ผู้คนในกลุ่มการเมืองที่ถูกนิยามว่า “เลือดสีน้ำเงิน” เคลื่อนไหวระหว่างการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 มีภาพร่างให้เห็นเค้าหน้าอยู่ในหนังสือ เลือดสีน้ำเงิน ซ้ายไม่จริง ขวาไม่แท้ และประชาธิปไตยในอุดมคติ (สำนักพิมพ์มติชน พ.ศ.2561)
สอ เสถบุตร ร.ท.จงกล ไกรฤกษ์ ม.จ.สิทธิพร กฤดากร พระยาศราภัยพิพัฒ (เลื่อน ศราภัยวานิช) และ ม.ร.ว.นิมิตมงคล นวรัตน์
หลังกบฏบวรเดช มีประเด็นสำคัญของการต่อสู้ทางความคิด ของ สอ เสถบุตร ให้ความหมายถึงการที่คณะราษฎรกำหนด “บทเฉพาะกาล” ในรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2475 ว่า
“เป็นปฏิปักษ์ต่อประชาธิปไตย”
ข้อโต้แย้งคล้ายกันนี้ ที่จริงได้เกิดขึ้นตั้งแต่การประชุมร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับ พ.ศ.2475 นายซิม วีระไวทยะ ยื่นญัตติควรเลิกบทเฉพาะกาล เพราะเห็นว่าสมาชิกประเภทที่ 2 นั้น มีผู้เข้าใจผิดคิดว่า คณะราษฎรจะแย่งอำนาจ
นายซิม เสนอให้ที่ประชุมสภาวินิจฉัยว่า ควรแล้วหรือยัง ที่จะให้ราษฎรเลือกผู้แทนเองทั้งหมด ถ้าเป็นการสมควร ก็ควรเลิกบทเฉพาะกาล
ข้อเสนอนี้ ปรีดี พนมยงค์ ชี้แจงในสภาว่า มีความจำเป็นที่จะต้องมีสภาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 ไว้กึ่งหนึ่งในสภา เพื่อช่วยเหลือผู้แทนราษฎร
เหมือนพี่เลี้ยงที่จะช่วยประคับประคองงาน ให้ดำเนินไปตามความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญ
“ยังมีราษฎรอีกเป็นจำนวนมาก ที่ยังไม่ได้รับการศึกษา เพียงพอที่จะจัดการปกครองป้องกันผลประโยชน์ของตนเองได้บริบูรณ์ ถ้าขืนปล่อยมือให้ราษฎรเลือกผู้แทนโดยลำพังเองในเวลานี้แล้ว ผลร้ายจะตกอยู่แก่ราษฎรเอง”
ผลพวงของบทเฉพาะกาลเป็นเงื่อนไขให้ถูกโจมตี ระบบการเมืองไทยภายหลังปฏิวัติปี 2475 ไม่เป็นประชาธิปไตย ทำให้ ปรีดี พนมยงค์ ต้องยอมรับ จะเลิกบทเฉพาะกาลภายใน 10 ปี
...
อาจกล่าวได้ วาทกรรมที่ว่า ประชาชนยังไม่พร้อม สำหรับระบอบประชาธิปไตย เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตั้งแต่สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์
และยังได้รับการผลิตซ้ำ จากชนชั้นนำหลายฝ่าย
หลังปฏิวัติปี 2475 ไม่นาน มีรายงานจากสำนักโฆษณาการ จากเจ้าหน้าที่แผนกปาฐกถาซึ่งแสดงทางภาคอีสาน ว่า
ราษฎรที่มาฟังปาฐกถา ส่วนมากยังโง่เขลา บางคนไม่เคยเห็นรูปร่างรัฐธรรมนูญ
ทั้งนี้ มิใช่ว่าเขาจะไม่นิยมการปกครองแบบรัฐธรรมนูญแต่เพราะเขาไม่นำพา โดยที่ไม่เข้าใจว่าเกี่ยวข้องกับตัวเขาอย่างไร นั่นเอง
ปฐมาวดี วิเชียรนิตย์ ตั้งข้อสังเกต การที่สอ เสถบุตร โจมตีเรื่องบทเฉพาะกาลไม่เป็นประชาธิปไตย เพราะไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนเลือกผู้แทนได้จนกว่าจะครบ 10 ปี
น่าจะเป็นข้ออ้างเพื่อโจมตีรัฐบาลคณะราษฎรมากกว่า ที่จะเห็นว่า ประชาชนมีความพร้อมแล้ว ที่จะเลือกผู้แทนราษฎรทั้งหมด โดยไม่จำเป็นต้องมีการแต่งตั้ง
ผมอ่านหนังสือ เลือดสีน้ำเงิน ซ้ายไม่จริง ขวาไม่แท้ มาถึงตรงนี้แล้ว ก็ต้องทำความเข้าใจ
การเมืองไทย เถียงกันเรื่องบทเฉพาะกาล 10 ปี รัฐบาลคณะราษฎร ตั้งแต่ปี 2475 มาถึงรัฐบาล คสช. 85 ปีแล้ว เราก็ยังเถียงกัน เรื่องแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี...ต่อ
คงเป็นอย่างที่คนกรมโฆษณาการสมัยนั้นว่า คนไทยเรายังโง่ รัฐธรรมนูญหน้าตาเป็นไงยังไม่รู้จัก.
กิเลน ประลองเชิง