ผบ.ทบ. สั่ง รพศ. จัดสัมมนาถอดบทเรียนการช่วยเหลือ 13 หมูป่าอะคาเดมี ติดถ้ำหลวง เพื่อเป็นแนวทางในภารกิจช่วยเหลือผู้ประสบภัย และปรับทักษะกำลังพล รองรับเหตุการณ์วิกฤติ... 
​



เมื่อวันที่ 21 ก.ค.61 พ.อ.หญิง ศิริจันทร์ งาทอง รองโฆษกกองทัพบก กล่าวว่า พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผู้บัญชาการทหารบก มอบให้หน่วยงานของกองทัพบกที่เข้าร่วมปฏิบัติภารกิจช่วยเหลือทีมหมูป่าอะคาเดมีสรุปข้อมูลการปฏิบัติงานในภาพรวม ทั้งด้านการใช้ยุทโธปกรณ์ การบริหารจัดการกำลังพล วิธีการค้นหากู้ภัย เพื่อใช้ประโยชน์เป็นฐานข้อมูล เป็นแนวทางและวิธีการในภารกิจช่วยเหลือผู้ประสบภัยในโอกาสต่อไป รวมทั้งยกระดับมาตรฐานการบรรเทาสาธารณภัย ของกองทัพบกให้เท่าทันต่อเหตุวิกฤติต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้น 



ทั้งนี้ ผบ.ทบ.มีนโยบายให้หน่วยทหารเร่งพัฒนาทักษะกำลังพล ให้มีความสามารถในการปฏิบัติงานในภาวะเสี่ยงและยากลำบากยิ่งขึ้น รวมทั้งการเพิ่มจำนวนเจ้าหน้าที่ที่มีความรู้ความสามารถเฉพาะด้านใดด้านหนึ่ง ในลักษณะเป็นผู้ชำนาญการพิเศษ เพื่อให้สามารถนำความเชี่ยวชาญดังกล่าวไปใช้ในการบรรเทาสาธารณภัยหรือเหตุการณ์วิกฤติในอนาคต อาทิ การดำน้ำกู้ภัย การเข้าถึงพื้นที่เกิดเหตุด้วยวิธีเฉพาะ เป็นต้น

​

อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการสานต่อและเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการในภาวะวิกฤติ ตามแนวนโยบายข้างต้น ผบ.ทบ.มอบให้ หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ จัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการเรื่อง "ระบบการจัดการบริหารเหตุการณ์วิกฤติ" ในวันที่ 24 ก.ค. 2561 ที่หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ ค่ายสมเด็จพระนารายณ์มหาราช จ.ลพบุรี โดยเชิญผู้สัมมนาที่ได้ร่วมปฏิบัติภารกิจค้นหากู้ภัยที่ถ้ำหลวง จ.เชียงราย อาทิ สำนักบริหารพื้นที่ อนุรักษ์ที่ 13(ทีมรังนกจากเกาะลิบง), ทีมสำรวจและขุดเจาะถ้ำ จาก ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ /บริษัทChevron (Thailand)/ บริษัท Water Resource Engineering, บริษัทจีโอเมคคานิคอล เซอร์วิสเซศ จก., สมาคมกู้ภัยภูซางการกุศล จ.พะเยา (ฝ่ายสื่อสารภายในถ้ำ), จิตอาสาและอาสากู้ภัย(ฝ่ายลำเลียงสนับสนุนภายในถ้ำ), คณะที่ปรึกษาทางทหารสหรัฐประจำประเทศไทย, สถานทูตสหรัฐฯ, ศูนย์ต่อต้านการก่อการร้ายสากล, หน่วยงานภายในและกรมฝ่ายเสนาธิการของกองทัพบก เป็นต้น



...

โดยการสัมมนาประกอบด้วยการบรรยายและสาธิต "การจัดการบริหารเหตุการณ์วิกฤติ" โดยผู้แทนศูนย์ต่อต้านการก่อการร้ายสากล, การบรรยายผลการปฏิบัติงานและบทเรียนที่ได้รับสู่การเตรียมความพร้อมในอนาคตโดยหน่วยที่ร่วมภารกิจ รวมทั้งการจัดกลุ่มแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในหัวข้อต่างๆ เช่น "ประชารัฐร่วมใจ ค้นหา/กู้ภัยทีมหมูป่า", "จัดการอย่างไรเมื่อต้องเอาชนะธรรมชาติและแข่งกับเวลา" และ "บทเรียน สู่องค์ความรู้ : Best Practice" ทั้งนี้ กองทัพบกเชื่อว่าการสัมมนาดังกล่าวจะช่วยสานต่อความร่วมมือและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ อันจะนำมาซึ่งประสิทธิภาพในการดูแลประชาชนในสถานการณ์วิกฤติ.