เรกคอร์ดที่น่าตกใจ เมืองหลวงประเทศไทยทะลุติดอันดับ 3 เมืองที่อากาศแย่สุดในโลก

ล้อตามสถานการณ์ฝุ่นพิษ PM2.5 ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ที่เข้าสู่ห้วงวิกฤติ

ถึงขั้นที่ต้องประกาศปิดโรงเรียนในสังกัด กทม. 437 แห่ง ขณะที่กระทรวงศึกษาธิการสั่งปิดโรงเรียนพื้นฐาน โรงเรียนอาชีวะ สถาบันการศึกษา รวมถึงมหาวิทยาลัยเกือบทุกแห่งใน กทม.และปริมณฑล ได้ประกาศหยุดการเรียนการสอนชั่วคราว 2 วัน เพื่อหลบสถานการณ์ฝุ่นพิษ

โดยรอประเมินสถานการณ์ ถ้าฝุ่นไม่จางก็อาจต้องหยุดยาวต่อไป

ในจังหวะที่รัฐบาลได้ยกระดับความเข้มของมาตรการจัดการวิกฤติฝุ่น PM2.5 ตามสัญญาณที่ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หัวหน้า คสช. จ่อออกคำสั่ง คสช.ควบคุมวิกฤติฝุ่นพิษในกรุงเทพฯ ปริมณฑล และต่างจังหวัดทั่วประเทศ

ตามแบบฉบับของรัฐบาลทหารที่ถืออำนาจพิเศษ

โดยเตรียมส่งกำลังทหาร เจ้าหน้าที่กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ไล่ตรวจโรงงานปล่อยควัน ปล่อยของเสีย ควันพิษ ขยะ พร้อมสั่งปิดได้ทันที

...

หรือต้องหยุดทำการช่วงเช้า ช่วงเย็น เพื่อลดปล่อยควัน

อีกด้านก็เตรียมงัดมาตรการบังคับใช้รถวันคู่ วันคี่ วิ่งบนถนน ตลอดไปจนถึงการห้ามนั่งรถยนต์คนเดียว แม้แต่เรียกแท็กซี่ก็ต้องไปทีละ 2–3 คน ส่งหลายที่หมายปลายทาง

โดยเฉพาะรถยนต์ปล่อยควันดำเจอตรวจจับ โดนยึด ต้องจอดทันที

สถานการณ์มาถึงจุดที่ผู้นำรัฐบาลต้องจ่าย “ยาแรง” แก้ที่ต้นเหตุแห่งปัญหาหลักๆที่มาจากไอเสียรถยนต์บนท้องถนน โรงงานปล่อยควัน รวมไปถึงการเผาในที่โล่งแจ้งของชาวนา ชาวไร่

หมดเวลาแก้ปัญหาแบบลูบหน้าปะจมูก กลัวกระตุกแรงต้าน

และไม่ใช่แค่ภาครัฐบาลที่ต้องเร่งแก้ไขฝุ่นพิษเฉพาะหน้า จริงจังกับการบังคับใช้กฎหมายเพื่อบรรเทาสถานการณ์ในระยะยาว ในมุมของภาคเอกชน รวมถึงประชาชนคนไทยเองก็ต้องให้ความร่วมมือ

เสียสละผลประโยชน์ส่วนตัว เพื่อกู้วิกฤติฝุ่นที่กลายเป็นปัญหาระดับประเทศด้วยกัน

ท่ามกลางบรรยากาศวิกฤติฝุ่นปกคลุมเมือง อึมครึมขมุกขมัว ในห้วงสถานการณ์การเมือง

ก็เป็นจังหวะของคนกระโดด “คลุกฝุ่น” อย่างเต็มตัว

เคลียร์สถานภาพความชัดเจน เลิกคลุมเครือ

ตามคิวที่ทีม “4 กุมาร” พรรคพลังประชารัฐ ประกอบด้วยนายอุตตม สาวนายน อดีต รมว.อุตสาหกรรม นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ อดีต รมว.พาณิชย์ นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ อดีต รมว.วิทยาศาสตร์ฯ นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล อดีต รมต.ประจำสำนักนายกฯ ได้เข้าอำลานายกรัฐมนตรี

แถลงลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรี เพื่อไปทำงานการเมืองเต็มตัว

สวมบทแกนนำพรรคพลังประชารัฐ นำทีมผู้สมัคร ส.ส.หาเสียงแบบ full time เต็มเวลา

ในจังหวะที่ พล.อ.ประยุทธ์ ก็เปิดหน้าไพ่ แสดงความชัดเจนอีกขั้น โดยการยืนยันชัดถ้อยชัดคำถ้าจะไปต่อในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหลังการเลือกตั้ง

เส้นทางผ่าน “บัญชีพรรคการเมือง” เท่านั้น

และนั่นก็สอดรับกันพอดี กับมติที่ประชุมคณะกรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐ โดยการแถลงของทีมอดีตรัฐมนตรี “4 กุมาร” มีมติเสนอชื่อบุคคลที่จะอยู่ในบัญชีนายกรัฐมนตรี 3

ชื่อ ประกอบด้วย 1.พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา 2.นายอุตตม สาวนายน 3.นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์

ส่งหนังสือเชิญอย่างเป็นทางการ

ได้เวลาเปิดฝา “ไฮโลเปิดถ้วยแทง” ที่รู้กันทั่วบ้านทั่วเมือง

ภาพทางการเมืองของทีมหนุน “นายกฯลุงตู่” ตีตั๋วต่อในเส้นทางเลือกตั้ง ชัดเจนในระดับพันเปอร์เซ็นต์

และก็เป็นอะไรที่แปรผันตามแรงกระแทกที่พุ่งเข้าใส่ ในจังหวะที่เกมไหลโดย “อัตโนมัติ” แทบจะฉับพลันทันทีที่ทีมรัฐมนตรี 4 กุมารพลังประชารัฐไขก๊อก

ก็ตามด้วยเสียงโห่ไล่ พล.อ.ประยุทธ์ ให้ลาออกตาม

พรรคประชาธิปัตย์ ลูกข่าย “ทักษิณ” แห่กระแสทวงถามสปิริต ตีปี๊บประจานตีกินกันเซ็งแซ่

แต่ก็เหมือนจะเตรียมรับสถานการณ์ล่วงหน้าไว้แล้ว แนวโน้มแบบที่ พล.อ.ประยุทธ์ พูดชัดตั้งแต่วันที่ 4 รัฐมนตรีร่อนใบลาออก ยืนกรานเสียงแข็ง

ถ้าลาออกแล้วใครจะทำ กฎหมายไม่ได้ให้ออกก็ไม่ออก เป็นนายกฯอยู่อย่างนี้แหละ

รวมถึงตำแหน่งหัวหน้า คสช.ที่ต้องอยู่จนถึงมีรัฐบาลใหม่

ในขณะที่ล่าสุด นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ฝ่ายกฎหมาย ได้เชิญคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เข้าหารือเพื่อการกำหนดกรอบระเบียบแบบแผนในการวางตัวของข้าราชการ รัฐมนตรี และนายกรัฐมนตรี

ออกเป็นข้อกำหนดในการวางตัวช่วงเลือกตั้ง

ตามรูปการณ์ ถือเป็นการยกระดับความชัดเจนให้ทุกฝ่ายได้รับรู้ตรงกัน หาก พล.อ.ประยุทธ์ ยอมรับให้พรรคพลังประชารัฐใส่ในบัญชีเสนอเป็นนายกฯพรรค ไม่สามารถหาเสียงได้ทั้งในและนอกเวลา

โชว์ความจริงจังในการรักษากฎกติกา แสดงสปิริตความแฟร์

แต่นั่นก็ห้ามกันไม่ได้ เรื่องของการวิพากษ์ วิจารณ์ เกมดักคอตีกันการใช้อำนาจรัฐเอาเปรียบมันเป็นเรื่องที่มาทุกยุคทุกสมัย ตามฟอร์มนักการเมืองอาชีพ เหลี่ยมเขี้ยวของรัฐบาลเลือกตั้ง

ลากอำนาจรักษาการกันจนหยดสุดท้าย

อย่างไรก็ตาม ถ้าเทียบกันจะเห็นความแตกต่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นในมุมของกฎหมายที่รัฐธรรมนูญกำหนดชัด รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ใช่แค่รัฐบาลรักษาการ

แต่เป็นรัฐบาลที่มีอำนาจเต็มไปจนกว่าจะมีรัฐบาลใหม่

หรือในมุมของเงื่อนไขสถานการณ์ความจำเป็น ทั้งเรื่องของการบริหารราชการแผ่นดิน จากการเลือกตั้งไปจนกว่าจะมีรัฐบาลใหม่ใช้เวลาหลายเดือน

ภาวะคาบลูกคาบดอก จะปล่อยสุญญากาศอำนาจไม่ได้

ไหนจะเหตุฉุกเฉินที่ยากต่อการคาดการณ์ล่วงหน้า ตัวอย่างภัยพิบัติ พายุไต้ฝุ่นปาบึกที่ถล่มภาคใต้ หรือสถานการณ์สดๆร้อนๆตรงหน้า วิกฤติฝุ่นพิษ PM2.5 ปกคลุมกรุงเทพฯ ปริมณฑล

ถ้าไม่มีนายกฯเป็นคนนำกอบกู้สถานการณ์ มันจะหนักไปกันใหญ่

เหนืออื่นใด ต้องไม่ลืมว่าเป็นห้วงเวลาคาบเกี่ยวพระราชพิธีสำคัญ ที่จำเป็นต้องมีนายกรัฐมนตรีเป็นหลักในการดูแลกระบวนการขั้นตอนให้เป็นไปด้วยความสงบเรียบร้อย

เพราะฉะนั้น วัดน้ำหนักกับเสียงโห่ฮาลอยๆ ของนักการเมือง

ตามท้องเรื่อง ปัจจัยหนุน “นายกฯลุงตู่” ไม่ต้องลาออก จึงแน่นกว่าด้วยประการทั้งปวง

ดีไม่ดี กระแสรุกคืบเอาศอกของทีม “ทักษิณ” กับพรรคประชาธิปัตย์ จะตีกลับเอาง่ายๆ

เพราะถึงจุดนี้ ถือว่า พล.อ.ประยุทธ์ได้คลายอำนาจเยอะแล้ว

แบบที่โดนนักการเมืองรุมถล่มโจมตีทุกวัน จนแทบลืมไปเลยว่ายังเป็น “รัฏฐาธิปัตย์” ที่ถืออำนาจเต็มมือ

อะไรไม่เท่ากับว่า การถือกระบองยักษ์ของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่ถูกนักการเมืองโหมตีปี๊บ ดักคอตีกินการใช้อำนาจเอาเปรียบ เอื้อประโยชน์ให้พรรคที่หนุน “นายกฯลุงตู่”

แต่ในมุมกลับกัน ดูให้ดีๆ มันคือสถานการณ์ที่แฝงไว้ด้วยอันตรายเสียมากกว่า

กับสภาพ “ดาบสองคม” ที่พร้อมบาดคนถืออำนาจได้ทุกเวลา

อาการแบบที่ พล.อ.ประยุทธ์ต้อง “เกร็ง” สั่งปรับภารกิจการเดินสายตรวจราชการ การประชุม ครม.สัญจรในต่างจังหวัดเปลี่ยนแผนกันใหม่

ไม่ให้หมิ่นเหม่ข้อกฎหมาย

เผลอพลาดเข้าเงี่ยงกับดักพวกจ้องเจาะยาง ตายน้ำตื้นได้ง่ายๆ

นี่ยังไม่นับอันตรายจากสถานะหัวหน้าฝ่ายบริหาร สถานการณ์ในที่ประชุม ครม.ต่อจากนี้ ที่ต้องถูกจับตาการออกมติเอื้อแต้มให้พรรคพลังประชารัฐ แต่ในจังหวะเสี่ยงอาการ “ขัดลำ” แบบ เรื่องการออกกฎห้ามนั่งท้ายรถกระบะที่โดนกระแสต่อต้านลามทั่วบ้านทั่วเมือง

นั่นแหละจะเป็นเรื่อง พานให้ยี่ห้อพลังประชารัฐยางแตกไปด้วย

แต่ที่อันตรายสุดๆ “จุดตาย” ของรัฐบาลทหารในห้วงปลายอำนาจ พล.อ.ประยุทธ์ยังต้องพะว้าพะวัง ระวังพวกฉวยโอกาสทิ้งทวนในจังหวะสุดท้าย ก่อนตกขบวนไปต่อกับ “นายกฯลุงตู่”

ถ้าเกิดปมทุจริต คอร์รัปชัน โผล่มา ตายหมู่แน่

ตามประวัติศาสตร์ที่เห็นๆกัน “ทักษิณ” ที่ว่าแน่ๆ กระแสลอยลำ คะแนนเลือกตั้งนำโด่ง แต่พลันปมขายหุ้นเทมาเสกโผล่มาฟ้องการใช้อำนาจเอื้อธุรกิจ ประจานข้อหาทุจริตเชิงนโยบาย ก็พังง่ายๆ

“ลุงตู่” ก็อยู่ในภาวะเสี่ยง “ตายหมู่” ได้เหมือนกัน.

“ทีมการเมือง”