ตั้งแต่อำลาตำแหน่งรัฐมนตรีลงมาเป็นแม่ทัพใหญ่แห่งพรรคพลังประชารัฐ สวมเสื้อนักการเมืองเต็มตัวก็ต้องปรับตัวหลายด้าน โดยเฉพาะการรับมือทางการเมือง

ทั้งหมดได้เตรียมตัวเตรียมใจมาก่อนว่าจะต้องเผชิญหน้ากับกิจกรรมใหม่ แตกต่างจากช่วงดำรงตำแหน่งในคณะรัฐมนตรี วันนี้วิถีชีวิตทางการเมืองของ นายอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐเริ่มลงตัว ทั้งการเข้าหาชาวบ้าน ขึ้นเวทีปราศรัย ดีเบตเวทีต่างๆ

เรื่องไหนยังไม่คุ้นชินก็เร่งเรียนรู้และลงมือปฏิบัติทันที ต้องจัดเวลาพักผ่อนให้เพียงพอวันละ 5-6 ชั่วโมง เพื่อให้จิตใจและร่างกายเข้มแข็ง จะได้ไม่กระทบต่องานการเมือง

บางจังหวะก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์โจมตีในทางลบ ใช้วาทกรรมการเมืองเรื่องนั้นเรื่องนี้

จิตก็ตกบ้าง แฮปปี้บ้างเป็นธรรมดา สำหรับผมไม่ได้รับผลกระทบรุนแรง เดี๋ยวมันก็หาย คิดเสียว่าเดี๋ยวก็ต้องมีสิ่งที่ดีกว่าเข้ามา

โดยเฉพาะเมื่อทำงานการเมือง มีวัตถุประสงค์ชัดเจน อาสาทำงานในช่วงประเทศไทยอยู่ในจุดที่เปลี่ยนผ่าน เชื่อมั่นจะใช้ความรู้ความสามารถที่มีทำประโยชน์ให้ชาวบ้านได้

ตั้งแต่รับตำแหน่งหัวหน้าพรรคใหญ่ วาทกรรมการเมืองใดที่สร้างความอึดอัดที่จะชี้แจงต่อสาธารณะบ้าง นายอุตตม บอกว่า ไม่มีวาทกรรมใดๆที่ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดปล่อยออกมาแล้วสร้างความอึดอัด

แม้มีหลายฝ่ายออกมารุมเร้า กดดัน ก็ต้องถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของการเมือง พรรคพลังประชารัฐชี้แจงด้วยเหตุและผลได้ทุกเรื่อง

ตั้งแต่ตั้งพรรคการเมืองถูกคู่แข่งสร้างวาทกรรมให้เลือกระหว่าง “ฝ่ายประชาธิปไตยกับฝ่ายสืบทอดอำนาจ” เรื่องนี้ชี้แจงอย่างไรให้ประชาชนเข้าใจ นายอุตตม บอกว่า วาทกรรมนี้ก็ชี้แจงด้วยเหตุและผลมาโดยตลอด

ขอให้ย้อนไปดูสถานการณ์บ้านเมือง 10 กว่าปีที่ผ่านมา ขัดแย้งอย่างหนักจนถึงขั้นวิกฤติความรุนแรง ประเทศหยุดการพัฒนา กระทบต่อเศรษฐกิจ

...

หนักถึงขนาดบอกว่าเป็นประชาธิปไตยเลยต้องลงมาเคลื่อนไหวบนท้องถนน เสียเลือดเสียเนื้อคนไทยด้วยกันเอง อย่างนั้นคงไม่ใช่ประชาธิปไตยเพื่อคนไทย ถ้าใครจะมาเคลมว่าเป็นประชาธิปไตยก็ต้องถามกลับว่า นั่นเป็นประชาธิปไตยเพื่อกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งหรือไม่

แม้กระทั่งเมื่อเดินเข้าสภาผู้แทนราษฎรแล้วก็บอกว่าเป็นประชาธิปไตย ถ้าพฤติกรรมการทำหน้าที่ในสภาฯมันไม่ใช่อย่างนั้น ผมก็มองว่ามันไม่ใช่ประชาธิปไตยอย่างแท้จริง

แบบนี้คนไทยไม่ต้องการ จน คสช.จำเป็นต้องเข้ามารักษาความสงบให้เกิดขึ้นในประเทศ

สุดท้ายใครจะชี้ว่าฝ่ายนี้เป็นประชาธิปไตย ฝ่ายนั้นไม่ใช่ประชาธิปไตย พรรคพลังประชารัฐไม่ใช่ฝ่ายประชาธิปไตย

ขอเรียนพี่น้องประชาชนทบทวนดูว่า พรรคพลังประชารัฐเพิ่งเกิดมา 4 เดือน ภายใต้เกณฑ์กติกาและรัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูปประเทศเหมือนกับทุกพรรคการเมือง

จุดเริ่มต้นเดินเข้าสู่ประชาธิปไตยของประเทศไทย เริ่มจากการเลือกตั้งใหญ่ครั้งนี้

ถ้าทุกคนบอกว่าอันนี้เป็นการเริ่มต้นประชาธิปไตยและเดินภายใต้กรอบกติกาเดียวกัน ไม่มีการแบ่งแยก อย่าไปตีกันว่าฝ่ายนี้เป็นประชาธิปไตย ฝ่ายนั้นไม่ใช่ประชาธิปไตย

เมื่อทุกฝ่ายเริ่มต้นพร้อมกันก็เป็นโอกาสที่ฝ่ายการเมือง พรรคการเมืองต่างๆจะช่วยนำประชาธิปไตยที่เป็นของปวงชนชาวไทยมอบให้คนไทยผ่านการเลือกตั้ง

แต่พรรคพลังประชารัฐส่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. อยู่ในบัญชีรายชื่อนายกรัฐมนตรีของพรรค ยิ่งถูกมองว่าเป็นพรรคสืบทอดอำนาจ คสช. นายอุตตม บอกว่า ขอย้อนกลับไปช่วงที่ประเทศไทยถึงทางตัน มีความขัดแย้งรุนแรง สภาผู้แทนราษฎรทำหน้าที่ไม่ได้ ฝ่ายการเมืองแก้ไขปัญหาไม่ได้

แก้ไขปัญหาโดยแนวทางประชาธิปไตยเพื่อประชาชน ขอเน้นคำว่าประชาธิปไตยของประชาชนและเพื่อประชาชน ในความเห็นของผมมันไม่ใช่ถ้าจะต้องออกมาตีกันบนท้องถนน เสียเลือดเสียเนื้อคนไทยด้วยกันเอง

เหตุวันนั้นนำมาถึงวันนี้เกิดรัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ อย่างน้อยก็ประคับประคองบ้านเมืองกลับสู่ความสงบสุขอีกครั้ง แต่เหตุการณ์ก็ยังไม่ปกติ บ้านเมืองต้องการเวลาสักนิดหนึ่ง เพื่อเดินไปสู่ประชาธิปไตยครั้งใหม่ เป็นประชาธิปไตยของประชาชน

ขณะที่พรรคพลังประชารัฐเกิดขึ้นจากผู้ร่วมอุดมการณ์เดียวกัน เพื่อต้องการเห็นประเทศก้าวข้ามความขัดแย้งและพัฒนาประเทศให้ก้าวทันโลก วันนี้โลกเปลี่ยนแปลงรวดเร็วมาก

ทั้งด้านเทคโนโลยี นวัตกรรม เศรษฐกิจ ปัญหาเศรษฐกิจและสังคมที่สั่งสมมา ความเหลื่อมล้ำ เรามีนโยบายและมาตรการที่ทำได้ทันที แก้ไขได้ เรามีแนวทางที่ทำได้ พรรคพลังประชารัฐก็เกิดขึ้น

มีคำถามว่าพรรคสืบทอดอำนาจ ยิ่งวันนี้เราเสนอ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นผู้มีความเหมาะสมนั่งนายกรัฐมนตรี ยิ่งถูกมองว่าสืบทอดอำนาจแน่นอน ความจริงพรรคนี้เกิดขึ้นโดยตัวเอง ขอให้ดูไส้ในพรรคมีสีเขียวหรือไม่ ทั้งคณะกรรมการบริหารพรรค ผู้สมัคร ส.ส.พรรค มันไม่มีกลิ่นอายสีเขียว และไม่ยึดโยง คสช.หรือรัฐบาล

ขอย้ำว่าเรามาตามกฎเกณฑ์และระบบเหมือนทุกพรรคการเมือง

รัฐธรรมนูญเปิดให้คนไทยทุกคนสามารถอาสาทำงานให้ประเทศชาติได้

เราเห็นว่าถ้าประเทศจะเดินต่อในช่วงเปลี่ยนผ่านสำคัญนี้ แล้วก้าวไปข้างหน้าอย่างมั่นคงได้ทันโลก บนพื้นฐานความสงบสุข บ้านเมืองต้องนิ่งถึงทำในสิ่งเหล่านี้ได้ เราไม่ต้องการเห็นบ้านเมืองกลับไปสู่สิ่งเดิมๆ

ก็ดูว่าใครเหมาะสมที่สุดในสถานการณ์เช่นนี้ จึงเห็นพ้องต้องกันว่า ต้องหาผู้ที่มีบุคลิกตัวตนที่เป็นผู้นำ กล้าหาญในการตัดสินใจ มีผลงานมาโดยตลอด ทั้งในฐานะเป็นนายกรัฐมนตรี หรือรับราชการทหาร

“คนคนนั้นก็คือ พล.อ.ประยุทธ์ จะนำพาประเทศหลังการเลือกตั้ง

เชื่อว่าเมื่อมีเลือกตั้ง หากพรรคพลังประชารัฐมีโอกาสได้ฟอร์มรัฐบาล

พล.อ.ประยุทธ์มีโอกาสได้เป็นนายกรัฐมนตรี

เชื่อมั่นว่าจะบริหารงานบรรลุเป้าหมาย ภายใต้กฎเกณฑ์ใหม่

รัฐบาลชุดใหม่ไม่ใช่รัฐบาลชุดนี้แน่นอน ไม่ใช่การสืบทอดอำนาจ

เป็นหนังคนละม้วนเลย มันอยู่ในสายตาของประชาชน

ลองคิดอีกมุมถ้าคิดจะสืบทอดอำนาจก็ไม่จำเป็นต้องเลือกตั้งในเวลาเช่นนี้”

ทีมข่าวการเมือง ถามว่า ผลสำรวจของโพลหลายสำนักชี้ พล.อ.ประยุทธ์ยังเป็นเต็งหนึ่งที่เหมาะเป็นนายกฯ แต่ทำไมคะแนนพรรคพลังประชารัฐยังไม่เพียงพอที่จะฟอร์มรัฐบาลได้ ในเวลาที่เหลือก่อนเลือกตั้งจะต้องปรับยุทธศาสตร์อย่างไร เพื่อให้เป็นแกนนำฟอร์มรัฐบาลได้ นายอุตตม บอกว่า เราทำงานเข้มข้นมาตลอดในทุกพื้นที่

ช่วงโค้งสุดท้ายก็ต้องเข้มข้นขึ้นอีก โดยเดินหน้าให้เห็นภาพนโยบาย บุคลากรและ พล.อ.ประยุทธ์ ผู้นำประเทศคนต่อไปที่เหมาะสม ทั้งสามองค์ประกอบต้องเชื่อมโยงให้เห็นว่าเราไม่เป็นรองพรรคไหนในภาพรวม

และจะเตรียมจัดคาราวานทัพใหญ่เดินสายไปทั้งประเทศ เวทีสุดท้ายก่อนเลือกตั้งอยู่ที่กรุงเทพฯ

ทั้งหมดจะนำไปสู่บทใหม่ของประชาธิปไตยเพื่อคนไทย ยิ่งถ้าคนไทยบอกของเดิมๆควรเปลี่ยน ไม่ได้ว่าการเมืองเดิมไม่ดี แต่ก็ถึงเวลาปรับเปลี่ยนรูปแบบและแนวคิดบางอย่าง ขอให้ติดตามรอดูต่อไป

ทีมข่าวการเมือง ถามว่า ถึงวันนี้ขั้วการเมืองเริ่มชัดเจน เริ่มมองหาพันธมิตรเตรียมฟอร์มตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้งอย่างไรแล้วบ้าง

นายอุตตม บอกว่า พันธมิตรทางการเมืองที่แนบแน่น จะแน่นแค่ไหน

ก็ต้องดูผลการเลือกตั้งออกมาว่าแต่ละพรรคได้ตัวเลขเท่าไหร่

ตอนนี้เป็นธรรมดาแต่ละพรรค แต่ละกลุ่มก็พูดคุยกัน สุดท้ายเชื่อเถอะรอดูตัวเลขของแต่ละพรรค

เป็นเรื่องยากมาก แต่มีความเป็นไปได้แค่ไหนพรรคพลังประชารัฐจับมือพรรคเพื่อไทยจัดตั้งรัฐบาล เพื่อความมั่นคงทางการเมือง นายอุตตม บอกว่า...

...ต้องดูตัวเลขของแต่ละพรรค ต่อมาก็ดูประเทศจะเดินหน้าไปได้หลังเลือกตั้ง รัฐบาลต้องมีเสถียรภาพ

หมายถึงการทำงานภายใต้อุดมการณ์และทิศทางเดียวกันได้หรือไม่ ถ้าไม่ได้เราก็ไม่เอา

อย่าลืมเมื่อเสียงแต่ละพรรคปรากฏออกมา การฟอร์มรัฐบาลอาจจะมีหลายพรรค

โอกาสการจับมือตั้งรัฐบาลก็มีได้มากกว่าหนึ่งรูปแบบ.

ทีมการเมือง