ในที่สุด คณะกรรมการการเลือกตั้ง ถูกกดดันจนต้องออกมาแถลงปมคาใจในการ บริหารจัดการเลือกตั้ง ที่ผ่านมาใน 4 ประเด็นร้อนด้วยกัน ยังไม่รวมประเด็นทั่วไปทั้ง การนับคะแนนและ การคิดคะแนนสัดส่วน ส.ส. ที่ดูจะยุ่งยาก ถ้าจะบอกว่า กกต.ชุดนี้มือใหม่ ไม่ใช่ข้ออ้างเพราะการบริหารจัดการการเลือกตั้งที่ผ่านมา ก็เป็นครั้งแรกของ กกต. ด้วยกันทั้งนั้น

การบริหารจัดการภายใน กกต. ที่ไม่มีการแบ่งขอบเขตงานรับผิดชอบให้กับ กกต.แต่ละคน การบริหารจัดการเจ้าหน้าที่ กกต.ที่ไม่ถูกฝาถูกตัว เช่น ผู้ตรวจการ กกต. ใช้วิธีจับสลากว่าใครจะรับผิดชอบในเขตพื้นที่ใด ทำให้ประสิทธิภาพการทำงานดับอนาถ

การตอบคำถามของ กกต.กรณีมีผู้สงสัยว่า ตัวเลขผู้มีสิทธิ เลือกตั้ง ที่ประธาน กกต.แถลงในวันที่ 24 มี.ค. จำนวน 51,205,624 คน กับตัวเลขที่แถลงในวันที่ 28 มี.ค.จำนวน 51,239,638 คน

มีการเพิ่มขึ้นอย่างผิดปกติ เกิดจากการคีย์ข้อมูลจาก ระบบแรพพิดรีพอร์ต ที่เป็นข้อมูลยังไม่ครบ 100 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งไม่ตรงกับข้อมูลจากเอกสารการรายงานผลอย่างเป็นทางการ

คำถามก็คือเหตุใดจึงไม่เตรียมพร้อมระบบและตรวจสอบข้อมูลให้ครบถ้วนก่อนทำให้เกิดข้อสงสัยว่าการเลือกตั้งครั้งนี้มีความไม่ชอบมาพากล และเมื่อครบ 100 เปอร์เซ็นต์แล้วข้อมูลจากทั้ง 2 แหล่งข้อมูลตรงกันหรือไม่

หรือยังเขย่งกันอยู่

กรณีการตั้งข้อสังเกตว่า จำนวนบัตรเลือกตั้ง ที่ กกต.แถลงเมื่อวันที่ 28 มี.ค. เพิ่มขึ้นถึง 4.5 ล้านฉบับ เมื่อเทียบกับจำนวนร้อยละ 93 ที่ ประธาน กกต. ได้แถลงเอาไว้เมื่อวันที่ 24 มี.ค. เป็นเพราะเป็นการรายงานผลคะแนนที่ร้อยละ 93 แต่ผลที่ กกต.แถลงเมื่อวันที่ 28 มี.ค.มีการนำผลการลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้า

ที่มีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งราว 2.3 ล้านคน รวมถึงเลือกตั้งนอกราช-อาณาจักร เมื่อรวมกันแล้วทำให้จำนวนบัตรเลือกตั้งเพิ่มขึ้น

...

คำถามตามมาก็คือจำนวนบัตรเลือกตั้งที่ กกต.พิมพ์เอาไว้ทั้งหมดมีจำนวนเท่าไหร่และใช้ไปทั้งหมดกี่ใบ รวมทั้งการนับคะแนนเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรและการเลือกตั้งล่วงหน้าที่จะต้องนำมานับรวมกันที่หน่วยเลือกตั้งจริงได้นำมานับรวมกันหรือไม่ ในเมื่อทราบจำนวนบัตรเลือกตั้งทั้ง 2 ประเภทอยู่แล้วจึงไม่น่าจะใช่เหตุผลที่ทำให้จำนวนบัตรเพิ่มขึ้นหรือลดลงแต่อย่างใด

กรณีที่มีข้อสงสัยว่าทำไม ผู้มาใช้สิทธิ จำนวน 38,268,375 ใบ กับ บัตรที่ใช้เลือกตั้ง 38,368,366 ใบ จึงต่างกันอยู่ 9 ใบ เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องปกติเมื่อจำนวนบัตรเลือกตั้งมากมายขนาดนี้ย่อมมีความผิดพลาดได้ที่จะทำให้ยอดจำนวนบัตรไม่ตรงกัน และไม่ทำให้ผลการเลือกตั้งออกมาคลาดเคลื่อนแต่อย่างใด แต่ก็ไม่ใช่ข้ออ้างที่ กกต.จะอ้าง ยืนยันว่า กกต.ไม่มีการตกแต่งตัวเลข เช่นกัน

เรื่องจำนวนบัตรเลือกตั้งที่ใช้มากกว่าจำนวนรวมของบัตรดี บัตรเสีย บัตรไม่ประสงค์ลงคะแนน ต่างกันอยู่ 2 ใบ อาจเป็นการนับบัตรผิดพลาดจากต้นขั้วก็ไม่ใช่เรื่องแปลกย่อมมีข้อผิดพลาดเกิดขึ้นได้เป็นธรรมดา

ถ้า กกต.ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตจริง.

หมัดเหล็ก
mudlek@thairath.co.th