"ทีมซีล" พร้อมกำลังพลกองทัพเรือรวม 159 นาย ถึงสนามบินอู่ตะเภาโดยสวัสดิภาพ ญาติ-ปชช.รอต้อนรับอบอุ่น ด้าน ผบ.นสร.ลั่น "ซีล" เป็นหัวหมู่ทะลวงฟันช่วยเหลือ 13 ชีวิตติดถ้ำหลวงฯ รับเป็นงานที่ยาก แต่พร้อมลุย บอกถูกฝึกมาทำงานเสี่ยง หยอดหวานขอบคุณภรรยาเป็นกำลังใจที่ดี ขณะที่ผู้การฯ ภูมิใจลูกน้อง พร้อมนำประสบการณ์ไปแก้ไขรับงานเสี่ยงในอนาคต ส่วนซีลรุ่นใหญ่เผยบทเรียนราคาแพง แนะเพิ่มหลักสูตรการดำน้ำในถ้ำให้ซีลรุ่นต่อไป...

เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 12 ก.ค. ที่สนามบินอู่ตะเภา อ.บ้านฉาง จ.ระยอง พล.ร.อ.นริส ประทุมสุวรรณ ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) มอบหมายให้ พล.ร.อ.รังสฤษดิ์ สัตยานุกูล ผู้บัญชาการกองเรือยุทธการ เป็นประธานต้อนรับกำลังพลของกองทัพเรือที่เดินทางกลับที่ตั้ง หลังเสร็จสิ้นภารกิจที่ถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน อ.แม่สาย จ.เชียงราย โดยคณะทั้งหมดมีจำนวน 159 นาย ประกอบด้วย หน่วยซีล 127 นาย นำโดย พล.ร.ต.อาภากร อยู่คงแก้ว ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ (นสร.) หรือหน่วยซีล กองเรือยุทธการ นอกจากนั้นเป็นกำลังพลจากชุดเวชศาสตร์ทหารเรือ กรมแพทย์ทหารเรือ กรมสรรพวุธทหารเรือ กรมวิทยาศาสตร์ทหารเรือ และส่วนอื่นๆ อีกจำนวน 32 นาย เดินทางมาถึงโดยเครื่องบินลำเลียงแบบ C - 130 ของกองทัพอากาศ และเครื่องบินแอมแบร์ของกองทัพเรือ โดยมีญาติ รวมถึงกำลังพลของกองทัพเรือ หน่วยซีล และประชาชนในพื้นที่มารอต้อนรับและมอบดอกไม้ให้กำลังใจอย่างอบอุ่น

...

พล.ร.ต.อาภากร กล่าวว่า หลังจากได้รับมอบหมายภารกิจช่วยเหลือ 13 ชีวิตทีมหมูป่าอะคาเดมีติดอยู่ภายในถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน จ.เชียงราย ก็รีบจัดกำลังพลเดินทางไปช่วยเหลือทันที เมื่อมีอุปสรรคอยู่ตรงหน้าเราก็ไม่ท้อถอย เราบอกว่าเราสู้ เมื่อสู้แล้วมีกำลังใจเยอะ และมีคนสนับสนุนเรามากมาย เพราะคนที่จะเข้าไปถึงน้องๆ ได้ก็คงจะต้องเป็นหน่วยซีลหน่วยเดียวเท่านั้นที่จะสามารถเข้าไปในพื้นที่ตรงนั้นได้ เราจึงต้องเป็นหัวหมู่ทะลวงฟัน เพื่อนพ้องน้องพี่ซีลที่ปลดประจำการไปแล้วก็มาร่วมงานกับพวกเรา แม้ว่าไม่ได้อยู่ในราชการ นอกจากนี้ยังมีหน่วยงานต่างๆ มากมายมาช่วยเรา เป็นที่ประจักษ์ว่าถ้าเราสู้และไม่ย่อท้อก็จะมีคนสนับสนุนเยอะมาก ซึ่งในสิ่งที่เราทำลงไปถือว่ามีความเสี่ยงต่อกำลังพล แต่เราถูกฝึกมาให้อดทนเพื่อการณ์นี้ เราฝึกคนมาเพื่อทำงานเสี่ยงๆ ถ้างานง่ายๆ ไม่ต้องถึงมือเราหรอก แต่งานนี้ถือว่าเป็นงานยาก

"ผมเชื่อมั่นในกำลังพลทุกคน และประจักษ์ว่ากำลังพลของหน่วยทุกคนยอดเยี่ยมมาก ขอบคุณกำลังพลของผมทุกคนที่ได้ทำงานนี้จนประสบผลสำเร็จค่อนข้างสมบูรณ์ เราก็เหมือนเฟืองตัวเล็กๆ ที่ช่วยขับเคลื่อนเครื่องจักรให้สมบูรณ์ การสู้ครั้งนี้เป็นเรื่องยากและต้องใช้ใจทำงาน อย่างไรก็ตามภารกิจครั้งนี้ได้สูญเสียกำลังพล 1 นายคือจ.อ.สมาน กุนัน ที่เป็นผู้เสียสละ แต่เราก็ไม่เสียขวัญ เพราะเขาจากไปแบบวีรบุรุษของชาวโลก ซึ่งเป็นที่น่าภาคภูมิใจ" ผบ.นสร.กล่าว

ทั้งนี้ พล.ร.ต.อาภากร ยังได้ให้สัมภาษณ์เปิดใจเพิ่มเติมอีกว่า ตนเป็น ผบ.นสร. ใครๆ ก็ฟังและกลัวตนหมด แต่มีอยู่คนหนึ่งที่ไม่กลัว เขาก็จะให้คำแนะนำว่าสิ่งที่ทำจะเป็นอย่างไรบ้าง คือภรรยาของตน เพราะมีประสบการณ์มาก เคยขึ้นเขาเอเวอเรสต์ และเคยไปแอนตาร์กติกา 4 เดือน จึงช่วยในการประสานเครือข่ายต่างๆ เพราะเรื่องนี้เกี่ยวกับเรื่องธรรมชาติ ในภารกิจครั้งนี้มีเครือข่ายอยู่หลายส่วน มีทั้งเปิดตัวแล้วไม่เปิดตัว อีกทั้งตนได้ทำงานร่วมกับทีมงานของอีลอน มัสก์ 

"ภรรยาของผมถือเป็นกำลังใจที่ดี ให้การสนับสนุนตลอด ถ้าผมไม่ได้เขา ก็ไม่ได้มาถึงทุกวันนี้ ที่ผ่านมาภรรยาไม่เคยออกหน้าเลย เพราะขออยู่ข้างหลังตลอด ก็ขอขอบคุณภรรยาด้วย" พล.ร.ต.อาภากร กล่าวและว่า ส่วนจะนำบทเรียนในภารกิจถ้ำหลวงฯ มาใส่ในการฝึกซีลหรือไม่นั้น ขอให้คอยดู เพราะอยู่ในขั้นตอนต่อไป

ขณะที่ น.อ.อนันต์ สุราวรรณ์ ผู้บังคับการกรมรบพิเศษที่ 1 หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ (นสร.) กล่าวว่า การทำงานที่ผ่านมาเป็นการเรียนรู้ประสบการณ์และแก้ปัญหาวันต่อวัน ถือเป็นความเสี่ยง การส่งนักดำน้ำไปทำงานคิดอยู่เสมอว่ามีความสำเร็จ 50 เปอร์เซ็นต์ และไม่สำเร็จ หรือสูญเสีย 50 เปอร์เซ็นต์ แต่เราจะมองประเด็นความสำเร็จมากกว่าความสูญเสีย ตนภูมิใจกับทีมงานซีลทุกคน เมื่อต้องออกไปปฏิบัติงานก็จะทำเต็มที่ไม่มีเกี่ยงงอน ประสบการณ์ที่เกิดขึ้นจะได้นำไปแก้ไขให้เกิดความพร้อมทุกๆ ภารกิจที่มีความเสี่ยงเช่นนี้ในอนาคต

น.อ.อนันต์ กล่าวต่อว่า การทำงานในถ้ำไม่รู้ว่าวันนี้เป็นวันไหน นอนก็นอนในถ้ำตรงโถง 3 ตื่นบ้างพักบ้าง ลูกน้องก็สลับสับเปลี่ยนกันเข้าไปทำงาน ส่วนลูกน้อง 3 คนที่ขาดการติดต่อไป 23 ชม. หลังตรวจร่างกายก็ไม่ได้เป็นอะไรมาก ระหว่างการปฏิบัติหน้าที่คงพิจารณาในเรื่องของอากาศหายใจจึงใช้เวลานานในการดำน้ำออกมา วันนี้ก็เดินทางกลับมาพร้อมคณะด้วย

ด้าน น.ต.ค่าย โตชัยภูมิ อดีตหน่วยซีลรุ่น 9 และอดีตครูฝึกหน่วยซีล กล่าวถึงการเสริมบทเรียนการดำน้ำในถ้ำ หลังหน่วยซีลได้ทำภารกิจในถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน เพื่อช่วยเหลือทีมหมูป่าอะคาเดมี 13 คนว่า หลักสูตรเทคนิคการดำน้ำในถ้ำ Cave Diving Technic ซึ่งมีการฝึกขั้นพื้นฐานในพื้นที่ภาคใต้ เช่น เขาหลัก ตะกั่วป่า จ.ภูเก็ต มีชาวต่างชาติเปิดสอนอยู่ แม้จะเป็นถ้ำน้ำใส แต่ขอให้มีที่ไว้ฝึกและพัฒนาต่อได้ ไม่ได้ยาก แต่ขอให้เรารู้เทคนิคและอุปกรณ์ในสภาวะเปอร์เซ็นต์อากาศต่ำเช่นนี้จะทำอย่างไร ส่วนการดำน้ำในถ้ำนั้น สามารถพัฒนาต่อได้ แต่จะต้องรู้จักเทคนิคก่อน โดยเฉพาะการใช้เครื่องแบบนักดำน้ำและหมอต่างชาติที่ดำน้ำเข้ามา ซึ่งเป็นวิศวกรและนักวิทยาศาสตร์ และพวกเราเก่งอยู่แล้ว ส่วนของไทยใจถึง 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ขาดอุปกรณ์ ซึ่งจะต้องพัฒนาต่อไป โดยต้องเสริมหลักสูตร Cave Diving Technic ซึ่งตนได้ยินจาก พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ก็ตรงกับที่ตนคิดเหมือนกัน ในการเสริมทักษะการดำน้ำขั้นสูงโดยเป็นสิ่งที่เราคาดไม่ถึง ซึ่งทีมที่ไปทำภารกิจก็เจอเป็นครั้งแรก และไม่เคยไปฝึกที่ภาคใต้ ทำให้งงเป็นไก่ตาแตก เพราะไม่รู้จะใช้อะไร แต่ภารกิจที่ผ่านมาถือว่ามีการจัดการที่ดีในการปฏิบัติ

"ถือเป็นบทเรียนราคาแพงที่จะทำให้เกิดการพัฒนาหลักสูตรขึ้นอีกมาก ซึ่งการผลิตบุคลากรด้านนี้ไม่ได้เน้นที่ปริมาณ แต่เน้นที่คุณภาพ ซึ่งที่ผ่านมาซีลไม่มีรุ่น 13 เพราะเหลือคนผ่านแค่ 7 คนก็จะไปรวมไว้กับรุ่น 14" น.ต.ค่าย ระบุ.