ฮือฮา!! “พรรคมหาชน” เปิดตัวผู้สมัคร เพศทางเลือก หวังเข้าสภา ผลักดัน พ.ร.บ.คู่ชีวิต พร้อมส่งเสริมธุรกิจออนไลน์ มั่นใจเลือกตั้งครั้งนี้ได้ 6-7 ที่นั่ง
เมื่อวันที่ 4 มี.ค. เวลา 10.00 น. ที่ห้องพาโนรามา โรงแรมดิเอ็มเมอรัล รัชดา นายอภิรัต ศิรินาวิน หัวหน้าพรรคมหาชน แถลงข่าวเปิดตัวผู้สมัคร ส.ส.เพศทางเลือก นโยบายเรื่องสิทธิความเท่าเทียมของเพศทางเลือก
โดยนายอภิรัต กล่าวว่า วันนี้ไม่เป็นการช้าไปที่จะเปิดนโยบายและผู้สมัคร ส.ส. เพราะพรรคมหาชนเป็นพรรคขนาดเล็ก ไม่มีนโยบายครอบคลุมทุกด้านเหมือนพรรคขนาดใหญ่ จึงไม่ต้องใช้เวลายาวนานมากนัก และไม่มีเงินทุนใช้หาเสียงมากนัก การเปิดตัวและการหาเสียงจึงไม่จำเป็นต้องมาพร้อมกับพรรคอื่น หากใช้เวลาเท่ากับพรรคอื่นก็หมายความว่าต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก อีกทั้งนโยบายและแนวทางของพรรคก็เป็นแบบเฉพาะ มีฐานเสียงเป้าหมายแบบเจาะจง หรืออาจเรียกว่า Niche Market โดยนโยบายหาเสียงเลือกตั้งของพรรคมี 2 เรื่องที่จะขับเคลื่อนหากได้รับการเลือกตั้ง คือ นโยบายของกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ จากการสำรวจแล้วผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งที่เป็นกลุ่มเพศหลากหลาย มีประมาณ 6-7 ล้านเสียง ซึ่งเป็นฐานเสียงกลุ่มเป้าหมายของพรรคมหาชน และนโยบายส่งเสริมและผลักดันธุรกิจ SMEs ออนไลน์ เพราะมีผู้ค้าออนไลน์จำนวนมาก
...
อย่างไรก็ตาม พรรคคาดหวังว่าฐานเสียงกลุ่มเพศหลากหลายที่มีประมาณ 6-7 ล้านคน หากลงคะแนนให้พรรคของเรา 10 เปอร์เซ็นต์ หรือประมาณ 5 แสน ถึง 1 ล้านคะแนน ก็ถือว่าประสบความสำเร็จ เพราะเท่ากับว่าจะได้ ส.ส.6-7 ที่นั่ง เพื่อให้บุคคลเหล่านี้มีโอกาสที่เท่าเทียมกัน โดยไม่มีเส้นแบ่งเกี่ยวกับเพศ วิถีทางเพศหรืออัตลักษณ์ทางเพศ ผลักดันให้มีการออกกฎหมายรับรองเพศสภาพและฎหมายรับรองสถานภาพคู่ชีวิตของคนเพศเดียวกัน รับรองการใช้ชีวิตคู่อย่างมีเสถียรภาพระหว่างบุคคลสองคนบนพื้นฐานที่เท่าเทียมกันโดยไม่คำนึงถึงเพศสภาพ วิถีทางเพศ หรืออัตลักษณ์ทางเพศ
ด้านนายจักรกรินทร์ สิงหนุต ผู้สมัคร ส.ส.เขต 4 กทม. พรรคมหาชน กล่าวว่า ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คู่ชีวิต อาจมีเพียงบางส่วนที่กลุ่มเพศหลากหลาย จะได้มีสิทธิเท่าเทียบกับคนอื่น เพราะขณะนี้ถูกกำจัดสิทธิในหลายประเด็น เช่น สิทธิในการยินยอมรักษาพยาบาล อำนาจจัดการศพ การดำเนินคดีอาญาแทนคู่ชีวิต การเรียกร้องสินไหมทดแทนจากการขาดไร้อุปการะ การจัดการทรัพย์สิน การรับมรดก และการประกอบอาชีพ ที่บางครั้งกำหนดคุณสมบัติรับเฉพาะชาย และหญิง ทั้งที่กลุ่มเพศหลากหลายก็ควรจะมีสิทธิ์ในอาชีพนั้นๆ.