เป็นประเด็นโต้เถียงกันยังไม่จบ เรื่องที่ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ควรลาออกจากตำแหน่งหรือไม่ หากยอมรับเป็นนายกรัฐมนตรีในบัญชีที่พรรคพลังประชารัฐเสนอ เรื่องนี้รัฐธรรมนูญไม่ได้บังคับให้ลาออก รัฐบาลที่ผ่านๆมาก็ไม่มีใครลาออก เพราะรัฐธรรมนูญให้เป็นรัฐบาลรักษาการ ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปในช่วงการเลือกตั้ง
แต่รัฐบาล คสช.อ้างว่าไม่ใช่รัฐบาลรักษาการ แต่เป็นรัฐบาลที่มีอำนาจสามารถทำตามอำนาจได้ทุกอย่าง จึงเป็นประเด็นปัญหา เพราะหวั่นเกรงว่าอาจใช้ตำแหน่งหน้าที่เอื้อการเลือกตั้ง คำว่า “รัฐบาลที่มีอำนาจเต็ม” ไม่ได้เขียนไว้ชัดเจนในรัฐธรรมนูญ รัฐบาลอาจจะอ้างมาตรา 264 ที่ให้รัฐบาล คสช. “เป็น ครม. ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้” คือรัฐธรรมนูญ 2560
แต่มาตราเดียวกันระบุว่าให้เป็นรัฐบาล “จนกว่า ครม.ที่ตั้งขึ้นใหม่ภายหลังการเลือกตั้งครั้งแรก” จะรับหน้าที่ แสดงว่าให้เป็นรัฐบาลชั่วคราว ที่สื่อมวลชนเรียกว่า “รัฐบาลรักษาการ” อยู่ในตำแหน่งชั่วระยะเวลาอันสั้น และพ้นจากตำแหน่งหลังจากมีรัฐบาลชุดใหม่จึงไม่ต่างจากรัฐบาลรักษาการ ที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ในช่วงการเลือกตั้ง หลังสภาครบวาระหรือการยุบสภา
แต่เมื่อเนติบริกรยืนกรานไม่ใช่รัฐบาลรักษาการ นักการเมืองส่วนใหญ่ก็ยอมรับ ไม่ได้กดดันอย่างจริงจังให้นายกรัฐมนตรี ลาออก จึงไม่น่าจะถึงกับหลุดผรุสวาท “มึงมาไล่ดูสิ” นักการเมืองอาจเห็นว่าไม่จำเป็น ต้องไล่ เพราะอีกเดือนเศษก็จะถึงวันที่ 24 มีนาคม ให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินดีกว่า ใครจะอยู่หรือจะไป ขอเพียงแต่ให้ปฏิบัติตามประเพณีประชาธิปไตย
ตามประเพณีการปกครองระบอบประชาธิปไตย ที่ทุกรัฐบาลถือปฏิบัติมาเป็นเวลาช้านาน รัฐบาลที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ในช่วงเลือกตั้ง ต้องปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ ที่ห้ามรัฐบาลลักษณะนี้หลายประการ เช่น ห้ามอนุมัติโครงการที่ผูกพันรัฐบาลใหม่ ห้ามแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ ห้ามอนุมัติการใช้จ่ายงบประมาณสำรองฉุกเฉิน ห้ามใช้ทรัพยากรรัฐและเจ้าหน้าที่รัฐเอื้อการเลือกตั้ง
...
รัฐบาลจะบริหารราชการแผ่นดิน จะก่อสร้างถนนหนทางที่ต้องทำต่อเนื่อง หรือจะให้หน่วยราชการออกไปฉีดน้ำไล่ฝุ่นพิษ ไม่มีใครเขาว่า เพียงแต่ไม่ควรอนุมัติโครงการใหม่ๆ เพื่อนำเงินออกมาแจกจ่ายประชาชน อาจฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ และกฎหมายเลือกตั้ง ที่ห้ามให้เงินหรือทรัพย์สินแก่ผู้ใด มีโทษจำคุกสูงสุด 10 ปี เพิกถอนสิทธิ เลือกตั้ง 20 ปี
แม้จะอ้างว่าไม่มีกฎหมายบังคับรัฐบาล คสช. ซึ่งเป็นรัฐบาลที่มีอำนาจ แต่เพื่อให้การเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ตามเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ และความมุ่งหวังของประชาชนทุกหมู่เหล่า ขอให้ปฏิบัติตามประเพณีการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ที่รัฐบาลก่อนๆยึดถือปฏิบัติมา น่าจะเป็นคุณูปการอันยิ่งใหญ่ต่อประเทศ.