โชว์ได้ แต่อย่าถึงลิเก
ส่งเทียบเชิญกันไปเรียบร้อยเหมือนกับหมั้นกันไว้ก่อน
ข่าวแนะนำ
เพราะการสู่ขอยังไม่บรรลุขั้นเสร็จสมบูรณ์ เนื่องจากขอเล่นตัวอีกสักวันสองวัน
แต่เชื่อเถอะว่าไม่มีปัญหาแต่อย่างใด
แม้เบื้องต้นจะมีข่าวออกมาว่า มีการเกี่ยงกันในการเสนอชื่อบุคคลเป็นนายกฯ ตามที่พรรคพลังประชารัฐจะเสนอ
ทางพรรคเห็นว่าควรจะเสนอ 3 ชื่อคือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ และนายอุตตม สาวนายน
เหตุผลก็เพราะต้องการให้เป็นแพ็กเกจเพื่อแสดงถึงศักยภาพของพรรค ซึ่งมีบุคคลที่มีความรู้ความสามารถครบเครื่อง
แต่ฝ่ายกองหนุนวงใน คสช.เห็นว่าควรเสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์คนเดียว เบอร์ 1 ไปเลย ทำให้เห็นถึงความโดดเด่นที่จะนำพรรคและความเป็นผู้นำ
ประเด็นนี้แม้จะเป็นเรื่องใหญ่ แต่ก็เล็กในทางการเมือง
ทว่าปัญหาใหญ่มันน่าจะอยู่ที่ว่า เมื่อมีชื่อที่จะยื่นอยู่ในบัญชีพรรคพลังประชารัฐ แต่ก็ต้องดำรงตนเพื่อให้เป็นไปตามกฎหมาย
อะไรทำได้ อะไรทำไม่ได้ อะไรควรทำ อะไรไม่ควร
แม้ว่ากฎหมายรัฐธรรมนูญ ประเพณีปฏิบัติที่เคยทำกันมาว่าไม่ต้องลาออกจากตำแหน่ง แต่จะต้องดำรงต่อไปจนกว่าจะได้รัฐบาลชุดใหม่
ไม่ใช่แค่ประเทศไทยเท่านั้น แต่ทุกประเทศก็ดำเนินการในลักษณะเช่นนี้ ทั้งนั้นเนื่องจากความจำเป็นที่จะต้องไม่ให้เกิด “สุญญากาศการเมือง”
ว่าไปแล้วเรื่องมันก็มีอยู่แค่นี้ แต่ก็มีการที่จะโจมตีว่าเป็นการเอาเปรียบพรรคการเมืองอื่นทำให้เกิดความไม่เป็นธรรม
อ้างว่าเป็น “นายกฯทหาร” ที่ไม่ได้มาจากประชาธิปไตย
ไม่ว่าจะมาจากรัฐบาลทหารหรือรัฐบาลประชาธิปไตยล้วนปฏิบัติเหมือนในกรณีนี้ก็ด้วยเหตุผลเดียวกันคือ ต้องทำหน้าที่ดูแลรับผิดชอบจนกว่าจะได้รัฐบาลใหม่
เจอคำถามนี้เล่นเอา พล.อ.ประยุทธ์ฉุนกึกไม่พอใจยืนยันว่า ไม่ลาออก และท้าว่า “มึงมาไล่ดูสิ” หมายความถึงใครกันบ้างก็ไปไล่เรียงกันดู
จากเช้าไปถึงช่วงบ่ายอารมณ์คงคลายตัวลงไป แน่นอน
คงคิดได้ว่าเป็นคำพูดที่ไม่เหมาะสม จึงว่ากล่าวคำ “ขอโทษ”...
นี่ก็คงเป็นอีกบทเรียนหนึ่งของบุคคลในฐานะระดับผู้นำประเทศ จะต้องจำกัด “จุดอ่อน” ของตัวเองให้ได้
ยิ่งกำลังก้าวไปสู่ความเป็น “นักการเมือง” เต็มตัวยิ่งต้องพึงตระหนักให้มากๆ เพราะมีหลายครั้งที่นายกฯอยู่ภายใต้อารมณ์ที่บังคับไม่ได้
ผมว่าสังคมไทยไม่นิยมชมชอบเท่าใดนัก
นอกจากจะต้องปฏิบัติตนให้เป็นไปตามครรลองของกฎหมาย ซึ่งเป็นกติกาที่ทุกคนจะต้องยอมรับ
ไม่มีอภิสิทธิ์อภินิหารอะไรอีกแล้ว
เพราะการเลือกตั้งก็จะอีกไม่นาน ทุกพรรคจึงต้องมุ่งแสดงนโยบาย เพื่อให้ประชาชนได้พิจารณาก่อนตัดสินใจว่าจะเลือกใคร พรรคไหน แม้แต่นายกฯด้วย
บางทีความตั้งใจ การแสดงออกเพื่อให้ได้รับความนิยม จึงต้องระมัดระวังทุกฝีก้าว เพื่อให้ดูดีมีราคา แม้กระทั่งการปฏิบัติตัวที่เห็นว่าดีเข้าตา
แต่บางอย่างดูไม่ต่างไปจาก “ลิเก” ชวนให้ขบขันมากกว่า.