36 สนช.เข้าชื่อยื่นแก้ไข พ.ร.บ.กกต. ห่วงกระบวนการคัดเลือกผู้ตรวจการเลือกตั้งไม่รัดกุม เปิดโอกาสฝ่ายการเมืองแทรกแซง ชงตั้งคณะกรรมการคัดเลือกเฟ้นผู้ตรวจฯแทน กกต.โต้ไม่มีใบสั่งรื้อกฎหมาย กกต.

เมื่อวันที่ 6 ส.ค.61 นายมหรรณพ เดชวิทักษ์ สมาชิก สนช.ในฐานะผู้รวบรวมรายชื่อ สนช.เสนอแก้ไข พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยคณะกรรมการเลือกตั้ง กล่าวว่า มี สนช.เข้าชื่อขอแก้ไข พ.ร.บ.กกต.จำนวน 36 คน สาระสำคัญของการเสนอแก้ไข คือ การเพิ่มมาตรา 28/1 กำหนดให้มีคณะกรรมการคัดเลือกบุคคลเพื่อแต่งตั้งผู้ตรวจการเลือกตั้ง มาทำหน้าที่คัดเลือกผู้ตรวจการเลือกตั้ง แทนการให้ กกต.ไปออกระเบียบคัดเลือกผู้ตรวจการเลือกตั้งตาม พ.ร.บ.กกต.ฉบับปัจจุบัน เนื่องจาก สนช.หลายคนห่วงใยการให้ กกต.ไปออกระเบียบการคัดเลือกผู้ตรวจการเลือกตั้ง อาจมีความหละหลวมไม่รอบคอบรัดกุมเพียงพอ เพราะระเบียบ กกต.สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามยุคสมัยของ กกต.แต่ละชุดที่เข้ามาทำหน้าที่ อาจเป็นช่องว่างให้การได้มาซึ่งผู้ตรวจการเลือกตั้งถูกครอบงำ จากฝ่ายการเมืองได้ในอนาคต ดังนั้นจึงควรกำหนดที่มาผู้ตรวจการเลือกตั้งให้ชัดเจนว่า มาจากคณะกรรมการคัดเลือกบุคคลเพื่อแต่งตั้งผู้ตรวจการเลือกตั้ง โดยระบุลงใน พ.ร.บ.กกต.โดยตรง ทั้งนี้โครงสร้างของคณะกรรมการคัดเลือกบุคคลเพื่อแต่งตั้งผู้ตรวจการเลือกตั้ง มี 7 คนประกอบด้วย1.ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน 2.หัวหน้าผู้พิพากษาจังหวัด 3.หัวหน้าสำนักงานอัยการจังหวัด 4.ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัด 5.ประธานหอการค้าจังหวัด 6.ประธานอุตสาหกรรมจังหวัด 7.ผอ.กกต.จังหวัด ทำหน้าที่คัดเลือกผู้ตรวจการเลือกตั้งอย่างน้อย 16 คนต่อจังหวัด เพื่อส่งต่อให้ กกต.คัดเลือกให้เหลือ 8 คนต่อจังหวัด 

นายมหรรณพ กล่าวว่า นอกจากนี้หากให้ผู้ตรวจการเลือกตั้งมีที่มาจากระเบียบ กกต. อาจเกิดความไม่เป็นเอกภาพในการทำงาน เพราะ กกต.ชุดเก่าเป็นผู้คัดเลือกผู้ตรวจการเลือกตั้ง แต่ กกต.ชุดใหม่เป็นผู้เข้ามาปฏิบัติงาน เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงหัวแล้วควรเปลี่ยนลำตัวแขนขาด้วย ไม่ใช่เอาหัวมาสวมอย่างเดียว อาจเกิดปัญหาการทำงานได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าผู้ตรวจการเลือกตั้งที่ได้รับการคัดเลือกจาก กกต.ชุดปัจจุบันไม่ดี แต่ต้องการให้ที่มาผู้ตรวจการเลือกตั้งมีความชัดเจนรัดกุม ไม่มีเจตนาต้องการล้มผู้ตรวจการเลือกตั้งที่ได้รับการคัดเลือกจาก กกต.ชุดปัจจุบัน ผู้ผ่านการคัดเลือกจาก กกต.ชุดปัจจุบันก็มีสิทธิกลับมาดำรงตำแหน่งได้ หากผ่านเงื่อนไขตามกฎหมาย กกต.ที่เสนอแก้ไขใหม่ ในฐานะที่เสนอขอแก้ไข พ.ร.บ.กกต.ไม่ได้ซีเรียส จะต้องแก้ไขให้ได้ตามที่เสนอไป หากรัฐบาลหรือ กกต.เห็นว่า มีทางออกอื่นที่ดีกว่าก็ยอมรับ ไม่ได้ดันทุรังต้องเอาให้ได้ แค่เป็นห่วงว่า ระเบียบเดิมที่ทำไปอาจเกิดปัญหาในอนาคต เป็นการทำด้วยความหวังดี ไม่ได้มีใบสั่งจากใครให้แก้ไข ขณะนี้ร่าง พ.ร.บ.ที่เสนอขอแก้ไขอยู่ระหว่างการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 77 ยังไม่รู้จะผ่านความเห็นชอบจาก สนช.หรือไม่

...