค้าน ตรวจสอบรัฐบาลอย่างเข้มแข็ง การที่พรรคประชาธิปัตย์แพ้ราบคาบ แสดงว่าประชาชนไม่เอาแนวทางที่เสนอ แต่ไม่ได้ระบุว่าแนวทางที่ถูกปฏิเสธคืออะไร
เห็นได้ชัดว่ามีความเห็นเป็น 2 ฝ่าย ฝ่ายหนึ่งเห็นว่านายอภิสิทธิ์ผิดพลาด ที่ประกาศไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ ในช่วงสุดท้ายของการหาเสียง ทำให้เกิดคำถามว่าถ้าเช่นนั้น 3.9 ล้านเสียงที่เลือกประชาธิปัตย์ เลือกเพราะอะไร และการที่เลขาธิการพรรคแยกไปตั้งพรรคสนับสนุนหัวหน้า คสช.เต็มตัว แต่ได้ ส.ส.แค่ 5 คน ซ้ำยังแพ้ขาดที่สุราษฎร์ธานี หมายความอย่างไร
...
ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์กำลังเผชิญภาวะวิกฤติอย่างหนักอีกครั้ง ไม่น่าจะผลีผลามตัดสินใจเลือกฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ควรจะเอาเวลามานั่งทบทวนประวัติศาสตร์ และประสบการณ์ที่ผ่านมายุคใดรุ่งเรืองสุด ยุคใดตกต่ำสุด เพราะเหตุใด นอกจากความไม่เป็นเอกภาพในพรรคแล้ว ต้องไม่ลืมว่ามีประชาชนเป็นอันมากที่มองว่า ปชป.มีส่วนสำคัญในการผลักดันรัฐประหาร 2557
แม้จะไม่ได้ทำในนามของพรรค แต่ทำในนาม “กปปส.” ที่ย่อมาจาก “คณะกรรมการประชาชน เพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูป ประเทศไทย ให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” การชุมนุมของ กปปส.นำไปสู่รัฐประหาร พร้อมด้วยสัญญาว่า “จะปฏิรูปประเทศก่อนเลือกตั้ง” ปฏิรูปอะไรใน 5 ปีที่ผ่านมา นอกจากปฏิรูปการเมือง นำประเทศถอยหลังสู่ประชาธิปไตยครึ่งใบ.