"ประวิตร" สั่งเร่งเดินหน้าแก้ปัญหาประมงผิดกฎหมาย-ปรับปรุงฐานข้อมูลคนเข้าเมือง-คนพักแรมอยู่ในฐานะเดียวกัน กำชับขันนอตทุกหน่วยงานแก้ไขปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์ พร้อมกวดขันนำเข้า

เมื่อวันที่ 16 ก.ค.61 ที่กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร(กอ.รมน.) พล.ท.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม แถลงภายหลังการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนการบริหารราชการแผ่นดิน คณะที่ 5 โดยมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงและ รมว.กลาโหม เป็นประธานการประชุมเรื่องของการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงานและไร้การควบคุม ขณะนี้คืบหน้าไปมากและกำลังแก้กฎหมายให้คุ้มครองดูแลการประกอบกิจการประมง ให้สอดรับกับกฎหมายระหว่างประเทศ ที่ไทยได้ลงนามในพันธสัญญาไว้เช่นที่ประเทศที่เราจะเริ่มดำเนินการ ในขณะนี้ก็คือเรื่องของเรือประมง หรือเรือขนถ่ายสัตว์น้ำตั้งแต่ 30 ตันกรอสขึ้นไป ต่อไปนี้ต้องมีการติด VMS หรือเครื่องหาพิกัด และแจ้งการเข้าออกในศูนย์แจ้งการเข้าออกของเรือประมงจากท่าเรืออย่างต่อเนื่อง

พล.ท.คงชีพ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้มีการปรับหลักเกณฑ์วิธีการกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเรือประมง เช่น เรื่องของการเปลี่ยนแปลงประเภทเรือซึ่งต้องแจ้ง การขอดัดแปลงเรือหรือการขอโอนกรรมสิทธิ์ หรือการแยกชิ้นส่วนหรือทำลายเรือก็ต้องแจ้งให้กับเจ้าหน้าที่รับทราบ ในเรื่องของการบริหารจัดการเรือทั้งหมด ขณะนี้ ณ วันที่ 21 มิถุนายน 2561 มีเรือจดทะเบียนทั้งหมดเป็นเรือประมงทั้งหมด 17,221 ลำ โดยจะ มีการเชื่อมโยงข้อมูล ของเรือทั้งหมด จากกรมเจ้าท่าและศูนย์ปฏิบัติการเฝ้าระวัง และจะติดตามเรื่องการควบคุมการเฝ้าระวังการเข้าออกการติดตามเรือตำแหน่งเรือตรวจการใช้แรงงานที่ถูกต้อง แรงงานจะต้องไม่ถูกกดขี่ และมีการประเมินความเสี่ยงด้วยโดยเฉพาะเรือที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง มีการบังคับใช้กฎหมายโดยจะเร่งใช้บังคับกฎหมาย ขณะนี้ได้เร่งผลคดีอาญาผู้กระทำผิดแล้วคดีถึงที่สุดแล้ว 4000 กว่าคดีคิดเป็น 90 เปอร์เซ็นต์แล้ว ก็จะเร่งรัดมาตรการทางการปกครองควบคู่กันไป ซึ่งเราหวังว่าสิ่งที่เรากำลังทำอยู่

...

"พล.อ.ประวิตร ย้ำให้เจ้าหน้าที่ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกรมประมงและกรมเจ้าท่าขับเคลื่อนการแก้ปัญหาวิกฤติเรื่องการประมงให้ได้ โดยสหภาพยุโรป(อียู) จะเข้ามาตรวจสอบอีกครั้งในเดือนก.ย.นี้ ซึ่งเราพยายามทำอยู่และช่วยกันยกระดับการประมงให้ถูกต้องได้มาตรฐานสากล" พล.ท.คงชีพ ระบุ

พล.ท.คงชีพ ย้ำว่าการขาดแคลนแรงงานประมง 40,000 กว่าคน ขณะนี้กำลังเสนอครม. ในการแก้ไขปัญหาระยะสั้นเห็นชอบต่ออายุทำงานให้กับคนต่างด้าวกับผู้ที่ผ่านสัญชาติแล้วประมาณ 1.1 แสน ในวันที่ 1 มิ.ย.2562 ส่วนในระยะยาวอยู่ระหว่างแร่งรัดพิจารณาประเทศต้นทางเพื่อนำเข้าแรงงานต่างด้าวอีก 4 หมื่นกว่าคนที่ยังขาดแคลน อย่างไรก็ตาม ผลการขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าว ที่ศูนย์วันสต๊อป เซอร์วิส และการพิสูจน์สัญชาติแรงงานต่างด้าวแล้วจำนวน 1,187,803 คน

"คาดว่า ผลที่เราได้ดำเนินการจะสามารถควบคุมแรงงานต่างด้าวนอกระบบได้ พร้อมดูแลสวัสดิการให้เป็นสากล ไม่ถูกเอาเปรียบ และผลักดันแรงงานที่ไม่ถูกต้องกลับประเทศต้นทาง ถือเป็นการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมที่เกิดในประเทศด้วย" พล.ท.คงชีพ ระบุ

พล.ท.คงชีพ แถลงถึงการหารือเรื่องการปฏิรูประบบที่พักแรมและข้อมูลคนเข้าเมือง จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาทิ กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงแรงงาน และกระทรวงมหาดไทย กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ปรับปรุงระบบฐานข้อมูลคนเข้าเมืองและคนพักแรมให้อยู่ในฐานะเดียวกันทั้งหมด

พล.ท.คงชีพ ย้ำว่าขณะนี้กำลังเตรียมทำ MOU ร่วมกันเพื่อให้ทุกส่วนราชการได้ลงนามในการบริหารจัดการข้อมูลร่วมกันโดยสภาความมั่นคงแห่งชาติ(สมช.) เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการจัดทำฐานข้อมูลดังกล่าวและบูรณาการการเชื่อมโยง เมื่อลงนามร่วมกันแล้ว กอ.รมน.จะเป็นหน่วยงานหลักในการประสานขับเคลื่อนข้อมูลดังกล่าว ซึ่งคาดว่าจะช่วยในเรื่องของการคุ้มครองดูแลนักท่องเที่ยวต่างชาติให้ได้รับความคุ้มครองและดูแลความปลอดภัยของบุคคลเหล่านี้ รวมถึงผู้ที่มาประกอบกิจการอย่างถูกต้องภายในประเทศ รวมทั้งกอ.รมน. จะแก้ปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติและผู้มีอิทธิพลข้ามชาติและผู้ที่มาประกอบกิจการผิดกฎหมายในประเทศ

พล.ท.คงชีพ แถลงถึงเรื่องมาตรการแก้ปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์และเศษพลาสติก ที่นำเข้าจากต่างประเทศ โดย พล.อ.ประวิตร ได้มอบให้ รมว.สิ่งทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธาน เพื่อหารือมาตรการเร่งด่วนระงับการอนุญาตนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่ไม่ถูกต้อง ผลักดันให้ขยะอิเล็กทรอนิกส์กลับสู่ประเทศต้นทาง รวมทั้งจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ในโรงงานอย่างถูกวิธีและดำเนินการกับบริษัทที่นำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่กระทำความผิดโดยให้ส่งกลับไปบริษัทต้นทางและกำจัดตามหลักวิชาการ

พล.ท.คงชีพ กล่าวว่า ส่วนมาตรการระยะยาวอยู่ในระหว่างออกประกาศห้ามนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ และการป้องกันการนำเข้ากรณีการสำแดงเท็จ โดยให้กรมศุลกากรเข้มงวดตรวจสอบทางกายภาพเอกซเรย์ และให้กระทรวงมหาดไทยจัดเจ้าหน้าที่ระดับจังหวัดไปตรวจสอบโรงงานเข้าข่ายประกอบกิจการดังกล่าวทั่วประเทศ และพิจารณากำหนดโรงงานคัดแยกขยะให้เป็นโรงงานทำการประเมินสิ่งแวดล้อมด้วย ส่วนพื้นที่ปนเปื้อนที่ได้รับผลประทบให้กรมควบคุมมลพิษและกรมอนามัยแก้ไขโดยด่วนและศึกษาแนวทางแก้ไขปัญหาอย่างจริงจังไม่ใช่ทำแบบไฟไหม้ฟาง