"อภิสิทธิ์" จี้ คสช.เร่งคลายล็อก หลังกฎหมายลูกประกาศใช้ครบ โยนเป็นเรื่องรัฐบาลตอบปมตั้ง "พุทธิพงษ์" นั่งรองเลขาธิการนายกฯฝ่ายการเมือง ช่วยงาน รบ.เหมาะสมหรือไม่ ยัน ปชป.ไม่หนักใจ เชื่อไม่กระทบพื้นที่เลือกตั้ง
เมื่อวันที่ 13 ก.ย.61 นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) กล่าวถึงกรณีที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ(พ.ร.ป.) ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว.และ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.ประกาศใช้แล้ว ว่า จะทำให้ตารางเวลาเกี่ยวกับเรื่องของการทำงานของพรรคการเมือง และการเลือกตั้งมีความชัดเจนขึ้น เพราะว่าเมื่อประกาศใช้กฎหมายเลือกตั้งก็จะมีผลบังคับใช้ภายใน 90 วัน แล้วก็หลังจากนั้นไม่เกิน 150 วัน ตามรัฐธรรมนูญก็จะต้องมีการเลือกตั้ง ทางคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) และรัฐบาลก็ได้พูดเอาไว้ว่า เมื่อมีการประกาศใช้กฎหมายจะมีการคลายล็อก ความหมายก็คือคงยังไม่ยกเลิกคำสั่งที่ห้ามทำกิจกรรมทั้งหลาย แต่ว่าจะผ่อนคลายเพื่อเปิดโอกาสให้พรรคการเมืองทำบางสิ่งบางอย่างได้ เพราะต้องทำให้พรรคการเมืองปฏิบัติตามกฎหมายพรรคการเมืองได้ สำคัญที่สุดคือการประชุมใหญ่เพื่อสามารถที่จะแก้ข้อบังคับของพรรคให้สอดคล้องกับกฎหมายใหม่ได้ เพราะว่ากฎหมายใหม่ก็จะมีบทบัญญัติเกี่ยวกับเรื่องสมาชิก การตั้งสาขา รวมถึงต้องมีการเลือกคณะกรรมการบริหารพรรค ทั้งหมดนี้ต้องทำให้เสร็จภายใน 90 วันอยู่แล้ว นับจากวันที่คลายล็อก
"ดังนั้นสิ่งที่ผมเตรียมการไว้ก็คือ ต้อง 90 วันนี้ พรรค ปชป.ก็ต้องทำสิ่งเหล่านี้ให้เสร็จ ก็เรียนให้ทราบเลยว่า หลักๆ ข้อบังคับซึ่งจะต้องมีการเขียนเรื่องอุดมการณ์ เรื่องนโยบายเข้าไปด้วย ขณะนี้ได้มีการร่างเอาไว้เพื่อที่จะเสนอคณะกรรมการบริหารพรรค เพื่อเสนอต่อที่ประชุมใหญ่ แล้วก็ตัวนโยบาย เบื้องต้นจะออกมานี้ ค่อนข้างจะเป็นฉบับย่อ เพราะเราคิดว่าก่อนถึงการเลือกตั้ง และโดยเฉพาะเมื่อมีคณะกรรมการบริหารชุดใหม่แล้ว ก็จะทำนโยบายอีกชุดหนึ่ง ซึ่งจะปรับเข้าสู่สถานการณ์ของการเลือกตั้ง" นายอภิสิทธิ์ กล่าว
...
นอกจากนี้ นายอภิสิทธิ์ ยังกล่าวถึงกรณีที่ นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ต่อต้านกรณี ครม.แต่งตั้ง นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ เป็นรองเลขาธิการนายกฯฝ่ายการเมือง โดยมองว่า คสช.กับ กปปส.รู้กันอยู่แล้ว ตั้งแต่ก่อนจะทำรัฐประหาร ว่า ตนว่ารัฐบาลคงจะต้องเป็นผู้ให้คำตอบว่า พิจารณาอย่างไร มีความเหมาะสมอย่างไร ก็เป็นเรื่องของรัฐบาลที่จะต้องตอบ ตนสามารถพูดได้แต่ในเพียงว่า ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนกับนายพุทธิพงษ์แล้ว เป็นการตัดสินใจของนายพุทธิพงษ์เอง ซึ่งก็พูดให้นายพุทธิพงษ์ฟังว่า การไปจะเป็นอย่างไร มีผลอะไรตามมา การไม่ไปจะเป็นอย่างไร ก็อยู่ที่เขาจะตัดสินใจ วันนี้เขาตัดสินใจแล้วก็ต้องเป็นตามนั้น แต่ผู้ที่รับผิดชอบจะต้องตอบกับสังคมมากที่สุด คือ รัฐบาลกับเจ้าตัวเขาเองมากกว่า ส่วนผลกระทบกับพรรคประชาธิปัตย์นั้น ในพื้นที่ของนายพุทธิพงษ์ก็มีผู้ที่ประสงค์ และพร้อมที่จะลงสมัครรับเลือกตั้งอยู่ พรรคก็ไม่ได้หนักใจอะไร