"เลือกตั้ง"ไทยรัฐ 62 เวทีเดีเบต หัวหน้า-แกนนำแต่ละพรรค ประกาศยึดมั่นอุดมการณ์ตัวเอง ปชป.หวังเป็นแกนนำจะจัดตั้งรัฐบาล ด้านอนาคตใหม่ ย้ำ หยุดสืบทอดอำนาจคสช. สุวัจน์ คงสไตล์โนพรอบเบม ร่วมรัฐบาลกับพรรคไหนก็ได้ หากมีแนวทางสอดคล้องกัน
วันที่ 11 ก.พ. ณ ที่ทำการหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ไทยรัฐเลือกตั้ง 62 เวที"ดีเบต" เปิดวิสัยทัศน์พรรคการเมือง กับ 5 ผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรี และอีก 2 แกนนำพรรค ทางไทยรัฐทีวีช่อง 32 ผู้ร่วมเวที ประกอบด้วย 1. คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ผู้ถูกเสนอชื่อในบัญชีนายกฯ ของพรรคเพื่อไทย (พท.) 2. นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าและผู้ถูกเสนอชื่อในบัญชีนายกฯ ของ พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) 3. นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าและผู้ถูกเสนอชื่อในบัญชีนายกฯ พรรคอนาคตใหม่ 4. นายอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) 5. นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ ผู้ถูกเสนอชื่อในบัญชีนายกฯ ของพรรคชาติพัฒนา 6. นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ กรรมการบริหารพรรครวมพลังประชาชาติไทย และ 7. นายไพบูลย์ นิติตะวัน หัวหน้าพรรคประชาชนปฏิรูป

...
โดย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้า ปชป. กล่าวว่า พรรคอยู่กับประชาชนมา 70 ปี ตั้งใจเป็นแกนนำรัฐบาล แต่ต้องทำสิ่งที่เราประกาศกับประชาชนได้ ถ้าเลือกตั้งได้ส.ส.มามากเราก็ตั้งรัฐบาลได้ ถ้าเลือกเข้ามาน้อย ก็ไม่เป็นไร เราก็ไปดูว่า พรรคไหนมีนโยบายเข้ากับเราได้ ส่วนเรื่องรัฐธรรมนูญยืนยันต้องแก้ไข แต่ก็ไม่ใช่รื้อทั้งฉบับ สำหรับพรรคประชาธิปัตย์

นายอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ กล่าวว่า วันนี้ประเทศไทยอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านสำคัญ แม้พรรคเราเพิ่งตั้งขึ้นมาแค่ 3 เดือน เราก็มั่นใจหวังเป็นแกนนำตั้งรัฐบาล คนที่พรรคเสนอคือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พรรคเรียนเชิญแล้ว ท่านเหมาะสม ผมไม่ต้องพูดมาก พรรคพิจารณามองไปข้างหน้า ยัน พล.อ.ประยุทธ์ มีความเหมาะสม ถ้าได้รับการไว้วางใจจริง ก็ได้ตามรัฐธรรมนูญ ตามช่องทาง

นายเอนก เหลาธรรมทัศน์ แกนนำพรรครวมพลังประชาชาติไทย กล่าวต่อว่า สถานการณ์มันเปลี่ยนไปมาก อย่างเหตุการณ์เกิดภายในวัน สองวันนี้ เราพร้อมร่วมรัฐบาลกับหลายพรรค แต่จุดยืนของพรรคเรา ไม่ร่วมพรรคไม่ปฏิรูป หรือเป็นปฏิปักษ์กับรธน.แค่ตอนนี้ แบ่งเป็นขั้วเป็นฝ่าย ก็จะฆ่ากันแล้ว ดังนั้นขอให้เปิดใจให้กว้าง

นางสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์เลือกตั้งพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า จะร่วมรัฐบาลกับใคร คำตอบคือ พรรคไม่ใช่เป็นผู้เลือก ประชาชนเป็นผู้เลือก มี 2 ทางเลือกที่ประชาชนที่ต้องตัดสินใจ คือ 4-5 ปีที่ผ่านมา ประชาชน จะอยู่แบบ 4-5 ปีแบบเดิม หรือทางเลือกที่ดีกว่า “ประชาชนต้องตัดสินใจว่าอนาคต 4 ปี ข้างหน้าจะอยู่อย่าง 4-5 ปีที่ผ่านมา หรือจะไม่เอา” ทั้งนี้ส่วนตัวเห็นว่า กลไก 250 ส.ว. เป็นโรดแม็ปคืนสู่อำนาจของ คสช. ไม่ใช่โรดแม็ปประชาธิปไตย 250 ส.ว.จึงต้อง ดูมติของประชาชนด้วย

นายสุวัจน์ ลิปตพัลลพ หัวหน้าพรรคชาติพัฒนา กล่าวว่า เรื่องความขัดแย้ง 10 กว่าปีมาแล้ว เป็นพรรรคที่เดินสายกลาง ไม่แบ่งฝั่งแบ่งฝ่าย ดูอย่างบทเรียนที่ผ่านมา เราไม่มีเงื่อนไขอะไร โน พรอบเบม ตอนที่เราไปหาเสียง พี่น้องฝากเรื่องเศรษฐกิจ ฝากเรื่องความขัดแย้ง การตัดสินใจเราไม่อยู่กับฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด อยู่กับใครก็ได้ เราเป็นกลาง อยู่ที่ประชาชนตัดสินใจอย่างไร เราก็จะอยู่และตัดสินใจกับฝ่ายนั้น เราต้องมั่นใจโดยเฉพาะเรื่องเศรษฐกิจ หรือความขัดแย้ง

นายไพบูลย์ นิติตะวัน หัวหน้าพรรคประชาชนปฏิรูป กล่าวว่า เรื่องไปร่วมรัฐบาลเป็นเรื่องรอง ส่วนเป็นรัฐบาลหรือไม่เป็นรัฐบาล ถือเป็นเรื่องเล็กมาก เราเป็นพรรคประชาชนปฏิรูป เราก็จะสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ เราก็ร่วมไป ถ้าเป็น พล.อ.ประยุทธ์ เราก็สนับสนุน เป็นนายกฯ แต่ไม่จำเป็นต้องอยู่กับพรรคพลังประชารัฐ

นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ยืนยัน ต้องจัดการอำนาจรัฐประหารให้ได้เพราะตอนนี้สังคมไทยเดินไปไม่ได้ ดังนั้นพรรคต้องมีอุดมการณ์ก่อน ถ้าไม่มีอุดมการณ์ก็ไม่ได้ ต้องหยุดยั้งการสืบทอดอำนาจ คสช.ให้ได้ ล้มล้างผลพวงรัฐประหาร จัดการอำนาจที่ไม่ได้มาจากเลือกตั้งจัดการกับรัฐประหาร ดังนั้นถ้าพรรคไหนประกาศหยุดยั้งอำนาจ คสช. ล้มล้างรัฐประหาร ผมเข้าร่วมเลย ขอร้องประยุทธ์ ลาออกจากตำแหน่งนายกฯ และ หัวหน้าคสช.