รัฐบาลกราบบังคมทูลเชิญ "สมเด็จพระเทพฯ" เสด็จเป็นองค์ประธานประชุมอำนวยการเตรียมงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก 26 ม.ค.นี้ ที่ทำเนียบรัฐบาล "วิษณุ" เผยตั้ง คกก.7 ชุดเตรียมงาน เม.ย.เร่ิมพิธี "พลีกรรม" ตักน้ำจากแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ ขณะที่วันที่ 4 พ.ค.63 เป็นวัน "ฉัตรมงคล" ตลอดรัชกาลนี้
เมื่อวันที่ 10 ม.ค.62 ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการเตรียมการจัดงานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร เนื่องในโอกาสพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เพื่อรับทราบหมายกำหนดการพระราชพิธี วันที่ 4-6 พ.ค. โดยมีรองนายกรัฐมนตรี รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ผู้บัญชาการเหล่าทัพ และผู้แทนสำนักพระราชวัง เข้าร่วมประชุม
ภายหลังการประชุม นายวิษณุ เปิดเผยว่า การแถลงรายละเอียดขอเป็นหลังวันที่ 26 ม.ค.นี้ เนื่องด้วยวันดังกล่าว เวลา 17.30 น. ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จะทรงพระกรุณาเสด็จเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการอำนวยการจัดงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในฐานะองค์ประธานที่ปรึกษาคณะกรรมการฯ จะเสด็จมาเป็นประธานในที่ประชุม โดยจะมีประธานองคมนตรี ประธานรัฐสภา ประธานศาลฎีกา เข้าร่วมประชุมด้วย โดยมีนายกรัฐมนตรี เป็นประธานคณะกรรมการอำนวยการจัดงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก โดยแบ่งเป็นคณะกรรมการต่างๆ 7 คณะ ประกอบด้วย 1.ฝ่ายพิธีการ มีตนเป็นประธาน 2.คณะกรรมการฝ่ายรักษาความปลอดภัย มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เป็นประธาน 3.คณะกรรมการฝ่ายโครงการต่างๆ มี พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.ยุติธรรม เป็นประธาน 4.คณะกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์ มี พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน 5.คณะกรรมการฝ่ายกลั่นกรองการเสนองบประมาณ มี นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน 6.คณะกรรมการในส่วนของการทำจดหมายเหตุ และ 7.กรรมการในส่วนประสานงานต่างๆ ซึ่งเป็นชุดย่อยลงไป
...
อย่างไรก็ตามหลายเรื่องในที่ประชุมวันนี้ ต้องนำความกราบบังคมทูลในวันที่ 26 ม.ค.ก่อน และบางเรื่องต้องขอพระราชวินิจฉัยจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี รวมถึงบางเรื่องต้องนำความกราบบังคมทูลพระกรุณาทรงทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทด้วย จึงไม่สามารถแถลงได้
นายวิษณุ กล่าวว่า โดยเบื้องต้นให้เป็นความรู้ก่อนว่า ขณะนี้หมายกำหนดการออกมาแล้วว่า พระราชพิธีจะแบ่งออกเป็น 3 ส่วน 1.การเตรียมการเบื้องต้น 2.พระราชพิธีเบื้องกลาง และ 3.ส่วนที่เป็นกิจกรรมต่อเนื่องเบื้องปลาย โดยพระราชพิธีเบื้องกลาง คือ ตัวพระราชพิธีที่มี 3 วันคือ วันเสาร์ที่ 4 พ.ค. วันอาทิตย์ที่ 5 พ.ค. และวันจันทร์ที่ 6 พ.ค. แต่พิธีเบื้องต้นที่นำหน้ามาก่อนนั้น มีเกือบเต็มทั้งเดือน เม.ย. โดยจะ
เร่ิมจากพิธี "พลีกรรม" คือพิธีตักน้ำจากแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ เร่ิมตั้งแต่วันที่ 6 เม.ย. กระทั่งสิ้นเดือน เม.ย. และต่อด้วยเดือน พ.ค. ในวันที่ 2-3 พ.ค. ต่อจากนั้นจะเข้าสู่พิธีเบื้องกลาง ซึ่งเป็นพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในวันที่ 4-6 พ.ค. โดยวันสำคัญที่สุด คือ วันที่ 4 พ.ค. ที่ในปีนี้เป็นวันบรมราชาภิเษก แต่ในปีหน้าวันที่ 4 พ.ค.2563 จะไม่ใช่วันบรมราชภิเษก เพราะบรมราชาภิเษกไปแล้ว จึงเป็นวันที่ระลึกถึงการบรมราชภิเษก ซึ่งปีหน้าวันที่ 4 พ.ค.2563 จะเรียกว่า "วันฉัตรมงคล" และจะเรียกตลอดไปในรัชกาลนี้ ส่วนกิจกรรมเบื้องปลายต่อเนื่องหลังวันที่ 6 พ.ค.คือ ในวันที่ 8-9 พ.ค. ซึ่งเป็นพระราชพิธีพืชมงคล และหลังจากนั้นจะเป็นกิจกรรมของรัฐบาลและประชาชน ที่จะจัดน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวาย ตรงนี้หลายๆ อย่างต้องรอให้คณะกรรมการที่เกี่ยวข้องประชุมกันอีกที
เมื่อถามว่า หลังประชุมวันที่ 26 ม.ค.จะได้ข้อสรุปกระบวนการงานพระราชพิธีครบถ้วนใช่เลยหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ครบทุกอย่างและวันนี้เท่าที่มีการรายงานในที่ประชุม ได้มีการเตรียมงานกันไปเองก่อนแล้วถือว่าลุล่วง 50 เปอร์เซ็นต์ เมื่อถามว่า สำหรับงานพระราชพิธีน่าจะเสร็จสิ้นเมื่อไหร่ นายวิษณุ กล่าวว่า น่าจะคงยาวไปตลอด แต่จะไม่กระทบต่อเหตุการณ์บ้านเมือง.