นโยบายหาเสียงของแต่ละ พรรคการเมือง ในภาพรวมแล้วไม่มีอะไรแตกต่างกันนัก โดยแบ่งเป็น มาตรการลด แลก แจก แถม ให้กับเกษตรกร คนจน ชาวไร่ชาวนา โครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ บัตรคนจน กองทุนหมู่บ้าน รับจำนำสินค้าการเกษตร ที่ดินทำกิน นโยบายด้านสังคม บัตรประกันสุขภาพ รักษาฟรี คนพิการ ผู้สูงอายุ นโยบายเฉพาะหน้า แก้ปัญหาฝุ่นละอองในอากาศ แจกเงินคนจนคนด้อยโอกาส และนโยบายคนเมืองหรือ กทม.

ใครก็ทำได้เหมือนกัน

หลังการเลือกตั้งได้ตั้งรัฐบาลกันสมใจนึกแล้ว การนำนโยบายของพรรคการเมืองไปเป็นนโยบายรัฐบาล ปรากฏว่าทำไม่ได้อย่างที่พูดไว้ ซึ่งแยกเป็น 2 กรณีคือ ไม่ทำและทำไม่ได้เพราะขัดกับกฎหมาย ยกตัวอย่างเรื่องโครงการรับจำนำข้าวเกวียนละ 15,000 บาท ในสมัยรัฐบาลที่แล้ว ถูกคัดค้านจากผู้รู้ทุกด้าน แต่รัฐบาลยุคนั้นก็ยังเดินหน้าปฏิบัติเพราะถ้าไม่ปฏิบัติก็จะขัดกับนโยบายที่แถลงเอาไว้กับสภา เมื่อปฏิบัติไปแล้วก็เสี่ยงกับการกระทำผิดกฎหมาย อยู่บนทางสองแพร่ง จนในที่สุดรัฐบาลชุดนั้นถูกร้องทุกข์กล่าวโทษเป็นคดีความ ผู้ปฏิบัติต้องติดคุกถูกยึดทรัพย์ไปอยู่ต่างประเทศ

โดยเฉพาะรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ รวมทั้งกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งและพรรคการเมือง ระบุไว้ชัดเจนว่า นโยบายหาเสียงจะต้องปฏิบัติได้จริงด้วย ถ้าเป็นการหลอกลวงชาวบ้านมีโอกาสถูกฟ้องร้องดำเนินคดีในอนาคต

อาจถึงขั้นยุบพรรค

การเมืองบ้านเรา ยังยึดติดกับตัวบุคคลเป็นหลัก นโยบายเป็นรอง การเสนอชื่อบุคคลที่จะเป็นนายกฯในอนาคตของพรรค การเมือง ถ้ามองกันแบบยาวๆไม่เจาะจงเฉพาะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เท่านั้น ใครก็ตามที่รักษาการนายกฯและต้องลงบัญชีนายกฯของพรรคการเมืองด้วย

จะต้องวางตัวอย่างไร

เพราะจะต้องเป็นมาตรฐานในอนาคต ถ้ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ถูกฉีกเสียก่อน อาทิ จะต้องลาออกจากตำแหน่งหรือไม่ จะวางตัวกันอย่างไร โดยเฉพาะสมมติคนที่อยู่ในบัญชีนายกฯของพรรคเป็นหัวหน้าพรรค ลงบัญชี ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อหรือระบบเขต

...

จะหาเสียงได้หรือไม่

ถ้าทำอะไรไม่ได้เลยก็จะดูผิดปกติ แต่ถ้าไปช่วยลูกพรรคหาเสียงก็จะผิดระเบียบ ติดขัดไปหมด ทำให้การเลือกตั้งขาดสีสันทางการเมืองแน่นอน ถ้าพระเอกของท้องเรื่องไม่มีบทบาทอะไร ก็ไม่สมบทบาท

ประเทศที่ ประชาธิปไตยเจริญแล้ว เขาจะดูที่ นโยบาย ไม่ว่าจะเป็นใคร นายกฯหรือคนธรรมดา ก็มีสิทธิมีเสียงเท่ากัน นโยบายไม่ดีก็ไม่มีใครเลือก นโยบายดีก็อยู่ยาว แฟร์ด้วยกันทุกฝ่าย.

หมัดเหล็ก
mudlek@thairath.co.th