“ยุทธศาสตร์สร้างเงื่อนไขบีบบางพรรคเข้าร่วมก่อนหรือหลังการเลือกตั้ง”
นายจาตุรนต์ ฉายแสง แกนนำพรรคเพื่อไทย ตอกย้ำระหว่างให้สัมภาษณ์ ทีมข่าวการเมือง ชี้ให้เห็นถึงกระแสข่าว คสช.ต้องการบอนไซพรรคการเมืองใหญ่ให้เล็กลง
พร้อมขยายให้เห็นสถานการณ์การเมืองกำลังเป็นไปตามยุทธศาสตร์ของ คสช.ชัดเจนมากขึ้นเป็นลำดับ
เริ่มตั้งแต่วางกติกา วางกลไกควบคุมนโยบายบริหารประเทศไว้ในรูปยุทธศาสตร์ชาติและแผนการปฏิรูป
แล้วก็ชัดเจนเป็นลำดับที่ คสช.ต้องการสืบทอดอำนาจ โดยจะเป็นรัฐบาลหลังการเลือกตั้ง เดิมทีมองกันว่ารอบแรกคงปล่อยให้พรรคการเมืองตั้งรัฐบาลและเลือกนายกรัฐมนตรีก่อน เมื่อเลือกไม่ได้ คสช.ค่อยเข้ามาในจังหวะก๊อกสอง แต่เขาคงวิเคราะห์แล้วว่ามันยาก เพราะต้องใช้ ส.ส.มากกว่า 250 คน เพื่อขอมติให้เลือกนายกฯก๊อกสอง
นำมาสู่ความพยายามเป็นรัฐบาลโดยการเลือกนายกฯรอบแรก วันนี้เชื่อว่ายังมีคนจำนวนมากไม่เข้าใจกติกา ยังไม่ทราบว่า ส.ว. 250 คน จะลงมติเลือกนายกฯได้ตั้งแต่รอบแรก
จึงเกิดการพูดถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้า คสช. เป็นนักการเมืองที่เคยเป็นทหารมาก่อน มีข่าวการตั้งพรรคการเมืองในทำเนียบรัฐบาล การทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอจากคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 53/2560 และกติกาการเลือกตั้งใหม่ รัฐบาลลงพื้นที่หาเสียง อัดฉีดงบประมาณลงพื้นที่เป้าหมาย โดยเฉพาะพื้นที่ที่ต้องการดึงพรรคการเมืองหรือนักการเมืองเข้าไปสนับสนุน
ตามมาด้วย “การดูด” เพื่อให้ได้ ส.ส.อย่างน้อย 126 เสียงสนับสนุนให้เป็นนายกฯก่อน และถึงต้องการเพิ่มอีก 126 เสียง เพื่อให้ได้ 251 เสียงขึ้นไปถึงจะบริหารประเทศได้ ถ้าเป็นไปตามนี้ก็ขึ้นอยู่กับประชาชนจะตัดสินอย่างไร
หลังเลือกตั้งหากไม่มีพรรคใหญ่หรือพรรคที่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์มีเสียงมากพอจัดตั้งรัฐบาลได้ แล้วพรรคการเมืองส่วนที่ไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์มีเสียงข้างมากและยืนยันไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์
...
พล.อ.ประยุทธ์ก็จะจัดตั้งรัฐบาลได้ เนื่องจากพรรคการเมืองด้วยกันยากเป็นพิเศษที่จะรวมเสียงได้มากถึง 376 เสียง แม้พรรคการเมืองได้ 251 เสียงขึ้นไปก็ไม่แน่ว่าจะตั้งรัฐบาลได้ เพราะต้องโหวตในที่ประชุมรัฐสภา ซึ่งมี ส.ว. 250 เสียงอยู่ด้วย โอกาสที่พรรคการเมืองจะตั้งรัฐบาลได้ยากด้วยสาเหตุนี้
แต่การตั้งรัฐบาลทั้งสองแบบก็ไม่ง่าย ฉะนั้นหลังการเลือกตั้งก็จะพบความไม่แน่นอนทางการเมือง ทั้งเสถียรภาพของรัฐบาล การหาเหตุล้มรัฐบาลก็ทำได้ง่ายจากหลายปัจจัย ที่สำคัญถ้าเขาได้เสียงข้างน้อยแล้วได้ขึ้นเป็นนายกฯ แม้เป็นไปตามกติกา แต่จะขาดความชอบธรรมอย่างสูง
รัฐบาลที่มาจากรูปแบบนี้จะเผชิญกับปัญหาต่างๆ ทั้งนโยบายของพรรคการเมืองนำไปปฏิบัติไม่ได้ เพราะไม่อยากให้พรรคการเมืองที่ร่วมรัฐบาลเด่น และยังเผชิญกับการควบคุมของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ คณะกรรมการจัดทำแผนการปฏิรูปประเทศ ยิ่งจะละเลยนโยบายจากพรรคการเมืองหรือความต้องการของประชาชน
ปัญหาของประเทศที่สะสมมานาน ประชาชนเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขก็ไม่ได้รับการตอบสนอง จะกลายเป็นวิกฤติอีกแบบหนึ่ง
ทีมข่าวการเมือง ถามว่า ในฐานะที่นายจาตุรนต์เป็นหนึ่งในรายชื่อที่มีโอกาสก้าวขึ้นเป็นผู้นำของพรรคเพื่อไทยจะปรับโครงสร้างพรรครับมือพลังดูดนักการเมืองและเตรียมพร้อมการเลือกตั้งอย่างไร นายจาตุรนต์ บอกว่า ต้องยอมรับเรื่องหัวหน้าพรรคหรือผู้ที่จะเป็นผู้สมัครนายกฯ ไม่แน่จะเป็นคนเดียวกันหรือไม่
รอให้ คสช.ปลดล็อกการเมืองก่อน ถึงจะทำกิจกรรมทางการเมือง เพื่อเปิดให้มีกระบวนการจัดประชุมพรรค รับฟังความเห็นจากสมาชิก วันนี้ผู้สนับสนุนพรรค ผู้ที่อยู่กับพรรคมานานก็อยากเห็นพรรคเพื่อไทยพัฒนาเป็นสถาบันการเมือง ยืนหยัดคู่การเมืองไปอีกยาวนาน
ช่วงนี้เป็นโอกาสที่เราจะรับฟังเสียงจากทุกฝ่ายเพื่อหาผู้นำและแกนนำ เดินหน้าสู่สนามเลือกตั้ง ครั้งนี้มันพิเศษกว่าการเลือกตั้งตามปกติที่ผ่านมา เพราะเป็นช่วงเวลาที่รอนานและเป็นการทดสอบพรรคการเมืองต่างๆ
ปัญหาการนำของเราจะเข้มข้นกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา แต่ในเมื่อมีกระบวนการรับฟังจากหลายฝ่าย รู้โจทย์ว่าต้องการหาผู้นำพรรคไปเผชิญกับสถานการณ์อย่างไร คงไม่เกินสติปัญญาของคนในพรรค ซึ่งจะสร้างระบบการนำรับมือสถานการณ์ข้างหน้าได้
โดยต้องมาดูที่จุดแข็งในด้านนโยบายนำไปสู่การปฏิบัติได้ผลจริง สามารถยึดโยงกับประชาชน ตอนนี้การทำนโยบายพรรคยังมีข้อจำกัด รอปลดล็อกการเมืองก่อนถึงทำจริงจัง
แม้สภาพปัญหาของประเทศสะสมมานานและซับซ้อน เป็นสิ่งที่ยาก การเสนอนโยบายมีข้อจำกัดตามกติกาใหม่ เราก็ต้องหาช่องทางวิธีนำเสนอโดยไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ให้เป็นที่ยอมรับของประชาชนและที่สำคัญต้องแก้ปัญหาของประเทศได้
ผมยังเชื่อมั่นว่านโยบายที่หวือหวาและประชาชนชอบ จะไม่สำคัญเท่ากับนโยบายที่ประชาชนชอบ เพราะแก้ปัญหาของประเทศได้จริง เราต้องทุ่มเทในเรื่องนี้
พรรคเพื่อไทยยังมีจุดแข็งจากการพัฒนาทางการเมือง ในรอบกว่า 10 ปี ตกเป็นเหยื่อของการถูกรัฐประหาร เป็นฝ่ายถูกกระทำจากระบบเผด็จการ กลายเป็นพรรคที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยอย่างชัดเจนและต่อสู้มาโดยตลอด
เช่น รัฐธรรมนูญฉบับปี 60 ได้คัดค้านมาตลอดตั้งแต่ยกร่าง เมื่อรัฐธรรมนูญยังไม่เป็นประชาธิปไตยต้องแก้ไข ส่วนแก้ไขอย่างไรจะต้องดูความเป็นไปได้และแสวงหาความร่วมมือจากหลายฝ่าย
หรือกรณีประกาศไม่สนับสนุน คสช.สืบทอดอำนาจ ไม่สนับสนุนนายกฯคนนอก แม้ พล.อ.ประยุทธ์มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อของพรรคใดพรรคหนึ่ง ก็ถือการเป็นสืบทอดอำนาจ ถ้าได้เสียงข้างมากจริงก็จัดตั้งรัฐบาลไป
พรรคเพื่อไทยยอมเป็นฝ่ายค้าน ไม่ร่วมกับรัฐบาลที่สืบทอดอำนาจของ คสช.
ส่วนกรณีข้อสงสัยว่าพรรคเพื่อไทยจะซูเอี๋ยหรือไม่ จะต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยจริงหรือไม่ มาถึงขั้นนี้เราพูดชัดเจนไปหมดแล้ว แม้การนำพรรคและผู้นำพรรคของทุกพรรคการเมืองยังไม่นิ่ง ทุกพรรคยังต้องจัดประชุมพรรคตามกฎหมาย เพื่อเลือกคณะกรรมการบริหารพรรค
จากที่ได้สัมผัสและได้ร่วมกับแกนนำผู้สนับสนุนพรรคเพื่อไทย ผมเชื่อมั่นไม่ว่าใครจะก้าวขึ้นเป็นผู้นำหรือแกนนำพรรค ก็ไม่สนับสนุนการสืบทอดอำนาจของ คสช.แน่นอน
ทีมข่าวการเมือง ถามว่าแนวโน้มเป็นอย่างไรที่พรรคเพื่อไทยจะจับมือพรรคประชาธิปัตย์ เพื่อร่วมต่อต้านการสืบทอดอำนาจของ คสช. นายจาตุรนต์ บอกว่า หลักการต้องดูว่าพรรคการเมืองใดไม่สนับสนุนการสืบทอดอำนาจของ คสช. ก็เป็นพันธมิตรกัน
โดยธรรมชาติทันที ไม่จำเป็นจะต้องจับมือกันหรือยกหูโทรศัพท์พูดคุยกัน
เช่น คสช.ได้เป็นรัฐบาล พรรคการเมืองที่ไม่สนับสนุน คสช.ก็เป็นพันธมิตรโดยธรรมชาติ เป็นฝ่ายค้านร่วมกัน แม้จะมีแนวทางหรือนโยบายที่แตกต่างกันไป
ส่วนการเป็นพันธมิตรถึงขั้นตั้งรัฐบาล วันนี้ยังพูดอะไรไม่ได้ ตามปกติทางการเมืองพรรคการเมืองต่างๆจะไม่ประกาศล่วงหน้าก่อนการเลือกตั้งและจะไม่ประกาศก่อนการเลือกตั้งนานๆ
บางคนบอกว่าถ้าคนนี้เป็นหัวหน้าพรรคนั้น พรรคนี้จะไม่ร่วมด้วย การนำพรรคนี้เป็นอย่างนั้นจะไม่ร่วมด้วย ณ เวลานี้ยังไม่มีใครรู้ว่าแต่ละพรรคใครจะเป็นผู้นำ ใครจะเป็นหัวหน้า
โดยเฉพาะพรรคการเมืองใหญ่ยังไม่ชัดเจนในสิ่งเหล่านี้ จะไปพูดล่วงหน้ากับพรรคนั้นพรรคนี้มันไม่ได้ บางคนบอกว่าหากคนนี้ยังเป็นหัวหน้าพรรคอยู่ จำไม่ได้หรือเขาเคยทำอะไรเอาไว้ จะร่วมมือกันได้อย่างไร แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าคนคนนี้ยังจะเป็นหัวหน้าพรรคอยู่หรือไม่ มันยังมีความไม่แน่นอน
ถึงบอกว่าต้องพูดด้วยหลักการใหญ่ พรรคไหนสนับสนุน คสช.สืบทอดอำนาจ ก็เป็นคนละพวกกัน ถ้าคัดค้าน คสช.สืบทอดอำนาจก็เป็นพวกเดียวกัน แต่ถึงขั้นจะทำอะไรร่วมกัน ต้องดูเหตุการณ์ในอนาคต ถือเป็นโจทย์ทางการเมืองว่าใครจะจับมือกับใคร
ในวันนี้พรรคเพื่อไทยที่ชัดเจนจะเดินควบคู่กันไป คือ นโยบายแก้ปัญหาประเทศ ไม่สนับสนุน คสช.สืบทอดอำนาจและทำให้ประเทศเป็นประชาธิปไตย ปลดล็อกการเมืองเมื่อไหร่ก็จะสื่อสารให้ประชาชนเข้าใจในสิ่งเหล่านี้
สุดท้าย เชื่อมั่นประชาชนที่เคยสนับสนุนพรรคเพื่อไทยจะยังคงสนับสนุนต่อไป
ถ้าทำนโยบายได้ดีและมีแนวทางสร้างประชาธิปไตยที่ดี
ประชาชนที่ยังไม่ตัดสินใจเลือกใครก็จะสนับสนุนเรามากขึ้น
นั่นหมายถึงเป็นมาตรการรับมือการเลือกตั้งและแก้ปัญหาถูกดูดไปในตัว.
ทีมการเมือง