ราษฎรทั้งประเทศ 66,353,911 คน ผู้มีสิทธิเลือกตั้งประมาณการ 51 ล้านคน
“ตั้งเป้าให้ออกมาใช้สิทธิเลือกตั้ง 80 เปอร์เซ็นต์” นายอิทธิพร บุญประคอง ประธานคณะกรรมการการเลือก (กกต.) เปิดใจให้สัมภาษณ์ถึงเป้าหมายของ กกต.
ขณะนี้ กกต.แต่ละท่านตั้งใจทำงานเต็มที่ โดยใช้เวลาทั้งหมดมุ่งเน้นเตรียมการเลือกตั้ง
ทั้งการเลือกสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) และการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.)
ทุกคนดีใจได้เข้ามาทำงาน บรรยากาศเป็นไปด้วยดี
ตั้งใจอย่างยิ่งให้ผลการเลือกตั้งออกมาดีที่สุด
กรรมการ กกต. กติกาการเลือกตั้งใหม่หมด และไม่มีการเลือกตั้งมาหลายปี มีความหนักใจอย่างไรบ้าง นายอิทธิพร บอกว่า มันเกิดขึ้นตั้งแต่วันแรกที่เข้ามาทำงาน แต่ส่วนตัวหนักใจไม่ได้ ไม่มีเวลาให้หนักใจ เมื่อรับตำแหน่งก็ต้องรีบทำงานให้เสร็จสิ้นตามกรอบเวลา โดยออกระเบียบต่างๆ และมุ่งเน้นพยายามทำงานให้มากที่สุด
แม้ กกต.ใหม่หมด แต่มีประสบการณ์หลากหลาย กรรมการ กกต.บางท่านเป็นอดีตผู้ว่าราชการจังหวัด (ผวจ.) คุ้นเคยกับการเลือกตั้งมาระดับหนึ่ง และยังมีสำนักงาน กกต. ผ่านประสบการณ์จัดการเลือกตั้งมาหลายครั้ง สิ่งเหล่านี้จะเป็นประโยชน์ต่อการจัดการเลือกตั้งให้ดีที่สุด
บุคลากรในสำนักงาน กกต.มาจากหลากหลายองค์กร วัฒนธรรมการทำงานต่างกัน อาจก่อให้เกิดอุปสรรคต่อการทำงานหรือการประสานงานของ กกต.ได้ นายอิทธิพร บอกว่า ที่ผ่านมายังไม่รู้สึกถึงความยากลำบากในการประสานงานกับสำนักงาน กกต. เพราะ กกต.ให้เกียรติและรับฟังข้อเสนอแนะของผู้บริหารสำนักงาน กกต.
เราพูดคุยทุกเรื่อง ทำให้ต่างฝ่ายรู้สึกเข้าใจวิธีการทำงานกันมากขึ้น แม้เป็นระยะเวลาอันสั้น
แต่การประชุมทุกครั้งใช้ระยะเวลานาน ทำให้มีความรู้สึกดีที่จะทำงานร่วมกัน ค่อนข้างน่าพอใจ
...
บรรยากาศการทำงานคึกคัก สนุกสนาน ทุกคนอยากทำงานร่วมมือกัน เพื่อให้การเลือกตั้งซึ่งไม่เกิดขึ้นมาหลายปีประสบความสำเร็จให้ได้มากที่สุด
ความท้าทายคือกฎกติกาใหม่ เราต้องมั่นใจในฐานะผู้ปฏิบัติ เข้าใจถ่องแท้และปฏิบัติได้ชัดเจน
และจะทำอย่างไรให้พรรคการเมืองเดิม พรรคการเมืองตั้งใหม่ ประชาชนผู้ใช้สิทธิ เข้าใจกฎกติกาใหม่ๆแล้วโอกาสผิดพลาดโดยไม่ตั้งใจก็จะน้อยลง
กกต.ชุดที่แล้วก็ได้ดำเนินการการมีส่วนร่วมของประชาชนและภาคประชาสังคมไว้ค่อนข้างเยอะ ทั้งการปลูกฝังความรู้การปกครองในระบอบประชาธิปไตยและหน้าที่พลเมือง ผ่านศูนย์ศึกษาประชาธิปไตยระดับตำบลทั่วประเทศ ผู้ผ่านการอบรมก็จะไปอธิบายกฎเกณฑ์การเลือกตั้งให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับทราบ
เรายังมีเครือข่ายกลุ่มดีเจชุมชน ให้ความร่วมมือกระจายข่าวการเลือกตั้ง เครือข่ายเอ็นจีโอ 140 กว่าองค์กรที่ขึ้นทะเบียนไว้กับ กกต. ผ่านการฝึกอบรมให้ทำหน้าที่สังเกตการเลือกตั้ง มีโครงการหมู่บ้านไม่ซื้อสิทธิขายเสียงนำร่องไปกว่า 2,500 หมู่บ้าน ปี 2562 ตั้งเป้าให้มีมากกว่า 7,000 หมู่บ้าน
รวมถึงมีเครือข่ายสร้างความรู้ความเข้าใจ “วิธีกาบัตรหนึ่งใบ” เสียงหนึ่งเสียงมีความหมาย คุ้มค่ากับการออกมาโหวตเลือกตั้ง ทั้งหมดมีส่วนผลักดันให้ประชาชนออกมาใช้สิทธิเลือกตั้ง
ส่วนราชการก็มีความสำคัญ เช่น กระทรวงมหาดไทยเคยจัดการเลือกตั้งมาก่อน เหมือนเป็นอาจารย์ใหญ่ของเรา เมื่อไม่ได้ทำโดยตรงก็ให้ความร่วมมืออย่างดี โดยเตรียมการเลือกตั้ง ส.ส.และ ส.ว. ประชุมร่วมกับ ผวจ.และนายอำเภอทั่วประเทศ ประสาน ผวจ.และนายอำเภอประชาสัมพันธ์กฎเกณฑ์ต่างๆตามช่องทางของกระทรวงมหาดไทย เพื่อให้ประชาชนเข้าใจกติกาการเลือกตั้งมากยิ่งขึ้น
เท่าที่สัมผัสพบว่าประชาชนตื่นตัวไปใช้สิทธิมากน้อยแค่ไหน นายอิทธิพร บอกว่า ผมรู้สึกเช่นนั้น เพราะมีโอกาสลงพื้นที่ ต.เกษม อ.ตระการพืชผล จ.อุบลราชธานี พบกำนันตำบลเกษม ซึ่งได้รับรางวัลชุมชนเข้มแข็ง
ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับ กกต. กำนันคนนี้ประกาศว่า ต.เกษม ประกาศเป็นหมู่บ้านไม่ซื้อสิทธิขายเสียง
ทำให้ผมรู้สึกว่าหากขยายไปยังพื้นที่อื่นได้เรื่อยๆ จะเป็นเรื่องที่ดี เมื่อไม่คิดซื้อสิทธิขายเสียง ก็หวังได้ว่าผู้มีสิทธิจะออกไปเลือกตั้งเป็นจำนวนมาก หากทำสำเร็จ อีกหน่อยประชาธิปไตยจะเข้มแข็ง
ทีมข่าวการเมือง ถาม ระบบหัวคะแนนของบางพรรคการเมืองยังไม่ออกอาวุธ ถึงเวลานั้นจะจัดการอย่างไร นายอิทธิพรบอกว่า เรามีแนวคิดปลูกฝังความรู้ว่า “หนึ่งเสียงมีความหมาย” หัวคะแนนพาไปเที่ยว ไปเปิดหูเปิดตาเป็นเรื่องที่ดี แต่ถ้ากลับมาใช้สิทธิเลือกผู้สมัคร ส.ส.คนนั้น ก็จะไม่เป็นประโยชน์ต่อสังคมและผู้ใช้สิทธิเอง
ขณะเดียวกันมีกฎหมายกำหนดให้เงินรางวัลผู้ให้เบาะแสการทุจริตเลือกตั้ง
เงินรางวัลสูงกว่าที่เขาใช้ซื้อสิทธิ เป็นแรงจูงใจให้คนทำในสิ่งที่ถูกต้อง
มีกฎหมายคุ้มครองผู้ให้เบาะแส หากใครทำผิดแล้วกลับใจ ยังมีมาตรการกันบุคคลเป็นพยานอีกด้วย
มาตรการป้องกันและปราบปรามการทุจริตเหล่านี้ เพื่อให้การเลือกตั้งบริสุทธิ์ ยุติธรรม โปร่งใส
หากใครสงสัยประเด็นกฎหมายใดๆ สามารถสอบถาม กกต.ได้ที่ ฮอตไลน์ 0-2141-8888 และขณะนี้กำลังเร่งขอเบอร์ฮอตไลน์ 4 ตัว เพื่อให้ทันต่อการเลือกตั้งครั้งนี้
จะนำประสบการณ์ระหว่างเป็นเอกอัครราชทูต มาปรับใช้ในการเลือกตั้งของไทยอย่างไร นายอิทธิพร บอกว่า ระหว่างเป็นเอกอัครราชทูต ณ กรุงไนโรบี สาธารณรัฐเคนยา การเลือกตั้งใหญ่ 1 วันมีการเลือกตั้ง 6 ประเภท อาทิ ส.ว. ส.ส. เห็นภาพแล้วชื่นใจ มีประชาชนเข้าแถวต่อคิวยาวเหยียดไปใช้สิทธิเลือกตั้ง
เป็นภาพประชาธิปไตยที่ดี คิดว่าจะนำมาใช้ในประเทศไทยได้หรือไม่
จะสร้างความสับสนหรือไม่ อะไรที่ทำให้การเลือกตั้งดีขึ้นก็ควรเอามา
ปัญหาเฟคนิวส์ (Fake news) ในช่วงเลือกตั้งจะรับมืออย่างไร เพราะอาจจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกระทบต่อผลการเลือกตั้งได้ นายอิทธิพร บอกว่า ยากมาก เหมือนคนจ้องจะทำและคนที่ต้องตามแก้
เจ้าหน้าที่ของ กกต.ก็ต้องตื่นตัวทั้งข่าวด้านลบและบวก มีข่าวเกี่ยวข้องก็ต้องชี้แจงได้ตามสถานการณ์
เห็นได้จากผลการเลือกตั้งสหรัฐอเมริกา มาเลเซีย กัมพูชา มาแล้ว กกต.จะตั้งวอร์รูมไซเบอร์ขึ้นมาดูแลอย่างไร นายอิทธิพร บอกว่า ร่างระเบียบหาเสียงทางอิเล็กทรอนิกส์อาจจะเสนอต่อที่ประชุม กกต.สัปดาห์นี้
หลักสำคัญ ไม่ได้ห้ามหาเสียงผ่านโซเชียลมีเดีย แต่อยากให้หาเสียงเป็นระเบียบเรียบร้อย อย่าใส่ร้ายใคร เพื่อให้พรรคการเมืองมั่นใจจะใช้รูปแบบเดียวกันหาเสียง
ส่วนวอร์รูมตั้งขึ้นเพื่อเชื่อมโยงข้อมูลการนับคะแนน ข้อมูลป้องกันการทุจริตเลือกตั้ง โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามา เพื่อตรวจสอบเรื่องเร่งด่วน และยังมีการวางระบบป้องกันสถานการณ์ที่ไม่คาดคิดไว้พร้อมสรรพ
ทีมข่าวการเมือง ถามว่า กกต.ถูกจับตาตั้งแต่ในชั้นสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ให้ความเห็นชอบว่า คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) สั่งได้ ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร นายอิทธิพร บอกว่า กระบวนการทุกอย่างเป็นไปตามกฎหมายและรัฐธรรมนูญ
แล้วผู้ใดก็ตามมารับหน้าที่ กกต. เช่น ผมมีหลักการทำงานตั้งแต่สมัยเป็นราชการ ในการสร้างความเชื่อมั่นต่อสังคม ต้องทำให้มากที่สุด ทำดีที่สุด ไม่หนี ไม่ถอย ล้มแล้วลุกขึ้นมาทำใหม่ จิตสำนึกต้องทำเพื่อส่วนรวม เพื่อประชาชน รับใช้ประชาชน
ผมเติบโตมาจากครอบครัวกระทรวงมหาดไทย พบเห็นตั้งแต่เด็ก ผู้ที่เป็นนายอำเภอ ปลัดจังหวัด ผวจ. ต้องทำให้ประชาชน
พอเป็น กกต.ไม่ว่าจะถูกเฝ้ามองด้วยสายตาอย่างไร ผมต้องทำงานตามกฎหมาย รัฐธรรมนูญและหลักนิติธรรม เพื่อผลประโยชน์ของประเทศและความผาสุกของประชาชน ทั้งหมดอยู่ในจิตสำนึก มีความรับผิดชอบสูง กล้าหาญในการปฏิบัติหน้าที่ ไม่ได้ห้ามให้เรากลัว เรากลัวได้ แต่ต้องกล้าหาญโดยยกความกลัวออกไป
มีพฤติกรรมที่ดีต่อสังคม ไม่มีพฤติการณ์ยอมตนอยู่ภายใต้อาณัติของพรรคการเมืองใดหรือผู้ใด
ทีมข่าวการเมือง ถามว่า พรรคพลังประชารัฐถูกมองว่าเป็นพรรคต่อท่ออำนาจ คสช. กกต.ยิ่งถูกจับตามากยิ่งขึ้นถึงการใช้อำนาจ นายอิทธิพร บอกว่า...
...ทราบและตระหนักดี ผมไม่เข้าข้างใคร ถ้าเข้าข้างใครยุ่งแน่ความเป็นมนุษย์ปุถุชน ถ้าไม่เข้าข้างใคร คนอื่นก็ย่อมไม่ชอบ โดยเฉพาะคนที่อยากให้เราอยู่ข้างเขา ถ้าไม่อยู่ข้างเขาแล้วไปอยู่ข้างคนอื่นเขาก็โกรธสองเท่า
ความเป็นกลาง ความสุจริตจะเป็นเกราะกำบัง ต้องพิสูจน์ให้เห็นกันต่อไป.
ทีมการเมือง