สนช.มีมติเอกฉันท์ 178 เสียง เห็นชอบผ่านร่าง พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ ลดระดับคุมรัฐวิสาหกิจถึงแค่บริษัทแม่-ลูก ประกาศใช้เป็นกฎหมาย

เมื่อวันที่ 20 ก.ค. 61 ที่รัฐสภา มีการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มี นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. เป็นประธานการประชุม พิจารณาร่าง พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ…. ที่คณะกรรมาธิการวิสามัญฯพิจารณาเสร็จแล้ว ในวาระ 2 และวาระ 3 ทั้งนี้สาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว คือ มาตรา 4 ว่าด้วยการกำหนดนิยามความหมายของคำว่ารัฐวิสาหกิจ โดยมีความหมายดังนี้ 1. องค์การของรัฐบาลตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์การของรัฐบาล กิจการของรัฐซึ่งมีกฎหมายจัดตั้งขึ้น หรือหน่วยงานธุรกิจที่รัฐบาลเป็นเจ้าของ 2. บริษัทจำกัด หรือ บริษัทมหาชนที่ส่วนหรือรัฐวิสาหกิจตาม (1) มีทุนรวมอยู่ด้วยเกิน 50 เปอร์เซ็นต์ และ 3. บริษัทจำกัด หรือบริษัทมหาชนจำกัดที่ส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจตาม (1) หรือ (2) หรือที่รัฐวิสาหกิจตาม (1) และ (2) หรือที่รัฐวิสาหกิจตาม (2) มีทุนรวมอยู่ด้วยเกิน 50 เปอร์เซ็นต์

ทั้งนี้ การอภิปรายของสมาชิก สนช.หลายคนได้สอบถามถึงการกำหนดเนื้อหาในมาตรา 4 ไว้ในลักษณะดังกล่าว ซึ่งจะมีผลให้สามารถตรวจสอบได้เฉพาะรัฐวิสาหกิจของรัฐ และบริษัทลูกของรัฐวิสาหกิจเท่านั้น จากเดิมที่หลักการเดิมของ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2502 กำหนดคำนิยามของคำว่ารัฐวิสาหกิจให้คลุมไปถึงบริษัทที่บริษัทลูกเข้าไปถือหุ้นเกิน 50 เปอร์เซ็นต์ ในประเด็นดังกล่าว ตัวแทนของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ได้ชี้แจงว่า ในเชิงการตรวจสอบสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน สามารถเข้าไปตรวจสอบบริษัทที่บริษัทลูกเข้าไปถือหุ้นเกิน 50% ได้อยู่แล้ว โดยตรวจสอบผ่านการจัดทำงบดุลของบริษัทแม่ในรัฐวิสาหกิจ

อย่างไรก็ตาม ในการพิจารณามาตรา 52/1 ซึ่งเป็นบทเฉพาะกาลที่ว่าด้วยการกำหนดให้กฎหมายอื่น ที่อ้างความหมายของคำว่ารัฐวิสาหกิจตามกฎหมายวิธีการงบประมาณ จะต้องดำเนินการปรับปรุงนิยามรัฐวิสาหกิจ ให้สอดคล้องกับกฎหมายฉบับนี้ภายใน 3 ปี และหากไม่ได้แก้ไขให้เสร็จภายใน 3 ปี จะต้องใช้นิยามรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายวิธีการงบประมาณฉบับใหม่ ปรากฏว่า นายคำนูณ สิทธิสมาน ในฐานะกรรมาธิการวิสามัญฯ อภิปราย ไม่เห็นกับการกำหนดบทเฉพาะกาลไว้เช่นนั้น การทบทวนคำนิยามรัฐวิสาหกิจของกฎหมายอื่น ที่มาอ้างกฎหมายนิยามคำว่ารัฐวิสาหกิจตามกฎหมายวิธีการงบประมาณ ควรต้องได้รับการทบทวนตามภารกิจของกฎหมายฉบับนั้นหรือของหน่วยงานนั้น โดยไม่ควรให้หน่วยงานนั้นมาใช้นิยามคำว่ารัฐวิสาหกิจ ตามกฎหมายวิธีการงบประมาณฉบับใหม่ ทั้งๆ ที่ยังไม่ได้พิจารณาภารกิจของหน่วยงานตนเอง

...

นายคำนูณ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้การกำหนดระยะเวลาไว้ 3 ปี จะมีปัญหาตามมาอีก คือ ในอนาคตเมื่อกระบวนการนิติบัญญัติเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว โดยมีสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ทำให้การแก้ไขกฎหมายทำได้ลำบาก เนื่องจากจะต้องพิจารณากฎหมายเกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศอีกจำนวนมาก จึงเห็นว่าไม่ควรกำหนดเวลาบังคับเอาไว้

ภายหลังการอภิปรายของนายคำนูณเสร็จสิ้น นายพรเพชร ประธานควบคุมการประชุมได้สั่งพักการประชุมเป็นเวลา 15 นาที เพื่อให้คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ไปประชุมเพื่อหาข้อยุติ จากนั้นกลับมาประชุมอีกครั้ง โดยได้ข้อตกลงร่วมกันว่า ให้มาตรา 52/1 ไว้ตามเดิม แต่แก้ไขระยะเวลาของการแก้ไขนิยามคำว่ารัฐวิสาหกิจจาก 3 ปี เป็น 5 ปี หรือมากกว่านั้น กระทั่งที่ประชุม สนช.ได้ลงมติในวาระ 3 มติเอกฉันท์ 178 คะแนนเห็นชอบให้ร่าง พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ… ประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป