ส.ว.แต่งตั้ง 250 คน เป็นประเด็นการเมืองที่ถกเถียงกันต่อไป ก่อนหน้านี้ มีเสียงวิจารณ์เรื่องที่มาและอำนาจของ ส.ว. มีความเหมาะสมและถูกต้องหรือไม่ วันนี้วิจารณ์ว่าคณะกรรมการสรรหา ส.ว. ซึ่งมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน มี “ความเป็นกลางทางการเมือง” ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญหรือไม่ รวมทั้งกรรมการคนอื่นๆ
รัฐธรรมนูญเขียนไว้ว่าให้มีคณะกรรมการสรรหา ส.ว. คณะหนึ่ง ซึ่ง คสช. แต่งตั้งจากผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งมีความรู้และประสบการณ์ในด้านต่างๆ และ “มีความเป็นกลางทางการเมือง” จำนวน 9 ถึง 12 คน มีหน้าที่สรรหาบุคคลที่สมควรเป็น ส.ว. 400 คน เพื่อเสนอให้ คสช.เลือกเหลือ 194 คน ขณะนี้ทราบชื่อประธานคณะกรรมการสรรหาเพียงคนเดียว ส่วนคนอื่นๆ ไม่ทราบว่าเป็นใคร
เมื่อนักข่าวถามรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย จะรู้ได้อย่างไรว่าคณะกรรมการสรรหาเป็นกลางทางการเมืองจริงหรือไม่ ได้รับคำตอบว่า “ไม่รู้” แต่ดูแค่ประธานคนเดียวก็รู้ว่าเป็นกลางทางการเมืองหรือไม่ เพราะ พล.อ.ประวิตรเป็นผู้ใต้บังคับบัญชา ของนายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. และร่วมงานการเมืองกันมาอย่างน้อยเกือบ 5 ปี คนทั่วไปรู้ว่า พล.อ.ประวิตรเป็นกลางหรือไม่
ส่วนกรรมการคนอื่นๆ ส่วนใหญ่ก็น่าจะอยู่ในแวดวงของ คสช. น่าแปลกใจที่รัฐธรรมนูญปัจจุบัน ไม่ได้กำหนดคุณสมบัติ เรื่องความเป็นกลางทางการเมือง แม้แต่องค์กรอิสระต่างๆไม่ว่าจะเป็น กกต. หรือ ป.ป.ช. แต่กลับพุ่งไปที่คณะกรรมการสรรหา ส.ว. ว่าต้องเป็นกลางทางการเมือง น่าสงสัยว่ารัฐธรรมนูญมีเจตนาอย่างไร ต้องการ ส.ว.ที่เป็นกลางด้วยหรือไม่
โดยปกติ ส.ว.ที่มาจากการแต่งตั้ง จะไม่ถูกกำหนดให้มีความรู้ความเชี่ยวชาญในกิจการต่างๆ และมีความเป็นกลางทางการเมือง ให้เป็นการตัดสินใจของประชาชนผู้เลือกตั้ง แต่ ส.ว.แต่งตั้งมักจะระบุว่า ต้องเลือกและแต่งตั้งจากผู้ทรงคุณวุฒิ มีความรู้ความเชี่ยวชาญในด้านต่างๆ อันจะยังประโยชน์ให้เกิดแก่แผ่นดิน ส.ว.แต่งตั้งตามรัฐธรรมนูญปัจจุบันก็น่าจะคุณลักษณะแบบนี้
...
ส.ว.แต่งตั้ง 250 คน ตามบท เฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ 2560 มีที่มาจาก 3 ทาง ทางที่ 1 เป็น ส.ว.โดยตำแหน่ง 6 คน ได้แก่บรรดาผู้นำกองทัพ ทางที่ 2 จำนวน 50 คน มาจากการเลือกกันเองของกลุ่มอาชีพต่างๆทั่วประเทศ 200 คน ให้ คสช.เลือก 50 คน ส.ว.ส่วนใหญ่ 194 คน มาจากคณะกรรมการสรรหา ส.ว.ทั้งหมดมาจากการแต่งตั้งของ คสช.
ฉะนั้น เสียงเรียกร้องของพรรค การเมืองทั้งหลาย ให้ ส.ว.ทำหน้าที่เป็นผู้แทนปวงชน ต้องคำนึงถึงเสียงประชาชน ในการเลือกนายกรัฐมนตรี เป็นเสียงเรียกร้องที่เป็นไปได้ยาก ไม่ว่า ส.ว.จะผ่านการสรรหา จากคณะกรรมการที่มีความเป็นกลางทางการเมืองหรือไม่ เรื่องราวลักษณะนี้พิสูจน์ได้จากประวัติศาสตร์การเมืองไทยยุคหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองกว่า 86 ปี.