การท่าเรือแห่งประเทศไทย ได้ประกาศรับสมัครบุคคลเพื่อรับการคัดเลือกเข้าดำรงตำแหน่ง ผอ.การท่าเรือ โดยประกาศให้ผู้สนใจสามารถแสดงความประสงค์ได้ตั้งแต่วันที่ 16 ส.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งก่อนหน้านี้ การท่าเรือ ได้เปิดรับสมัคร ผอ.การท่าเรือระหว่างวันที่ 13 มี.ค.-11 เม.ย. มาครั้งหนึ่งแล้ว ปรากฏว่ามีผู้มาสมัครเพียง 3 คน คณะกรรมการบอร์ด กทท. พิจารณาแล้วยังไม่มีผู้ที่ผ่านเกณฑ์ข้อกำหนด จึงมีมติให้เปิดการดำเนินการสรรหาใหม่

โดยกำหนดคุณสมบัติจะต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามตาม พ.ร.บ.คุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2518 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.การท่าเรือแห่งประเทศไทย พ.ศ.2494 เช่น ต้องมีสัญชาติไทย สำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าระดับปริญญาตรี อายุไม่เกิน 58 ปี ในวันที่ยื่นสมัคร มีวิสัยทัศน์ในการบริหารองค์กรขนาดใหญ่ มีประสบการณ์มาไม่น้อยกว่า 1 ปี

กรณีที่เคยเป็น ผู้บริหารภาคเอกชน ต้องดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่า รองผู้บริหารสูงสุดขององค์กร ที่มีรายได้ไม่ต่ำกว่า 3,000 ล้านบาทต่อปี หรือกรณีเป็นข้าราชการจะต้องดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่า รองอธิบดีหรือเทียบเท่า กรณีที่เป็นพนักงานหรือลูกจ้างรัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงานอื่นของรัฐ ต้องดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าระดับรองผู้บริหารสูงสุดขององค์กร

แต่ปรากฏว่าเมื่อวันที่ 28 พ.ย.ที่ผ่านมา คณะกรรมการสรรหา ผอ.การท่าเรือ ที่มีรองปลัดกระทรวงคมนาคม กฤชเทพ สิมลี เป็นประธาน นัดประชุมเพื่อกำหนดค่าตอบแทนให้ผู้ที่ผ่านการสรรหาเป็น ผอ.การท่าเรือ ที่คาดว่าการสรรหาได้ เรือโท กมลศักดิ์ พรหม-ประยูร รอง ผอ.สายบริหารสินทรัพย์และพัฒนาธุรกิจ การท่าเรือ เป็น ผอ.คนใหม่

ก่อนหน้านี้มีกระแสข่าวการคัดค้าน ว่าที่ ผอ.การท่าเรือคนใหม่ ทั้งเรื่องการบริหารงานและความขัดแย้งกับผู้บริหารโครงการอีอีซี จนทำให้การทำงานไม่ราบรื่น

...

นอกจากนี้ยังถูกครหาเรื่องส่วนตัวในเชิง การใช้อำนาจบริหารทับซ้อน กลายเป็นแรงกดดันไปถึง รมว.คมนาคม อาคม เติมพิทยาไพสิฐ และพรรคการเมืองซีกรัฐบาล

มีโครงการที่สำคัญของการท่าเรือแห่งประเทศไทยที่ถูกจับตาอย่างใกล้ชิด อาทิ การเปิดประมูลท่าเทียบเรือภายในประเทศ โรงพักสินค้า 1-2 ท่าเรือกรุงเทพ ที่จะมีกำหนดเปิดประมูลในปีหน้า

ทั้งนี้เพราะมีเอกชนบางรายดำเนินธุรกิจด้านโลจิสติกส์ และคลังสินค้า มีประวัติถูกแบล็กลิสต์จากหน่วยงานราชการ มาแล้ว แต่พยายามที่จะเข้ามามีพื้นที่ในการแสวงหาประโยชน์ในการบริหารงานของท่าเรือกรุงเทพ

ที่ผ่านมาท่าเทียบเรืออยู่ภายใต้การบริหารของการท่าเรือโดยตรง ถ้าเปิดช่องทางให้เอกชนเข้ามาบริหารจัดการ อย่างไม่โปร่งใส อาจจะมีผลกระทบกับชื่อเสียงของการท่าเรือแห่งประเทศไทยได้

ในเวลาเดียวกันรัฐบาลมีนโยบายนำประเทศเข้าสู่ยุค 4.0 เป็นยุคของเศรษฐกิจดิจิทัลที่ต้องการความโปร่งใสและตรวจสอบได้ การสรรหาผู้บริหารในหน่วยงานรัฐหรือรัฐวิสาหกิจ ควรจะโปร่งใสและตรวจสอบได้ด้วยเช่นกัน.

หมัดเหล็ก
mudlek@thairath.co.th