"บิ๊กเมา" ถกหารือมาเลเซียครั้งแรก แนะนำทีมพูดคุยสันติสุขชายแดนใต้ ยันทำตามกรอบกฎหมาย พร้อมเปิดรับพูดคุยทุกกลุ่ม ด้านมาเลย์หวัง 2 ปีช่วยดับไฟใต้ คืนสันติสุขให้คนในพื้นที่

เมื่อวันที่ 4 ม.ค.62 ที่โรงแรมพูลแมน คิง เพาเวอร์ รางน้ำ กทม. พล.อ.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ หัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ และตัน สรี อับดุล ราฮิม บิน โมฮัมหมัด นูร์ อดีตผู้บัญชาการตำรวจสันติบาลมาเลเซีย ในฐานะผู้อำนวยความสะดวกในการพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ประเทศมาเลเซีย พร้อมคณะ เดินทางมาประชุมหารือร่วมกันถึงแนวทางการทำงานในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ พร้อมกับแนะนำตัวคณะพูดคุยฯ ชุดใหม่ครั้งแรกอย่างเป็นทางการ

จากนั้น พล.อ.อุดมชัย และนายอับดุล ราฮิม นูร์ ได้ร่วมกันแถลง โดย พล.อ.อุดมชัย กล่าวว่า วันนี้ถือเป็นวันพูดคุยอย่างเป็นทางการครั้งแรกร่วมกับ นายอับดุล ราฮิม นูร์ เพื่อแนะนำตัวคณะพูดคุยฯ ว่ามีใครบ้างและทำหน้าที่อะไรบ้าง สำหรับแนวทางการทำงานร่วมกัน คือ ทางมาเลเซียจะเป็นผู้อำนวยความสะดวกให้ไทยตามที่ร้องขอ ซึ่งเรายืนยันว่าเรื่องนี้เป็นปัญหาภายในประเทศของไทย จะต้องยึดตามรัฐธรรมนูญเป็นหลัก แม้ว่าจะเป็นพื้นที่พหุวัฒนธรรม แต่ต้องไม่นำไปสู่การแบ่งแยกดินแดน ทั้งนี้เราได้เตรียมความพร้อมเปิดพื้นที่ปลอดภัยให้กับกลุ่มผู้เห็นต่าง ได้เข้ามาแสดงความคิดเห็นตามสิทธิและเสรีภาพว่า มีอะไรบ้างที่ไม่สบายใจ โดยเราจะพูดคุยกับทุกกลุ่ม รวมถึงกลุ่มที่อยู่ในประเทศไทยเองด้วย เพราะยังมีภาคประชาสังคมและผู้เห็นต่างในประเทศไทย รวมถึงภาครัฐต้องให้เข้าใจในกระบวนการพูดคุยเ พื่อสันติสุขที่เป็นทางออกสันติวิธีที่สุด เรามีความพร้อมพูดคุยกับทุกกลุ่ม ซึ่งไม่ได้ระบุกับทางผู้อำนวยความสะดวกไปแน่ชัดว่าจะต้องเป็นกลุ่มไหนก่อนหรือหลัง ส่วนกลุ่มมาราปัตตานีจะเป็นกลุ่มแรกหรือไม่นั้น เรายืนยันว่ากลุ่มไหนมีความพร้อมก็มาพูดคุยได้ทันที แต่ถ้ากลุ่มไหนยังไม่พร้อมเราก็ให้เวลา โดยไม่ได้เร่งรัด เพราะการออกจากความขัดแย้งไม่ควรบังคับขู่เข็ญ 

...

"ขอให้ทุกกลุ่มสบายใจ และเราจะไม่รวมกลุ่มต่างๆ มาพูดคุยร่วมกัน เพราะบางกลุ่มอาจมีความเห็นไม่ตรงกัน ก็ขอให้เป็นไปตามความประสงค์ของเขาเป็นหลัก โดยเคารพศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์และเห็นแก่ประโยชน์ของคนกลุ่มใหญ่ รวมทั้งคำนึงถึงลูกหลานของเราในอนาคต ส่วนจะต่อยอดนโยบายของ พล.อ.อักษรา เกิดผล อดีตหัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้หรือไม่นั้น ผมยืนยันว่าจะต่อยอดนโยบายเดิมอย่างแน่นอน เพราะนโยบายดังกล่าวได้ระบุไว้ชัดเจนว่าต้องทำอะไรและอย่างไรบ้าง ส่วนกลุ่มฝ่ายกองกำลังของบีอาร์เอ็นนั้น หากประชาชนส่วนใหญ่ไม่ยอมรับกับการใช้ความรุนแรง กลุ่มดังกล่าวก็จะตกขอบไป จะมาบังคับบัญชาอะไรในไทยไม่ได้ เรามาพูดคุยเพื่อต้องการให้ทราบว่าเขาเห็นต่างอะไรบ้าง ผมยืนยันว่าไม่อยากให้ทางมาเลเซียใช้มาตรการบังคับให้แต่ละกลุ่มเข้ามาร่วมพูดคุย อย่างไรก็ตามยืนยันว่าในวันนี้ยังไม่ได้มีการลงนามในบันทึกข้อตกลงใดๆ เพราะกลัวว่าจะไม่ครอบคลุมกับทุกกลุ่ม และยังไม่ถึงขั้นให้คนนอกหรือประเทศอื่นเข้ามา ขอให้ได้พูดคุยกันก่อนภายใต้การอำนวยความสะดวกของประเทศมาเลเซีย เราไม่ใช่คู่ต่อสู้กันแต่เป็นผู้ให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เราเป็นเพื่อนบ้านที่ต้องเกื้อกูลซึ่งกันและกัน" พล.อ.อุดมชัย กล่าว

เมื่อถามว่า การพูดคุยดังกล่าวจะต้องกำหนดให้ไม่มีเหตุการณ์ความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ก่อนถึงจะพูดคุยหรือไม่ พล.อ.อุดมชัย กล่าวว่า หน้าที่รักษาความปลอดภัยมีผู้รับผิดชอบโดยตรงคือ พล.ท.พรศักดิ์ พูลสวัสดิ์ แม่ทัพภาคที่ 4 ที่ต้องดำเนินการให้พื้นที่มีความปลอดภัย ในส่วนของตนไม่เกี่ยวกับการใช้กำลังทหาร หรือกำหนดพื้นที่ว่าจะต้องมีความปลอดภัย ซึ่งเรื่องการกำหนดพื้นที่ปลอดภัยต้องพูดคุยกับแม่ทัพภาคที่ 4 ส่วนพื้นที่นำร่องที่เคยกำหนด อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส เป็นพื้นที่ปลอดภัยนั้น ที่ผ่านมาเรายังไม่ได้พูดคุยตกลงกัน ซึ่งเป็นเพียงกระแสข่าวที่ออกมาเท่านั้น

นายตันซรี อับดุล ราฮีม มูฮัมหนัดนูร์ กล่าวว่า วันนี้ไม่ใช่ส่วนหนึ่งของเวทีการพูดคุยสันติสุข แต่เป็นการแนะนำตัวของแต่ละฝ่ายซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดี อีกทั้งวันนี้สื่อไทยถือว่าเป็นวันครบรอบ 15 ปีเหตุการณ์ปล้นปืน ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของเหตุการณ์ความรุนแรงด้วย ที่ผ่านมาเราใช้เวลาในการพูดคุยฯ มากพอแล้วในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ซึ่งการทำงานของเราอยากให้เวลาสั้นที่สุด ซึ่งตนก็รู้ว่าปัญหาซับซ้อนเพราะมีหลายสาเหตุ แต่ก็เชื่อมั่นว่า พล.อ.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ หัวหน้าคณะฯรู้ปัญหาดีที่สุด และส่วนตัวเชื่อมั่นว่าเราในฐานะผู้อำนวยความสะดวกจะใช้เวลา 2 ปี ในการผลักดันขบวนการสันติภาพแก้ไขปัญหาความในสงบฯ ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ลงได้.