พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญา พ.ศ. 2560 เป็นเรื่องใหม่ที่เกี่ยวข้องกับ การสนับสนุนระบบการผลิต การบริการทางการเกษตร ระหว่าง ผู้ประกอบธุรกิจทางการเกษตร และ ผู้ประกอบอาชีพเกษตรกร ตั้งแต่ 10 รายขึ้นไป อาทิ สหกรณ์การเกษตร หรือวิสาหกิจชุมชน ที่มีเงื่อนไขการผลิต จำหน่าย หรือรับจ้างผลิตหรือการบริการทางการเกษตร ตามจำนวน ราคา และระยะเวลาที่กำหนดไว้ โดยที่ผู้ประกอบการจะกำหนดมาตรฐานสินค้าและตกลงจะซื้อผลิตผล พร้อมจ่ายค่าตอบแทนตามที่ทำสัญญาไว้เช่นกัน

กฎหมายดังกล่าวสอดคล้องตามนโยบาย ตลาดนำการผลิต ของ กระทรวงเกษตรฯ ที่จะช่วยลดความเสี่ยงและสร้างโอกาสให้เกษตรกรได้พัฒนาองค์ความรู้ด้านการผลิตและเทคโนโลยีสมัยใหม่จากผู้ประกอบการที่ร่วมทำสัญญาเพื่อนำมาเสริมสร้างคุณภาพของสินค้าให้ได้มาตรฐานตรงกับความต้องการของตลาดต่อไป

เพราะฉะนั้น เมื่อกฎหมายฉบับนี้มีผลใช้บังคับก็จะเกิดประโยชน์กับเกษตรกรโดยตรง ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม เกษตรกรมีโอกาสในอาชีพ และเปลี่ยนให้รูปแบบการค้าที่ จะต้องพึ่งพาซึ่งกันและกัน ระหว่างเกษตรกรกับผู้ประกอบการ

อันที่จริงกฎหมายฉบับนี้ประกาศใช้มาตั้งแต่วันที่ 23 ก.ย.ปี 2560 มีการแถลงความคืบหน้าจาก พีรพันธ์ คอทอง ผช.ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ไปเมื่อเร็วๆนี้ ถึงความคืบหน้าในการบังคับใช้กฎหมาย โดยปัจจุบัน มีบริษัทผู้ประกอบการภาคการเกษตรที่ใช้ระบบเกษตรพันธสัญญา แล้วถึง 187 บริษัท มีพันธสัญญากับเกษตรกรทั้งด้านพืชผลการเกษตร ปศุสัตว์ และสัตว์น้ำ

ที่ต้องทำความเข้าใจคือ กฎหมายไม่ได้มีเจตนาเพื่อป้องกันไม่ให้เกษตรกรถูกเอาเปรียบเท่านั้น แต่เป็นการ สร้างหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ ที่จะต้องช่วยกันทำงานให้สำเร็จตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ โดยต้องให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายด้วย ยกตัวอย่างใน สหรัฐฯ ที่ใช้กฎหมายทำนองนี้ มีทั้งกรณีที่เกษตรกรฟ้องร้องผู้ประกอบการ และผู้ประกอบการฟ้องร้องเกษตรกรในการไม่ปฏิบัติตามสัญญา ถือว่าเป็นธรรมกับทั้งสองฝ่าย

...

จุดเด่นของกฎหมายฉบับนี้คือการบังคับให้ผู้ประกอบการต้องออกหนังสือชี้ชวนให้เกษตรกรเข้ามาทำสัญญา ซึ่งไม่ต่างจากโบรชัวร์ขายบ้านที่สามารถนำมาใช้เป็นหลักฐานฟ้องร้องหากมีการละเมิดสัญญา และผู้ประกอบการจะต้องส่งหนังสือชี้ชวนมาที่สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรฯ เป็นการยืนยันความชัดเจนด้วย

ตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมนำไปสู่ความสำเร็จของกฎหมายฉบับนี้ เช่น บริษัท เป๊ปซี่-โคล่า ผู้ผลิตมันฝรั่งเลย์ ที่ทำพันธสัญญากับผู้ปลูกมันฝรั่งใน อ.สันทราย จ.เชียงใหม่ ส่งผลให้เกษตรกรสร้างผลผลิตเพิ่มขึ้นจาก 2-3 ตันต่อไร่ เป็น 5 ตันต่อไร่ หรือ ซีพีเอฟ ที่สามารถยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรกว่า 5 พันรายจากการเข้าร่วมโครงการจนได้รับการยกย่องจากองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาติ

การพัฒนาภาคการเกษตรของประเทศคือหัวใจการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ถ้าเกษตรกรไทยเข้มแข็ง มั่นคงและยั่งยืนมากแค่ไหน เศรษฐกิจประเทศไทยก็จะมั่งคั่ง มั่นคงและยั่งยืนมากขึ้นเท่านั้น.

หมัดเหล็ก
mudlek@thairath.co.th