"พรรคอนาคตใหม่" ขีดเส้นชัด ไม่ร่วมงานกับคนหนุน คสช. เหน็บใกล้ถึงวันเลือกตั้งแล้ว เพราะ "พลังประชารัฐ" เปิดตัว ขณะที่ "ธนาธร" ย้ำอีกครั้ง พร้อมเป็นนายกฯ พาประเทศไปสู่การเปลี่ยนแปลง ชูต้าน คสช.สืบทอดอำนาจ-ฉีก รธน.60-ล้มล้างผลพวงรัฐประหาร

เมื่อวันที่ 1 ต.ค.61 นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ พร้อมด้วย นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรค ร่วมแถลงข่าวเปิดตัวพรรคอย่างเป็นทางการ หลังจากที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง มีการมติอนุมัติให้พรรคอนาคตใหม่เป็นพรรคการเมือง

โดย นายปิยบุตร ได้ตอบคำถามสื่อมวลชนตอนหนึ่ง ถึงการเปิดตัว 4 รัฐมนตรีเข้าร่วมงานกับพรรคพลังประชารัฐ ว่า การเลือกตั้งที่จะมาถึง เป็นการเลือกตั้งในสภาพการณ์ที่ไม่ปกติ หัวหน้า คสช.ยังมีอำนาจ ม.44 ใช้ไปจนกว่าจะมีการตั้งรัฐบาลใหม่ ทุกคนที่ตัดสินใจเดินมาสนามการเมืองเส้นทางนี้ อยู่กับความไม่แน่นอน พรรคพลังประชารัฐ ในแง่พรรคการเมืองก็สนับสนุนทุกพรรค ให้ทุกคนตั้งพรรคแต่อยากบอกว่า การปฏิบัติต่อพรรคการเมืองต่างๆ ต้องอยู่ในมาตรฐานเท่าเทียมกัน พรรคไม่สนับสนุนการสืบทอดอำนาจ คสช.ต้องได้รับการปฏิบัติเช่นเดียวกับพรรรคที่สนับสนุนการสืบทอดอำนาจ คสช.ซึ่งคนในพรรคนี้ จะไม่มีใครเข้าไปถือครองอำนาจรัฐ เพื่อประโยชน์ส่วนตัว

นายปิยบุตร กล่าวต่อว่า เมื่อคำนวณเวลาภายใต้การเลือกตั้งที่จะมาถึง ดูแล้วเวลาจะกระชั้นชิดมาก พรรคอนาคตใหม่ต้องรอถึง 97 วัน ถึงจะได้จัดตั้งพรรคการเมือง แต่เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมาพรรคพลังประชารัฐจัดประชุมใหญ่ จากนี้ต้องรอดูว่าจะใช้เวลากี่วันที่ กกต.จะให้การรับรองการจัดตั้งพรรค หากมีการรับรองให้อย่างรวดเร็ว ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่น่ายินดี แต่ก็สะท้อนให้เห็นมาตรฐานที่ไม่เท่าเทียมกันระหว่างพรรคการเมือง

...

ขณะเดียวกันในช่วงก่อนการเลือกตั้ง รัฐบาลไม่ควรใช้อำนาจที่มีอยู่ในการอนุมัติโครงการต่างๆ ในวาระรัฐบาลปกติ เมื่อมีการยุบสภาการใช้จ่ายงบประมาณจะทำไม่ได้ แต่ไม่แน่ใจว่ามาตรฐานแบบนี้จะใช้กับรัฐบาล คสช.หรือไม่ ยืนยันว่า รัฐบาล คสช.ไม่ใช่รัฐบาลคนกลาง แต่เป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งในสังคมไทย เมื่อตัดสินใจลงมาแข่งขันด้วยกัน ก็ควรที่จะต้องใช้มาตรฐานการแข่งขันเดียวกัน

นอกจากนี้ นายปิยบุตร ยังกล่าวถึงกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ประกาศตัวว่าสนใจงานการเมือง โดยระบุว่า ยินดีเป็นอย่างยิ่งหาก พล.อ.ประยุทธ์ ตัดสินใจลงเล่นการเมือง แต่จะพูดได้เต็มปากเต็มคำมากกว่านี้ หากออกมาตั้งพรรคการเมืองตั้งแต่แรก ลาออกจากราชการ ไม่ยึดอำนาจ และตั้งพรรคการเมืองลงแข่งขันทางการเมือง ไม่มีเหตุผลใดอีกแล้วนี่คือการสืบทอดอำนาจ ยึดอำนาจแล้วอยากสืบทอดไม่ใช่ 3-6 เดือนแข่งขัน แต่นี่ 4 ปีกว่าแล้ว กลับเพิ่งตัดสินใจ ขอเรียนว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ ไม่ใช่การต่อสู้ของกลุ่มคนที่จะเลือกนายกรัฐมนตรีคนในหรือคนนอก จะมีแต่คนที่เลือกระหว่างนายกรัฐมนตรีที่สืบทอดอำนาจจาก คสช.กับนายกรัฐนตรีที่ประชาชนเลือกเข้าไป

นายปิยบุตร กล่าวด้วยว่า สัญญาณที่ชัดเจนว่า การเลือกตั้งใกล้มาถึงแล้ว คือ การประชุมเปิดตัวของพรรคพลังประชารัฐ และ กกต.อนุมัติจัดตั้งเป็นพรรคการเมืองได้เมื่อไร ก็ยิ่งหมายถึงว่าวันเลือกตั้งใกล้มาถึง

ด้าน นายธนาธร กล่าวว่า ถ้าการเลือกตั้งเกิดขึ้นจริงในวันที่ 24 ก.พ.62 จะเป็นการเลือกตั้งที่ชี้ชะตาว่าคนไทยจะเลือกอยู่กับเผด็จการหรือเสรีภาพ หาก พล.อ.ประยุทธ์ ออกมาแสดงตัวให้ประชาชนเห็นชัดเจนว่าจะลงเล่นการเมือง ถือเป็นเรื่องดี ทำให้คนตัดสินใจง่ายว่าจะเลือกอยู่กับการสืบทอดอำนาจของ คสช.และการกดขี่ต่อไปหรือไม่ หรือจะเลือกลุกขึ้นยืนและบอกว่า อำนาจเป็นของประชาชน ซึ่งส่วนตัวสนับสนุนให้ พล.อ.ประยุทธ์ ประกาศให้ชัดเพื่อให้ประชาชนตัดสินใจ

นายธนาธร กล่าวต่อว่า ส่วนตัวคิดว่าบรรยากาศการเมืองไทยเวลานี้ ชัดเจนกว่าช่วง 3-4 เดือนที่ผ่านมา กระแสการเลือกตั้งเดินทางมาไกล หากไม่มีคงตอบคำถามกับประชาชนยาก ค่อนข้างเชื่อมั่นว่าจะเกิดขึ้นแน่ๆ ในต้นปีหน้า แต่อาจจะมีความเป็นไปได้เหลืออยู่บ้าง หากมีการเลื่อนเลือกตั้ง แต่ไม่มีกำหนดที่ชัดเจนคงเป็นไปไม่ได้

ส่วนหลังจากการเลือกตั้ง จะเกิดอะไรขึ้นกับพรรคนั้น ขอยืนยันว่า พรรคพร้อมที่จะทำงานร่วมกับทุกพรรค ตราบใดที่ยืนหยัดในอุดมการณ์เดียวกัน ซึ่งเรามีเส้นแบ่งที่ไม่ว่าพรรคก็ก้าวข้ามผ่านไปได้ เส้นนี้เป็นตัวกำหนดว่า เราจะร่วมงานกับพรรคไหน คือ 1.ไม่เอาการสืบทอดอำนาจของ คสช.ทุกรูปแบบ ย้ำว่าจะเลือกตั้งรอบหนึ่ง รอบสอง นายกฯคนในคนนอกไม่เอาทั้งหมด 2.แก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ 3.ต้องล้มล้างผลพวงของคณะรัฐประหาร เพื่อนำสังคมไทยกลับเป็นปกติ ดังนั้นเราต้องการอำนาจไม่ใช่เพื่อให้มีอำนาจ แต่ต้องการอำนาจเพื่อเปลี่ยนแปลงประเทศ นี่คือเงื่อนไขของการทำงานการเมือง ส่วนเรื่องอื่นๆ นอกเหนือจากกรอบนี้ เป็นไปได้หมด การเมืองเป็นเรื่องของการเจรจาต่อรอง ตราบใดไม่ข้ามเส้นนี้ พูดคุยกันได้

นายธนาธร กล่าวด้วยว่า สิ่งที่สำคัญกับการเลือกตั้งครั้งนี้ คือ การปักธงทางความคิดของสังคมไทย ทุกครั้งจะเกิดรัฐประหาร เข่นฆ่าประชาชน ต้องแบ่งแยกประชาชน ให้คนเกลียดกลัวกันเอง ทำให้คนเห็นต่างกันเอง นี่คือเงื่อนไขเบื้องต้นในการสร้างความขัดแย้ง นำไปสู่ข้ออ้างการทำรัฐประหาร หากปักธงความคิดได้ไกลทำให้ทุกคนเชื่อมั่น การปกครองในระบอบรัฐสภา ประชาชนจะไม่ถูกแบ่งแยก เมื่อไม่ถูกแบ่งแยก การทำรัฐประหารจะเป็นไปไม่ได้ เลือกตั้งครั้งนี้เป็นเพียงสมรภูมิเดียวในสงครามทั้งหมด สิ่งที่สำคัญพอๆ กับคะแนนเสียง คือ การปักความคิดที่ก้าวหน้าแบบนี้ในสังคมให้ได้ และจะไม่ประนีประนอมหลักการของพรรคเพื่อแลกกับคะแนนเสียง ส่วนคำนวณกี่ที่นั่งนั้น เราอยู่ที่กระบวนการที่จัดทำอยู่ เราไม่มีฐานเสียง เป็นพรรคใหม่ ไม่มีหัวคะแนน เป็นเรื่องยากมากที่จะบอกว่า ตรงไหนจะได้เท่าไร คงอยู่ในช่วงที่ประเมินสถานการณ์

เมื่อถามว่า พร้อมไหมกับการรับตำแหน่งสำคัญ พรรคอนาคตใหม่พร้อมที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง และ "ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ" พร้อมที่จะเป็นนายกรัฐมนตรี