จากการที่สำนักงาน ก.พ.ร. เปิดรับสมัครคัดเลือกบุคคลเพื่อเข้ารับราชการในโครงการพัฒนานักบริหารการเปลี่ยนแปลงรุ่นใหม่ (นปร.) รุ่นที่ 13 จำนวน 30 ตำแหน่ง และการรับสมัครได้ปิดลงแล้วเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2561 นั้น

มีรายงานความคืบหน้าในการดำเนินการคัดเลือกและเรื่องราวที่น่าสนใจที่ได้พบว่าในปีนี้มีจำนวนผู้สนใจสมัครเข้ารับราชการในโครงการนี้เป็นจำนวนมากถึง 743 คน ซึ่งนับว่ามีอัตราการแข่งขันที่สูงเป็นประวัติการณ์ คือ 25 : 1 คน

จากการวิเคราะห์ร่วมกันของคณะกรรมการคัดเลือกเห็นว่า สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นถึงการปฏิรูปประเทศตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ทำให้ภาครัฐมีการปรับโครงสร้างและเปลี่ยนวิธีการทำงาน คนรุ่นใหม่จึงมีความสนใจที่อยากจะรับราชการมากขึ้น

ทั้งนี้ จากภาพลักษณ์ของระบบราชการในอดีตที่คนส่วนใหญ่มองว่า ระบบราชการเน้นเรื่องกฎระเบียบ ลำดับขั้นการบังคับบัญชา เน้นกระบวนการมากกว่าผลลัพธ์ ทำงานแบบเช้าชามเย็นชาม ภาพลักษณ์ของงานราชการมีข้อดีเพียงแค่ความมั่นคงในอาชีพเท่านั้น

แต่ในปัจจุบันการเข้ามารับราชการเป็นความภาคภูมิใจของคนรุ่นใหม่ ในการเข้ามาทำประโยชน์เพื่อประเทศชาติ บางคนอาจมีการชั่งใจว่าเป็นข้าราชการดีหรือไม่ เพราะเงินเดือนน้อยแต่สิ่งที่คนรุ่นใหม่คิดมากกว่านั้นคือ การที่ได้เข้ามาเป็นฟันเฟืองหนึ่งในการพัฒนาประเทศชาติ

ประกอบกับภายหลังการปฏิรูประบบราชการรูปแบบการทำงานของราชการได้มีการเปลี่ยนแปลงไปมากขึ้น เช่น มีการนำเอาเทคโนโลยีมาใช้ในการทำงานมากขึ้น ลดขั้นตอนการทำงาน ลักษณะงานมีความท้าทายมากขึ้น ทำงานโดยยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง ทำให้คนรุ่นใหม่เริ่มมองอาชีพรับราชการว่ามีความแตกต่างจากสมัยก่อน

โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำนักงาน ก.พ.ร. ได้มีการสรรหาคนรุ่นใหม่ที่มีศักยภาพสูงเข้าสู่ระบบราชการด้วยรูปแบบการพัฒนาที่น่าสนใจ ทั้งด้านวิชาการและการฝึกปฏิบัติราชการกับผู้บริหารระดับสูง ทั้งปลัดกระทรวง/อธิบดี ผู้ว่าราชการจังหวัด เอกอัครราชทูต/กงสุลใหญ่ และ CEO ภาคเอกชน

...

จึงทำให้โครงการ นปร.เป็นอีกช่องทางหนึ่งสำหรับคนรุ่นใหม่ ที่สนใจเข้ามารับราชการเพื่อร่วมกันพัฒนาประเทศชาติต่อไป

ทั้งหมดนี้เป็นการวิเคราะห์จากแบบสอบถามที่ให้ผู้สมัครตอบ โดยในประเด็นความสนใจที่สมัครเข้าร่วมโครงการ ปรากฏว่าเหตุผลสำคัญ 5 อันดับแรก คือ 1.มีโอกาสในการอบรมและพัฒนาหลากหลาย 2.อยากรับราชการ 3.มีโอกาสในการรับใช้สังคม 4.เป็นอาชีพที่มั่นคง 5.อยากเป็นข้าราชการในโครงการ นปร.

ทั้ง 5 ประการนี้เป็นคำตอบที่วัดได้เกินครึ่งของจำนวนผู้สมัครทั้งหมดซึ่งมาจากบุคคลผู้เพิ่งสำเร็จการศึกษามากเป็นอันดับ 1 จำนวน 400 คน อันดับ 2 เป็นบุคคลที่ทำงานในภาคเอกชน 207 คน อันดับ 3 เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐประเภทต่างๆ 85 คน และอันดับ 5 เป็นข้าราชการอยู่แล้ว 51 คน

ทั้งหมดนี้สำเร็จการศึกษาชั้นปริญญาโท 681 คน แยกเป็นในประเทศ 509 คน ต่างประเทศ 172 คน ปริญญาเอก 62 คน แยกเป็นในประเทศ 51 คน ต่างประเทศ 11 คน

สิ่งที่สะท้อนความเป็นจริงในสังคมปัจจุบันมากที่สุดคือในจำนวนผู้สมัคร 743 คนนั้นเป็นเพศหญิง 469 คน เพศชาย 274 คน.

“ซี.12”