ตามรัฐธรรมนูญบทเฉพาะกาลการทำหน้าที่ของ คสช. หรือ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ จะทำหน้าที่ไปจนกว่า จะมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งโดยสมบูรณ์ เพราะฉะนั้นไม่ว่าในอนาคต พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะอยู่ในสถานะใดก็ตาม ก็ต้องทำหน้าที่เป็น หัวหน้า คสช. ไปจนครบวาระ

จึงไม่ต้องไปตั้งคำถามให้เสียเวลาว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะต้องลาออกจาก ตำแหน่งนายกฯและหัวหน้า คสช. หรือไม่ คำตอบมีอยู่ในตัวอยู่แล้ว ซึ่งล่าสุดได้มี ประกาศ คสช. เรื่องการแต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งในคณะรักษาความสงบแห่งชาติออกมาแล้ว ให้บุคคลดังต่อไปนี้ดำรงตำแหน่งใน คสช.ประกอบด้วย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว เป็นรองหัวหน้า คสช. พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา พล.อ.ณัฐ อินทรเจริญ พล.อ.พรพิพัฒน์ เบญญศรี พล.ร.อ.ลือชัย รุดดิษฐ์ พล.อ.อ.ชัยพฤกษ์ ดิษยะศริน พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา มีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นสมาชิก คสช. โดยมี พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ เป็นเลขาธิการ คสช.

หลังจากมีรัฐบาลชุดใหม่เป็นที่เรียบร้อยแล้วจะเป็นใครก็ตาม แต่ คสช. ที่มีตำแหน่งเป็น ผบ.เหล่าทัพ ก็จะมีชื่อเป็น ส.ว.สรรหาโดยตำแหน่ง ต่อไป อย่างไรเสียก็หนีการเมืองไม่พ้น เช่นเดียวกัน การเมืองก็จะหนีกองทัพไม่พ้น อยู่ดี เพราะฉะนั้นการไปตั้งข้อรังเกียจว่า ทหารไม่ควรจะมายุ่งกับการเมืองอีกแล้วไม่มีประโยชน์แต่อย่างใด

เพียงแต่ว่า ทุกอย่างควรเล่นตามกติกาที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ ก็แล้วกัน หรืออย่างความเห็นของ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายกฯ ที่ออกมาเสนอให้มี รัฐบาลแห่งชาติภายใต้พระราชอำนาจ ก็เช่นกัน ไม่มีเสียงตอบรับ เพราะส่วนใหญ่เห็นว่า การเลือกตั้งที่จะมาถึงทุกอย่างเป็นไปด้วยดี จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องมีรัฐบาลแห่งชาติ เพราะการมีรัฐบาลแห่งชาติขึ้นมาในช่วงนี้ก็ไม่ได้หมายความว่าจะแก้ไขวิกฤติการเมืองอะไรได้สิ่งที่ต้องจับตาต่อไป หรือ ประกาศคำสั่ง คสช. ที่จะเสนอเข้าสู่สภาเพื่อรับรองเป็นกฎหมายและประกาศ และคำสั่งที่ให้มีการยกเลิก เนื่องจากจะมีผลผูกพันกับการบริหารประเทศโดยตรง

...

ซึ่งจะว่าไปแล้วเจตนารมณ์ของ คสช.ที่เป็นหลักการสำคัญถูกบรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญเรียบร้อยแล้ว เช่นยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีเป็นต้น ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลพรรคไหนก็ตามก็ปฏิเสธเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญไม่ได้อยู่ดี

การเมืองไทยวันนี้ ต้องการความสงบเรียบร้อย มาก่อน การหาเสียงคะแนนนิยม นโยบายเป็นส่วนประกอบ เพราะฉะนั้น กองทัพภายใต้การปกครองของรัฐบาลในอนาคต จึงเป็นเรื่องที่ท้าทาย

โดยเฉพาะโฟกัสไปที่กองทัพบกภายใต้การนำของ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ. กับอนาคตการเมืองไทยจะมีทิศทางอย่างไรในหลักการที่ว่า ประเทศต้องสงบเรียบร้อยและมั่นคง ในภาวะการต่อต้านกองทัพจากการเมือง

เป็นความขัดแย้งที่ย้อนแย้ง.


หมัดเหล็ก

mudlek@thairath.co.th