"สุวิทย์" รองหัวหน้าพลังประชารัฐ ผุดไอเดีย คลองสู่คลอง กทม. พัฒนาตลาดน้ำพหุวัฒนธรรมและที่พัก Long Stay ในเขตสวนหลวงและเขตประเวศ เล็งดัน ตลาดน้ำวัดมหาบุศย์ แม่นาคพระโขนง ให้เปรี้ยง...

เมื่อวันที่ 2 มี.ค.2562 นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ พร้อมด้วยกรรมการบริหารพรรค ดร.สันติ กีระนันทน์ นายองอาจ ปัญญาชาติรักษ์ และผู้สมัคร ส.ส. กทม เขตสวนหลวงประเวศ คุณธันวา ไกรฤกษ์ เบอร์ 6 ลงพื้นที่คลองพระโขนงเชื่อมคลองประเวศบุรีรัมย์

นายสุวิทย์ กล่าวว่า หลังจากที่พรรคพลังประชารัฐได้มีการเปิดตัวแคมเปญ "Bangkok OK" ไปเมื่อวันก่อน มีนโยบายหนึ่งที่น่าสนใจมากๆ ก็คือ "กรุงเทพน่าเที่ยว" วันนี้เราจะแสดงให้เห็นว่าพรรคพลังประชารัฐนั้นพูดจริง ทำจริง และทำเร็ว นอกจากจะมาพบปะพี่น้องประชาชนแล้ว เราจะมาสำรวจพื้นที่ทำโครงการแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชนด้วย ในเขตสวนหลวงและเขตประเวศ มีคลองศักยภาพที่เชื่อมถึงกัน ซึ่งสามารถพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวชั้นนำได้ คือ คลองพระโขนงและคลองประเวศบุรีรมย์ และยังไม่ได้ใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ เมื่อเทียบกับตลาดน้ำบางน้ำผึ้งที่ไม่มีคลองใหญ่เลยด้วยซ้ำ แต่สามารถทำตลาดน้ำที่มีชื่อเสียงระดับประเทศได้

รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ กล่าวต่อว่า ดังนั้น "ตลาดน้ำวัดมหาบุศย์ แม่นาคพระโขนง" ก็สามารถทำได้เช่นกัน ด้วยการอาศัยจุดแข็งที่วัดมหาบุศย์เป็นวัดดังและมีผู้มาเยี่ยมเยือนมากมายอยู่แล้วในวันเสาร์-อาทิตย์ ทั้งโครงสร้างพื้นฐานทุกอย่างครบหมด เราเพียงเติม สร้างบรรยากาศ ให้นักท่องเที่ยวที่มาได้สัมผัสถึงบรรยากาศ อารมณ์ ความรู้สึกแบบตลาดน้ำไทยๆ เท่านั้น นอกจากนี้ต้องมีการเชื่อมโยงกับตลาดน้ำอีกแห่งหนึ่งซึ่งน่าทำมากๆ คือ "ตลาดน้ำวัดกระทุ่มเสือปลา" ในเขตประเวศ ตั้งอยู่ติดริมน้ำคลองประเวศบุรีรมณ์ รวมถึงคลองนี้เป็นคลองพหุวัฒนธรรม มีทั้งวัด, มัสยิด และศาลเจ้าที่สวยและมีเรื่องราวที่น่าสนใจอย่างมากมาย

...

นายสุวิทย์ กล่าวอีกว่า ทั้งสองตลาดน้ำนี้นั่งเรือเชื่อมถึงกันได้ เป็นจุดขายสำคัญที่จะดึงดูดนักท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดีเหมือนล่องคลองตลาดน้ำอัมพวา เพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุด ตลาดน้ำทั้งสองแห่งควรให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการค้าขาย ซึ่งในเขตสวนหลวงและเขตประเวศมีชุมชนรวมกันกว่า 100 แห่ง ทุกชุมชนจะได้สิทธิ์ในการเปิดร้านค้า 1-2 ร้าน และสองฝั่งคลองสามารถพัฒนาเป็นห้องพัก LongStay ให้นักท่องเที่ยวเข้าพักได้อีกด้วย เป็นการเปิดโอกาสให้ชุมชนมีพื้นที่ขายสินค้าโอทอป หรือ สินค้าอื่นๆ ตามความถนัด รวมถึงพวกขนมหวานและอาหารไทยโบราณ ที่เป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยว โดยงบประมาณดำเนินการไม่มาก บางส่วนเป็นเรื่องการสร้างการมีส่วนร่วมจากเอกชนที่อยากมาค้าขาย บางส่วนมาจากชุมชนเอง

หัวใจสำคัญของโครงการจากคลองสู่คลอง กทม.เป็นการช่วยเพิ่มรายได้ให้กับชุมชน กระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่ และส่งเสริมการท่องเที่ยวในกทม. ซึ่งหากรัฐวิสาหกิจหรือบริษัทเอกชนรายใหญ่ต่างๆ อยากทำ CSR ก็สามารถเข้ามาสนับสนุนได้ ถือเป็นอีกช่องทางหนึ่ง ได้เห็นนักท่องเที่ยว นั่งเรือทัวร์ชมคลองนี้แล้วนึกเสียดาย ที่คนไทยเองกับไม่ได้ชื่นชมกับบรรยากาศริมสองฝั่งคลองเลย ในอนาคตเรามองไปถึงแนวทางการพัฒนาริมฝั่งคลองทั้งหมด เริ่มตั้งแต่ตรงวัดมหาบุศย์ ผ่านสนามบินสุวรรณภูมิ ยาวไปจนถึงฉะเชิงเทรา ทุกสายน้ำเชื่อมโยงกันได้ หากเปิดประตูระบายน้ำบ้าง จะสามารถพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวได้อีกหลายจุด และรองรับการจัดการน้ำเมื่อน้ำมาก น้ำล้น ป้องกันน้ำท่วมให้กับ กทม.ชั้นในได้อีกด้วย.