250 เสียง ฝ่ามือ คสช.
ระหว่างนี้ยังอยู่ในกระบวนสรรหาวุฒิสมาชิกที่แยกออกมาเป็น 2 ส่วนตามที่บทเฉพาะกาลได้กำหนดไว้
มีเวลาทำงาน 5 ปีเต็มๆ ยาวนานพอสมควร
ที่มาก็จะอยู่ 2 รูปแบบ คือ การเลือกกันเองของ 10 กลุ่มอาชีพทั่วประเทศให้เหลือ 200 คน และส่งให้ คสช.ตัดสินให้เป็น ส.ว. จำนวน 50 คน
อีกส่วนหนึ่งมีตำแหน่งทางราชการทหาร-ตำรวจ หรือพูดง่ายๆ คือ 4 เหล่าทัพ ไล่ตั้งแต่ปลัดกระทรวงกลาโหม ผบ.สูงสุด ผบ.ทบ. ผบ.ทร. ผบ.ทอ. และ ผบ.ตร.
ทั้งหมด 6 เก้าอี้เป็น “กองหนุน”...ที่มีศักยภาพนั่งอยู่ในสภาด้วย
ที่เหลือ 194 เก้าอี้จะมีการตั้งกรรมการสรรหาจะไปดำเนินการแล้วเลือกออกมา 400 ชื่อ เพื่อให้ คสช.เลือกออกมา
เป็น 250 ส.ว. ซึ่ง คสช.จะต้องคุมสภาพให้ได้ เพราะทุกเสียงล้วนมีค่ามีความหมายหากคนของ คสช.ได้เข้าไปกุมอำนาจรัฐอย่างต่อเนื่อง
แต่จำนวน 250 ส.ว.นั้นแม้จะไม่มีอำนาจในการเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมืองในประเด็นสำคัญไม่ว่าจะเป็นการพิจารณางบประมาณ การเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล
อาจจะเป็นเพราะตอนเขียนรัฐธรรมนูญไม่ได้มองเห็นถึงประเด็นนี้ เพราะน่าจะมั่นใจเสียงสนับสนุนน่าจะขาดลอยทำให้มีเสถียรภาพไม่จำเป็นต้องให้ ส.ว. เข้ามาช่วยในด้านการบริหาร
หรือเมื่อผ่านไปแล้วจะกลับมาแก้ไขในประเด็นใหญ่อย่างนี้อาจจะเกิดความยุ่งยาก ถูกโจมตีเป็นประเด็นใหญ่โตขึ้นมาได้
ลำพังการให้มี ส.ว.โดยผ่านการแต่งตั้งของ คสช. เป็น “สภาลากตั้ง” ก็ส่อเค้าแล้วว่าไม่ใช่ประชาธิปไตย ไม่ใช่การปฏิรูปการเมือง
หากยังให้อำนาจเข้ามายุ่มย่ามในการบริหารก็ยิ่งไปกันใหญ่
ว่าไปแล้วทั้งในรัฐธรรมนูญและกฎกติกาต่างๆดูเหมือนจะควบคุมนักการเมืองที่จะเข้ามาบริหารประเทศก็ถือว่า “ปิดล้อม” เอาไว้เกือบทุกด้านอยู่แล้ว
ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีว่าไปแล้วก็มีมุมมองในแง่บวกและแง่ลบอยู่ในตัวของมันเองดีอยู่แล้ว คือมีทั้งเห็นด้วยว่าควรจะมีมานานแล้ว
แต่นักการเมืองมองว่าเป็นไปไม่ได้ในเมื่อสังคมโลกมันเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา หากกำหนดให้มียุทธศาสตร์ชาติถึง 20 ปี ถือว่าเป็นเชยบรมทำนองนั้น
รัฐบาลต่อจากนี้ไปจะต้องบริหารประเทศภายใต้กรอบยุทธศาสตร์ชาติอย่างเคร่งครัด ถ้าไม่ปฏิบัติก็มีสิทธิถูกลงโทษด้วย
จะมีวุฒิสภาซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบเรื่องนี้ด้วย
หากจะสรุปกันเรื่องนี้มีหลายประเด็นในกติกาใหม่นั้น มีการตั้งข้อสังเกตว่าจะทำให้เกิดปัญหาในการบริหารประเทศไม่ว่าจะพรรคการเมืองไหนเป็นรัฐบาลก็ตาม
ต่อให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้กลับมาเป็นนายกฯหลังเลือกตั้งก็จะไปไม่ได้ เพราะกติกาใหม่ๆล้วนมีความยุ่งยาก ขับเคลื่อนงานภายใต้กฎระเบียบซึ่งปฏิบัติได้ยาก
ดีไม่ดีเข้าไปก็ต้องแก้ไขกติกาเหล่านี้
คงไม่ต้องแปลกใจว่า 250 วุฒิสมาชิกภายใต้หัวโขน คสช. ย่อมมาจากสัดส่วนที่จะทำให้มีการควบคุมเป็นไปได้ง่าย
วันนี้มีความพยายามจากผู้หวังตำแหน่ง ส.ว.เริ่มปฏิบัติการต่างๆเพื่อให้เข้าตาผู้มีอำนาจในการแต่งตั้ง แต่เชื่อว่าน่าจะกระจายตัวไปถึงตัวแทนพรรคการเมืองที่เป็น “กองหนุน” ด้วย
ดีลการเมืองคราวนี้มีออปชันให้เลือกเพียบเลย...ว่างั้นเถอะ.