2 มุมมองในเรื่องเดียวกัน
หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” ที่แสดงความเห็นในทางการเมืองค่อนข้างถี่ตามแนวถนัดเป็นฉากๆ มาตลอด
การเมืองไทยวันนี้มี 3 ก๊ก ในมุมมองของเขาคือ 1.เพื่อไทย 2.ประชาธิปัตย์ 3.กลุ่มสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
นั่นเป็นฉากหนึ่งที่ยืนยันว่า พล.อ.ประยุทธ์เกี่ยวข้องแน่
แต่ล่าสุดให้ความเห็นที่น่าสนใจไม่น้อยจากความเคลื่อนไหวของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ที่บอกว่ากำลังสู้เพื่อประชาธิปไตยนั้น เพื่อปลุกขวัญกำลังใจฝ่ายตนเอง เพราะกำลังเผชิญปัญหา “ถูกดูด”
แต่มีสิ่งที่น่าเป็นห่วงอยู่ 2 เรื่อง
1.การมีความเชื่อว่าสิ่งที่ทำมาทั้งหมดคือประชาธิปไตย
2.ความกังวลเรื่องความรุนแรงว่าจะเกิดขึ้นอีกหรือไม่?
อีกคนหนึ่งก็น่าในใจไม่น้อยคือ นายสุริยะใส กตะศิลา นักเคลื่อนไหวทางการเมืองคนสำคัญ กล่าวถึงบรรยากาศของการเตรียมการเลือกตั้งของพรรคการเมืองต่างๆ เวลานี้ว่า
นอกเหนือจากการชิงไหวชิงพริบของพรรคเก่าและพรรคใหม่ การดูดอดีต ส.ส. การจัดขั้วจัดข้างแล้ว
แต่ยังมีประเด็นที่น่าสนใจคือ การช่วงชิงกำหนดวาระในการเลือกตั้ง ซึ่งจะเป็นจุดชี้ขาดของผลการเลือกตั้ง
เพราะในขณะนี้วาระของการเลือกตั้งเริ่มเห็นการตีคู่ขนานกันของสองกระแส สองวาระที่ชัดเจนมากขึ้น
กระแสที่หนึ่งเป็นกระแสต่อเนื่องมาคือ การปฏิรูปประเทศ ซึ่งหลายฝ่ายคาดหวังว่าวาระการปฏิรูปน่าจะเป็นกระแสใหญ่ในการเลือกตั้งที่จะถึงนี้
ทำให้พรรคการเมืองหน้าใหม่และพรรคการเมืองเดิมหลายพรรคเริ่มส่งสัญญาณและพูดเรื่องการปฏิรูปขึ้นมาบ้าง
อีกกระแสหนึ่งก็มีความพยายามที่จะชูวาระ “เอาทักษิณหรือเอาทหาร” ขึ้นมาตีคู่ขนาน ซึ่งกระแสนี้มีหลายพรรคพยายามที่จะผลักดันให้เป็นวาระชี้ขาดในการเลือกตั้งครั้งใหม่
...
“ถ้าเราคิดทบทวนและกลับไปดูการเลือกตั้งปี 2550 และปี 2554 หรือแม้กระทั่งการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. จะพบว่าอยู่ในวาระเอาทักษิณหรือไม่เอาทักษิณ”
พูดง่ายๆว่าประเด็น “ทักษิณ” เป็นประเด็นชี้ขาด
หลังรัฐประหารของ คสช. เมื่อ 22 พ.ค. 2557 หลายฝ่ายคิดว่าวาระน่าจะหายไปจากการเลือกตั้ง ซึ่งหลังรัฐประหารใหม่ๆก็ดูเหมือนมีความเป็นไปได้
แต่ขณะนี้กลับพบว่า วาระทักษิณกลับมาเป็นกระแสที่ต้องจับตากันอีกครั้ง หลังจากนายทักษิณได้ประกาศทำสงครามประชาธิปไตย ทำให้การเลือกตั้งที่จะถึงนี้มีสภาพที่อาจไม่ต่างไปจากการเลือกตั้ง 2-3 ครั้งที่ผ่านมา
กลายเป็นเดิมพันระหว่างเอาทักษิณหรือไม่ทักษิณอีกครั้ง
ความเห็นของทั้ง 2 ท่านคงไม่ได้ต่างกันเท่าใด เพราะยังมองประเด็นการเมืองพุ่งไปที่ “ทักษิณ” ความรุนแรงมากกว่าประเด็นการปฏิรูปประเทศ
นี่คือความเป็นจริงทางการเมืองยากที่จะปฏิเสธ
ยิ่งไปกว่านั้น พรรคการเมืองทั้งเก่าและใหม่ก็ไม่เคยคิดที่จะปลุกกระแสปฏิรูปขึ้นมาเป็นประเด็นในเชิงสร้างสรรค์แต่อย่างใด
กลายเป็นว่าพรรคการเมือง นักการเมืองทั้งใหม่และเก่ากำลังเปิดศึกเพื่อเอาชนะทางการเมือง เพื่อชิงอำนาจด้วยการอาศัยกติกาประชาธิปไตยเท่านั้น
การ “ปลุกผีทักษิณ” เอาไม่เอาจึงเป็นกระแสอย่างช่วยไม่ได้.
“สายล่อฟ้า”