เจ้าตัวออกมายอมรับเองกับปากเสมอๆ กับเรื่องที่ว่า มีคนรักย่อมมีคนเกลียด และถึงแม้ฝ่ายที่เกลียดจะประโคมข้อมูล งัดหลักฐานพร้อมอ้างอิงว่าจำนวนประชากรที่เกลียด มันมากมายมหาศาลขนาดไหน แต่ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ก็มิได้แสดงท่าทีคัดค้าน แต่ตอกกลับด้วยคำพูดที่มีข้อมูลยืนยันด้วยสายตาชัดๆ ว่า "คนที่เขารักผมก็มากมายมหาศาลเหมือนกัน" ....(ซึ่งมันก็เป็นเรื่องจริงที่ปฏิเสธไม่ได้) 

ในฐานะที่ นายทักษิณ ชินวัตร กลายเป็นอดีตนายกรัฐมนตรีของไทย ที่สร้างปรากฏการณ์มากมายให้กับคนไทยทั้งประเทศ รวมไปถึงมีอิทธิพลกับผู้นำหลายๆ ประเทศทั่วโลก เนื่องจากความสามารถส่วนตัวในการสานสัมพันธ์จนได้รับความไว้วางใจ สนิทชิดเชื้อ แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่า ประชาชนคนไทยบางกลุ่มจะเกลียดเขาลดน้อยลง ทีมข่าวเจาะประเด็น ไทยรัฐออนไลน์ นำข้อมูลฝ่ายตรงข้ามที่ออกมาคัดค้านทักษิณบริหารประเทศ เริ่มเป็นรูปเป็นร่างตั้งแต่เมื่อไหร่ มีกลุ่มไหนและใครบ้าง

เพราะนับตั้งแต่ "นายทักษิณ ชินวัตร" มีการจัดตั้งรัฐบาลสมัยที่ 2 เป็นต้นมา ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากฝ่ายผู้ไม่เห็นด้วย และนิยมพรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมืองฝ่ายตรงข้าม รวมไปถึงนักวิชาการที่มีแนวคิดแตกต่างกับรัฐบาล โดยทักษิณก็ตอบโต้ด้วยการตั้งฉายาให้กลุ่มนักวิชาการ และผู้ที่วิจารณ์อยู่เป็นประจำสม่ำเสมอ เช่น กลุ่มรู้ทันทักษิณ หรือ ธีรยุทธ บุญมี ว่าเป็น “ขาประจำ”

...

ฟ้อง นายสนธิ ลิ้มทองกุล เรียกค่าเสียหาย 1,000 ล้านบาท

ต่อมา ปลายปี พ.ศ.2548 ทักษิณมอบหมายให้ นายธนา เบญจาทิกุล ทนายความส่วนตัว ยื่นฟ้อง นายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ ต่อศาลแพ่ง เรียกค่าเสียหาย 1,000 ล้านบาท รวมถึงในขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่ตำรวจในทุกสถานีตำรวจทั่วประเทศ ก็ยื่นฟ้องนายสนธิ ในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพด้วย แต่หลังจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 มีพระราชดำรัสเนื่องในวโรกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ.2548 นายทักษิณ จึงมอบหมายให้ นายธนา ดำเนินการถอนฟ้อง เพื่อรับสนองกระแสพระราชดำรัส พร้อมกันนี้ศาลก็ได้ยกคำร้องของตำรวจไปทั้งหมด

เดินเท้ารวมตัวหน้าทำเนียบรัฐบาล กดดันให้ลาออก   

ค่ำวันที่ 13 มกราคม พ.ศ.2549 พลตำรวจเอกประทิน สันติประภพ, คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์, นายกล้านรงค์ จันทิก อดีตเลขาธิการ ป.ป.ช., นายสนธิ ลิ้มทองกุล และพวก นำประชาชนที่มาร่วมชมรายการเมืองไทยรายสัปดาห์สัญจรที่สวนลุมพินี กว่า 3,000 คน เดินเท้ามายังหน้าทำเนียบรัฐบาล เพื่อกดดันให้นายทักษิณลาออกจากตำแหน่ง อีกทั้งมีบางส่วนที่บุกรุกเข้าไปทำลายทรัพย์สินของทางราชการเสียหาย และเนื่องจากรุ่งขึ้นเป็นวันเด็กแห่งชาติ ซึ่งจะมีเด็กและเยาวชนมาร่วมงานเป็นจำนวนมาก จึงมีการสลายการชุมนุมในคืนวันนั้น

รับไม่ได้ ขายหุ้นชินคอร์ปอเรชั่น 

ต่อมา จากกรณีการขายหุ้น บมจ.ชินคอร์ปอเรชั่น ทำให้บุคคลบางกลุ่มที่ต่อต้านทักษิณ และที่เห็นว่าทักษิณหลีกเลี่ยงภาษี ร่วมกันแสดงท่าทีขับไล่ นายทักษิณ ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี รวมถึงการเข้าร่วมชุมนุมประท้วง ที่กลุ่มต่อต้านรัฐบาลทักษิณจัดขึ้นนานมาแล้ว จนเมื่อเกิดการขายหุ้นดังกล่าวตามที่ นายสนธิ ลิ้มทองกุล คาดการณ์ประกาศไว้ ส่งผลให้มีผู้ร่วมชุมนุมมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

ทักษิณ แถลงออกสื่อ กลุ่มไม่เอาประชาธิปไตย กดดันให้ลาออก 

เย็นวันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2549 ทักษิณประกาศยุบสภาผู้แทนราษฎร และจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรขึ้นใหม่ ในวันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2549 โดยกล่าวถึงเหตุผลในตอนหนึ่งของแถลงการณ์ทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย เมื่อเวลา 20.30 น. คืนวันเดียวกันว่า มีกลุ่มผู้ประท้วงที่ต่อต้านระบอบประชาธิปไตย กดดันให้ตนลาออกจากตำแหน่ง

โชว์พลังมวลชนคนรักทักษิณ มหาศาลล้นรอบสนามหลวง 

วันที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2549 พรรคไทยรักไทยจัดการปราศรัยใหญ่ ที่ท้องสนามหลวง โดย นายทักษิณ ในฐานะหัวหน้าพรรค ขึ้นปราศรัยในเวลา 20.00 น. มีผู้เดินทางมาฟังปราศรัยประมาณสองแสนคน จนเต็มท้องสนามหลวง

5 แกนนำพันธมิตร ปิดล้อมทำเนียบ กดดันต้องออก 

วันที่ 5 มีนาคม พ.ศ.2549 พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย โดยแกนนำทั้งห้า นำประชาชนจำนวนหนึ่งปิดล้อมทำเนียบรัฐบาล เพื่อกดดันทุกวิถีทางให้ นายทักษิณ ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และเว้นวรรคทางการเมือง อีกทั้งต้องตรวจสอบทรัพย์สินทั้งหมด แต่นายทักษิณก็ยืนยันว่า ตนจะลาออกจากตำแหน่งรักษาการไม่ได้ โดยให้เหตุผลว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 215 วรรคสอง บัญญัติให้คณะรัฐมนตรีที่พ้นจากตำแหน่ง ต้องอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไป จนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่ จึงไม่สามารถลาออกจากตำแหน่งได้ 

ฝ่ายค้าน 3 พรรค ไม่ลงสมัครเลือกตั้ง 

วันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2549 มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งพรรคฝ่ายค้านสามพรรค คือ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคชาติไทย และ พรรคมหาชน ประกาศว่าจะไม่ส่งผู้สมัครลงรับการเลือกตั้ง และมีการกล่าวหาว่า พรรคไทยรักไทย จ้างให้พรรคการเมืองขนาดเล็กลงสมัครรับเลือกตั้ง เพื่อมิให้ขัดต่อพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พุทธศักราช 2542

โดยผลการเลือกตั้งครั้งนี้ พรรคไทยรักไทย ยังได้รับคะแนนเสียงข้างมาก ซึ่งในการเลือกตั้งมีปัญหาอยู่หลายอย่างคือ มีแค่ผู้สมัครพรรคไทยรักไทยเพียงพรรคเดียวลงรับสมัครเลือกตั้ง และได้คะแนนไม่ถึงร้อยละ 20 และปัญหาหลายๆ อย่างเกี่ยวกับการฉีกบัตรเลือกตั้ง ซึ่งมีจำนวนมากที่สุดในประวัติศาสตร์ และ ส.ส.มีจำนวนไม่ครบในสภา แถมยังมีการจ้างพรรคเล็กๆ ลงเลือกตั้ง เพื่อหลีกเลี่ยงการได้คะแนนมากกว่าร้อยละ 20 จนกระทั่งไม่สามารถเปิดประชุมสภาได้

แถลงการณ์ ไม่ขอรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 

วันที่ 4 เมษายน พ.ศ.2549 เวลา 20.30 น. นายทักษิณ ออกแถลงการณ์ทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทยว่า แม้ พรรคไทยรักไทย จะได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งก็ตาม แต่ตนจะไม่ขอรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีก แต่จำเป็นจะต้องรักษาการในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เพื่อรอการสรรหาคณะรัฐมนตรี และนายกรัฐมนตรีที่เหมาะสม

ศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัย เลือกตั้งเป็นโมฆะ

วันที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ.2549 ศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัย ให้การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 เมษายน เป็นโมฆะ และหารือกับคณะรัฐมนตรีแล้วเห็นด้วยที่จะต้องจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ ในวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2549 และเพิกถอนสิทธิ์การเลือกตั้ง คณะกรรมการการเลือกตั้ง 3 คน

บินนิวยอร์ก ประชุมสมัชชาสหประชาชาติ 

วันที่ 9 กันยายน พ.ศ.2549 นายทักษิณ เดินทางด้วยเครื่องบินประจำตำแหน่งไปยังนครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เพื่อเข้าร่วมประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ

ถูกยึดอำนาจในที่สุด 

วันที่ 19 กันยายน พ.ศ.2549 เวลากลางคืน คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข นำโดย พลเอก สนธิ บุญยรัตกลิน ทำการยึดอำนาจการปกครองจากรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร โดยอ้างเหตุว่า การบริหารราชการแผ่นดินโดยมิชอบธรรม และสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชน ในขณะที่ นายทักษิณ ยังปฏิบัติภารกิจในต่างประเทศ และได้มีคำสั่งให้ยกเลิกการเลือกตั้งในวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2549 และได้ประกาศให้อำนาจหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีเป็นของหัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ จัดตั้งรัฐบาลชั่วคราว 

วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ.2549 คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข ได้ประกาศแต่งตั้ง พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ให้เป็นนายกรัฐมนตรี และจัดตั้งรัฐบาลชั่วคราว