ต้องเขย่าให้ลงตัว...

คงไม่ใช่เรื่องง่ายแน่ในการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ภายใต้เงื่อนไขเสียงสนับสนุนทั้ง 2 ขั้วอยู่ในลักษณะที่ว่าก้ำกึ่งกันเป็นอย่างมาก ซึ่งมี 2 ลักษณะ

1.ก้ำกึ่งในการหาพรรคการเมืองสนับสนุน เพราะนอกจากบางพรรคที่จับมือกันมาก่อนอย่างแนบแน่น ทำให้กลายเป็น “ขั้วล็อก” ที่จะต้องหาพรรคอื่นมาร่วมให้เกินจำนวน เพื่อเป็นเสียงข้างมาก

ที่คิดไปไกลถึงขั้นว่าจะได้ 270 เสียงแทบจะเป็นไปไม่ได้

2.ก้ำกึ่งเมื่อทั้ง 2 ขั้วไม่ว่าข้างใดข้างหนึ่ง จะได้เป็นแกนนำ แต่ที่สุดก็จะเกิดปัญหา เพราะเสียงยังก้ำกึ่งกันอีก

แม้จะเปิดยุทธการล่า “งูเห่า” สำเร็จก็ตาม

เพราะจำนวน ส.ส.ทั้งหมด 500 คน แต่เมื่อมีการแบ่งก๊กกันแล้ว แต่เสียงก็ยังไม่ห่างกันมาก แม้จะเกินครึ่งก็ตาม

ลึกลงไปกว่านั้นอย่างขั้นพลังประชารัฐที่สนับสนุนให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯ ก็ยังเกิดปัญหาโดยเฉพาะกรณีของประชาธิปัตย์ที่ยังไม่ตัดสินใจว่าจะเข้าร่วมด้วยหรือไม่

เนื่องจากปัญหาขัดแย้งภายในหลังจากนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้ลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรค ก็ต้องหาตัวหัวหน้าพรรคคนใหม่กรรมการบริหารชุดใหม่

ก็ต้องต่อสู้กันภายใน ซึ่งจุดขัดแย้งดำรงอยู่แล้ว แม้จะเพิ่งพ่ายแพ้ เลือกตั้งมาสดๆร้อน แต่ก็คงต้องสู้กันพอสมควร

หัวหน้าพรรคคนใหม่ กรรมการบริหารชุดใหม่ จึงต้องมีบทบาทต่อการตัดสินใจอนาคตของพรรคว่าจะไปทางไหน

ทางหนึ่งก็คือการเข้าร่วมกับพลังประชารัฐหนุน พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ

อีกทางหนึ่งคือไม่เข้าร่วมกับขั้วไหน แต่จะทำหน้าที่ “ฝ่ายค้านอิสระ” ไม่ว่าขั้วไหนเป็นฝ่ายค้าน ก็จะทำหน้าที่คู่ขนานกันไป แต่ไม่ได้ขึ้นตรงต่อกันอย่างที่เคยมีมา

แบบว่าประเด็นไหนสนับสนุนก็จะยกมือให้ แม้ฝ่ายค้านด้วยกันจะไม่ยกมือให้ก็ตามถือความเป็นอิสระในการทำหน้าที่
หรือจะพูดว่าเป็นฝ่ายค้านในฝ่ายค้านหรือเป็นฝ่ายรัฐบาลในฝ่ายค้านก็ว่ากันไป

...

ประเด็นสำคัญที่ไม่ควรมองข้ามก็คือ แนวคิดฝ่ายค้านอิสระนั้นเกิดขึ้นมาภายหลังจากที่นายอภิสิทธิ์ประกาศท่าทีทางการเมืองด้วยการไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ แต่ร่วมกับพลังประชารัฐได้

เป็นแนวคิดที่เชื่อว่าจะได้กินสองต่อ

ก็เลยมีคำถามว่า หากเกิดปัญหาทางตันอย่างนี้จะทำให้เกิดปัญหาทางการเมืองหรือไม่ แน่นอนว่ามีปัญหาแน่ยิ่งตัวเลข ส.ส.ที่ออกมาอย่างนี้จะทำให้การเมืองเดินหน้าไปลำบาก

ขั้วพลังประชารัฐจะเกิดปัญหาขึ้นมาทันที เพราะแม้ว่าจะสามารถดึงพรรคการเมืองอื่นมาร่วมได้อย่างพรรคเล็กๆก็ตาม

แต่หากขาด “ประชาธิปัตย์” ไป 1 พรรคจากยอด ส.ส. 52 คนก็เดินงานการเมืองยาก นั่นจะทำให้ขั้วเพื่อไทยต้องชิงตั้งรัฐบาล แม้เสียงจะไม่ถึงกึ่งหนึ่ง แต่ก็เป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อย

ไปสู้กันในสภาต่อไป...

เช่นกัน เรื่องที่พูดกันว่า พล.อ.ประยุทธ์นั้นมีความได้เปรียบเชิงกล เพราะกฎหมายให้อำนาจเอาไว้ทุกช่อง หากตั้งรัฐบาลไม่ได้ก็จะทำหน้าที่เป็นนายกฯต่อไป ซึ่งไม่ใช่นายกฯรักษาการ

ยังคงเป็นหัวหน้า คสช. เป็นนายกฯ มี ม.44 เป็นเครื่องมือ

หรือแม้แต่การลงมติเลือกนายกฯ ซึ่งมี 250 เสียง จากวุฒิสภาอยู่ในมืออีก 126 เสียง ก็ได้เป็นนายกฯแล้ว

แต่สถานการณ์ที่เปลี่ยนไปนั้น การทำหน้าที่นายกฯไม่หมูแล้วครับ...

“สายล่อฟ้า”