การเดินทางมาเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการของ มหาธีร์ โมฮัมหมัด นายกฯมาเลเซีย ข้อใหญ่ใจความที่จะมีการหารือกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นอกจากความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศแล้ว ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดภาคใต้ ก็คงหนีไม่พ้นที่จะพูดคุยกัน
ประเด็นก็คือว่า มหาธีร์ ไม่ได้มาคนเดียวแต่มี อับดุล ราฮิมนอร์ ผอ.ความสะดวกในการพูดจาสันติสุขระหว่างผู้แทนรัฐบาลไทยกับกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบมาร่วมเจรจาด้วย เป็นที่ทราบกันดีว่า รัฐบาลมาเลเซีย เองรับเป็นตัวกลางในการพูดคุยสันติสุขมาหลายรัฐบาลจนถึงปัจจุบัน รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ มีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนหัวหน้าชุดเจรจาฝ่ายไทยพอดี จึงถือ โอกาสพูดคุยกันเพื่อแก้ปัญหาให้ถูกที่คันมากขึ้น
นอกจากภาครัฐแล้ว องค์กรอิสลามกลาง ก็มีส่วนสำคัญในการเจรจาสันติสุข ยกตัวอย่างที่ผ่านมา พิเชษฐ สถิรชวาล อดีตเลขาธิการคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ปัจจุบันมีตำแหน่งเป็นหัวหน้าพรรคประชาธรรมไทย เคยแสดงความเห็นเอาไว้ว่า ในขณะที่ดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการกลางอิสลาม ได้รับความเห็นชอบจาก พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผบ.ทบ.ขณะนั้น เดินทางไปกับทีมงานคณะกรรมการกลางเข้าหารือกับตัวแทนรัฐบาลมาเลเซียถึง 3 ครั้งด้วยกัน
ขณะนั้นมีอดีตนายกฯ บันดาวี ของมาเลเซีย ซึ่งมีตำแหน่ง ประธานองค์การอิสลามสากล หรือ OIC อยู่ด้วย
สรุปปัญหาของภาคใต้มาจาก เรื่องของการศึกษา และ ปากท้องชาวบ้าน โดยรัฐบาลมาเลเซียเวลานั้นได้ตอบรับที่จะ สนับสนุนจัดสรรงบประมาณ จำนวน 5,000 ล้านบาทจาก OIC เพื่อนำมาใช้แก้ปัญหาดังกล่าว แต่การประชุมต้องยุติลง เดินต่อไม่ได้ เนื่องจากปัญหาภายในของเราเอง
ปัญหาภายในที่ว่านี้ เกิดขึ้นจากหลายฝ่าย อาทิ การเมืองในพื้นที่ ข้าราชการในพื้นที่ รวมทั้งเรื่องของผลประโยชน์บางอย่าง พยายามที่จะต่อต้านคัดค้านการเจรจาสันติสุขในภาคใต้
...
นอกจากนี้ พิเชษฐ ยังเปิดเผยด้วยว่า ต่อมา 1 ใน 3 คณะที่ไปร่วมเจรจาเสียชีวิตลง ตัวเองก็ถูกเตือนไม่ให้เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับปัญหาดังกล่าว ซึ่งโดยส่วนตัวได้มีแนวทางที่จะแก้ไขเอาไว้หลายช่องทางด้วยกัน อาทิ การขอความร่วมมือจากรัฐบาลต่างๆที่มีองค์กรอิสลามอยู่ เช่น รัฐบาลซาอุดีอาระเบีย ซึ่งมีการพูดกันอย่างไม่เป็นทางการ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเศรษฐกิจ การลงทุนและการศึกษา ภายหลังจากที่มีการเลือกตั้งแล้วจะมีการเจรจากันอีกครั้ง
โดยรวมแล้วปัญหาความไม่สงบในภาคใต้ ไม่ใช่ไม่มีทางแก้ไขเลย แต่เนื่องจากเป็นปัญหาที่ละเอียดอ่อนและเต็มไปด้วยผลประโยชน์ ทำให้การแก้ไขปัญหาขาดประสิทธิภาพและความต่อเนื่อง การเอาทหารลงไปแบกปืนล่อเป้าก็ไม่ใช่วิธีแก้ปัญหา การทุ่มเทงบประมาณปีละเป็นหมื่นล้านลงไปก็ใช่การแก้ปัญหายิ่งปล่อยให้ปัญหายืดเยื้อนอกจากจะกลายเป็นแหล่งผลประโยชน์ยังจะทำให้เชื้อโรคดื้อยาอีกด้วย.
หมัดเหล็ก
mudlek@thairath.co.th