อย่างช้าอย่างเร็ว...ส่งผลต่างกัน

แม้ตัวแทนพรรคไทยรักษาชาติพยายามที่จะเคลื่อนไหวด้วยการยื่นเอกสารขอชี้แจงข้อเท็จจริงต่อ กกต. แต่ไม่ทันกาลเสียแล้ว เพราะ กกต.ได้ตัดสินชี้ขาดไปแล้ว

คือ ได้ยื่นคำร้องถึงศาลรัฐธรรมนูญเพื่อขอให้วินิจฉัย “ยุบพรรค” ไทยรักษาชาติได้ยื่นรายชื่อบุคคลเพื่อเสนอแต่งตั้งเป็นนายกฯ 1 รายชื่อ

แต่เห็นว่าการดำเนินการดังกล่าวเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

จึงมีมติให้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัยมีคำสั่งให้ยุบพรรคไทยรักษาชาติตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 ม.92

พูดง่ายๆว่าผ่านขั้นจาก กกต.ไปถึงศาลรัฐธรรมนูญแล้ว

จากนี้ศาลรัฐธรรมนูญจะรับพิจารณาหรือไม่ หากไม่รับก็จบกันไป ตรงกันข้ามหากรับเรื่องวินิจฉัยก็แล้วแต่ว่าจะดำเนินการอย่างไรตามกระบวนการ

จะช้าจะเร็วอย่างไรก็อยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญจะตัดสินใจอย่างไร?

แต่ช้า-เร็วนี้ล้วนมีเหตุมีผลที่จะต้องพิจารณาเพราะเป็นเรื่องใหญ่และมีความสำคัญทางการเมืองซึ่งจะมีการเลือกตั้งในวันที่ 24 มี.ค.62

หากมีการพิจารณาในช่วงก่อนวันเลือกตั้งนั่นก็หมายความว่าเป็นเรื่องเร่งด่วนที่จะต้องดำเนินในระยะเวลาไม่นานนัก

ทว่าช่วงก่อนวันเลือกตั้งนั้นก็มีอยู่ 2 ประเด็น

1.ห้ามพรรคไทยรักษาชาติเคลื่อนไหวให้รอผลการวินิจฉัย

2.ถ้าผลการวินิจฉัยออกมาให้ “ยุบพรรค” ก็เป็นอันว่าต้องลบชื่อทิ้งออกไปจากระบบทะเบียนรับรองของ กกต.จะออกมา 2 ลักษณะ

หากศาลวินิจฉัยก่อนวันเลือกตั้งผู้สมัครของพรรคไทยรักษาชาติจะไม่สามารถลงสมัครเลือกตั้งได้ทันทีถ้ามีคำสั่งยุบพรรค

อีกลักษณะ หาก กกต.ยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญรับพิจารณาและรับคดีเพื่อวินิจฉัย หากมีคำสั่งให้ยุบพรรค แต่เป็นช่วงหลังเลือกตั้งไปแล้ว ผู้สมัคร ส.ส.ของพรรคไทยรักษาชาติที่ชนะการเลือกตั้งได้เป็น ส.ส.

...

จะมีเวลา 90 วันในการหาพรรคการเมืองสังกัดใหม่

นี่ก็ขึ้นอยู่กับว่าศาลรัฐธรรมนูญจะพิจารณาวินิจฉัยในลักษณะไหน เพราะหากดำเนินการอย่างรวดเร็วก็น่าจะทันเวลาก่อนการเลือกตั้ง

อีกไม่นานก็คงจะรู้กันว่าจะออกมาในลักษณะไหน เมื่อใด และผู้สมัครพรรคไทยรักษาชาติจะต้องเจอมาตรการอย่างไร เพราะคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญถือว่าเป็นอันสิ้นสุด

อีกทั้งบรรดากรรมการบริหารพรรคจะต้องถึงขั้นถูกดำเนินคดีอาญาหรือไม่ เพราะมีกฎหมายกำหนดเอาไว้แล้ว

คนอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับพรรคก็ต้องถูกเว้นวรรคทางการเมืองถึง 10 ปี

เมื่อศาลรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นสถาบันยุติธรรมว่าด้วยการตีความกฎหมายและคำร้องต่างๆ ซึ่งถือว่ามีอำนาจสูงสุดเพื่อตัดสินให้เกิดความยุติธรรม

ผลจะออกมาอย่างไรทุกคนทุกฝ่ายจะต้องให้การยอมรับ

เพราะเป็นกลไกสำคัญที่จะตัดสินใจชี้ขาดในการวินิจฉัยข้อกฎหมายเพื่อให้เกิดความยุติธรรมในสังคม

เมื่อจะต้องยอมรับกันแล้ว การเคลื่อนไหวทางการเมืองต่างๆจึงต้องดำเนินการให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ไม่ใช่ปล่อยข่าวลือเรื่องปฏิวัติ การปลอมแปลงเอกสารปลดผู้นำเหล่าทัพ

ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อบรรยากาศการเลือกตั้งที่ทุกฝ่ายต้องการ.

“สายล่อฟ้า”