"นายกฯ" ตรวจเยี่ยมหน่วยเฉพาะกิจผลักดันน้ำกองทัพเรือ ที่ลงไปปฏิบัติภารกิจช่วยเหลือประชาชน เร่งระบายน้ำจากแม่น้ำเพชรบุรีลงสู่ทะเล เพื่อป้องกันไม่ให้ไหลเข้าท่วมบ้านเรือนราษฎร ใต้สะพานหน้าวัดคุ้งตำหนัก อ.บ้านแหลม โดยเรือผลักดันน้ำทั้ง 20 ลำ สามารถดันน้ำไหลลงสู่ทะเลได้วันละกว่า 2 ล้านลูกบาศก์เมตร...
เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 8 ส.ค. 61 พล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เดินทางไปตรวจเยี่ยมกำลังพล หน่วยเฉพาะกิจผลักดันน้ำกองทัพเรือ ในพื้นที่จังหวัดเพชรบุรี บริเวณปลายแม่น้ำเพชรบุรี ใต้สะพานหน้าวัดคุ้งตำหนัก ตำบลบางตะบูน อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี โดยมี พล.ร.ต.วัตรกิจ ยกสวัสดิ์ รองผู้อำนวยการอู่ทหารเรือพระจุลจอมเกล้า กรมอู่ทหารเรือ ในฐานะ หัวหน้าหน่วยเฉพาะกิจผลักดันน้ำกองทัพเรือ (เพชรบุรี) ให้การต้อนรับและรายงานสถานการณ์และผลการปฏิบัติในความรับผิดชอบ

จากการที่ระดับน้ำในเขื่อนแก่งกระจาน ได้มีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และได้ไหลลงสู่แม่น้ำเพชรบุรีอย่างรวดเร็ว และคาดว่าจะไหลเข้าท่วมในหลายพื้นที่ของจังหวัดเพชรบุรีตามที่ได้มีการออกประกาศแจ้งเตือนจากทางราชการไปแล้วนั้น เมื่อวันที่ 5 ส.ค.ที่ผ่านมา พล.ร.อ.นริส ประทุมสุวรรณ ผู้บัญชาการทหารเรือ มีความห่วงใยในความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนชาวจังหวัดเพชรบุรีเป็นอย่างมาก จึงได้สั่งการอย่างเร่งด่วนให้ศูนย์บรรเทาสาธารณภัยกองทัพเรือ สนับสนุนเรือผลักดันน้ำ จำนวน 20 ลำ พร้อมกำลังพล จำนวน 70 นาย ให้แก่จังหวัดเพชรบุรี ในการเร่งระบายน้ำจากแม่น้ำเพชรบุรี ลงสู่ทะเลเพื่อป้องกันไม่ให้ไหลเข้าท่วมบ้านเรือนราษฎร โดยได้มีการลำเลียงเรือผลักดันน้ำ ทั้ง 20 ลำ ออกเดินทางจากอู่ทหารเรือพระจุลจอมเกล้า อำเภอพระสมุทรเจดีย์ จังหวัดสมุทรปราการ ไปยัง จังหวัดเพชรบุรี ตั้งแต่ช่วงเย็นของเมื่อวันที่ 5 ส.ค. 61 โดยปัจจุบันเรือผลักดันน้ำทั้ง 20 ลำ สามารถทำการผลักดันน้ำในแม่น้ำเพชรบุรีให้ไหลลงสู่ทะเลได้วันละกว่า 2 ล้านลูกบาศก์เมตร
...

ทั้งนี้ เป็นไปตามนโยบายของ พล.ร.อ.นริส ประทุมสุวรรณ ผู้บัญชาการทหารเรือ ที่ให้ทุกหน่วยงานของกองทัพเรือ อยู่เคียงข้างประชาชน และพร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนอย่างเต็มที่ตลอด 24 ชั่วโมง

สำหรับเรือผลักดันน้ำของกองทัพเรือนั้น ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมน้ำหลากมาตั้งแต่ปี 2538 ซึ่งแนวความคิดนี้ ปัจจุบันกรมชลประทานได้นำไปดัดแปลงระบบ เพื่อใช้แก้ไขปัญหาระบบน้ำทั่วประเทศ และจากองค์ความรู้ ในการสร้างเรือผลักดันน้ำที่คงมีอยู่ทำให้กองทัพเรือสร้างเรือผลักดันน้ำขึ้นใหม่ เพื่อให้ทันต่อการนำไปใช้ในพื้นที่ประสบอุทกภัยในปี 2554 ทั้งยังสนองต่อพระราชดำริแนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ด้วยการนำอุปกรณ์ เครื่องยนต์ที่มีอยู่เดิมมาผลิต และพัฒนาขึ้นใหม่เป็น 3 ขนาด

คือขนาด 320 แรงม้า ผลักดันน้ำได้ 150,000 ลูกบาศก์เมตร/วัน ขนาด 220 แรงม้า ผลักดันน้ำได้ 100,000 ลูกบาศก์เมตร/วัน และขนาด 120 แรงม้า ผลักดันน้ำได้ 30,000 ลูกบาศก์เมตร/วัน เรือผลักดันน้ำ นับว่าเป็นประโยชน์ต่อการระบายน้ำเป็นอย่างมาก เพราะเป็นการระบายน้ำออกสู่ทะเลได้ครั้งละปริมาณมาก อีกทั้งยังสามารถชะล้างไล่ดินเลนที่ตกตะกอนอยู่ก้นแอ่งให้หมดไป ทำให้น้ำไหลได้สะดวกมากขึ้น โดยเฉพาะพื้นที่เป็นแอ่ง เป็นบึง และคอขวด เนื่องจากเป็นที่ลุ่มระบายน้ำออกได้ลำบากและไหลได้ไม่เร็ว.
