"บิ๊กเจี๊ยบ" ชี้นำทีมหมูป่าออกจากถ้ำหลวงทางน้ำ ต้องมั่นใจ 100% ยันกำลังพร้อม รอเช็กสภาพร่างกาย-จิตใจ-ความสามารถว่ายน้ำ 13 ชีวิต เผยการดำน้ำมีความเสี่ยงสูง พร้อมแสดงความเสียใจอดีตซีลจิตอาสาเสียชีวิตขณะปฏิบัติหน้าที่

เมื่อวันที่ 6 ก.ค. 61 ที่กองบัญชาการกองทัพบก พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผบ.ทบ.กล่าวหลังการประชุมหน่วยขึ้นตรงกองทัพบก (นขต.) ว่า ได้เน้นย้ำให้ปรับกำลังในการช่วยเหลือการปฏิบัติงานในถ้ำหลวง ขุนน้ำนางนอน จ.เชียงราย ของทีมหมูป่าอะคาเดมี ขณะนี้กองทัพบกมีกำลังพลกว่า 1,200 คน แบ่งเป็น 3 ส่วน คือ 1. ปฏิบัติการช่วยอำนวยความสะดวก เรื่องการลำเลียงขนย้ายอุปกรณ์ร่วมกับหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ 2. สนับสนุนการระบายน้ำพื้นที่รอบถ้ำและเบี่ยงทางน้ำ 3. ปฏิบัติงานในพื้นที่บนเขาและยังคงปฏิบัติภารกิจร่วมกับกรมป่าไม้ ทั้งนี้ ตนสั่งเพิ่มเติมเรื่องการผลัดเปลี่ยนกำลังหมุนเวียนกำลังพลชุดใหม่ เข้าไปทดแทนกำลังพลที่อ่อนล้าที่เป็นกำลังพลระดับล่าง

พล.อ.เฉลิมชัย กล่าวต่อว่า สำหรับแนวทางการนำเด็กและโค้ชออกจากถ้ำนั้น ต้องประกอบด้วยหลายๆ อย่างที่ทำให้มั่นใจ 100% ว่าจะประสบความสำเร็จ ประกอบด้วย 1. ความพร้อมของเจ้าหน้าที่ทั้งหน่วยซีลและหน่วยสนับสนุน ยุทโธปกรณ์ ตนคิดว่ามีความพร้อมพอสมควร อาจจะขาดอุปกรณ์พิเศษบางอย่าง แต่คนพร้อมแล้ว 2. ตัวน้องๆ ทั้ง13 คน จะต้องพิจารณาใน 3 ส่วน คือ 1. ร่างก่าย ที่จะต้องได้รับการฟื้นฟูให้แข็งแรงเหมือนเดิม หรือใกล้เคียงของเดิม ถือเป็นเรื่องสำคัญ เพราะต้องใช้เวลา 5 ชั่วโมงในการเดินทางออกมา 2. ขีดความสามารถทางน้ำ และการใช้เครื่องมือ ซึ่งจำเป็นต้องเรียนรู้พอสมความ และ 3.ความพร้อมของจิตใจ เพราะการดำน้ำสภาพจิตใจสำคัญที่สุด ต้องนิ่งและควบคุมสติได้ โดยเฉพาะการดำน้ำในถ้ำที่มีพื้นที่แคบ และมองไม่เห็น ทราบว่าในบางช่วงของการเดินทางทางน้ำน้องๆต้องดูแลตัวเองด้วย 3. สภาวะแวดล้อมแบ่งเป็น 2 ประการ คือ ปริมาณน้ำและอากาศ ขณะนี้ทราบว่าหน่วยในพื้นที่พยายามทุกทาง เพื่อจะเติมอากาศเข้าไปและลดปริมาณน้ำในถ้ำ

...

พล.อ.เฉลิมชัย กล่าวถึงอดีตหน่วยชีลที่เสียชีวิตขณะปฏิบัติงานว่า การดำน้ำถือเป็นเรื่องที่เสี่ยงอันตราย การยึดถือกฎนิรภัยเป็นเรื่องสำคัญ ตนไม่ทราบข้อมูลในขณะนั้นยืนยันว่า ทุกคนที่เข้าไปมีความรู้ความสามารถแต่เราไม่รู้สถานการณ์ในขณะนั้นว่า อะไรทำให้เกิดความพลาดพลั้ง

"เป็นเรื่องที่น่าเสียใจเขาทุ่มเททั้งชีวิต สำหรับการทำงานและเป็นอดีตข้าราชการที่มีจิตอาสามาช่วยทำงานในภารกิจซ้ำๆ คนน้อยพื้นที่ห่างไกลเวลาพักผ่อนน้อยและสภาวะภายในถ้ำไม่ได้อยู่สบาย อาจส่งผลโดยที่ตัวเองไม่รู้ตัว ผมได้ฝากเน้นย้ำไปยังกำลังพลเพียงแต่บางครั้งใจอยากจะช่วยและคิดว่าไหว ต้องเข้าใจว่าอะไรจะเกิดก็ต้องเกิด เราทำหน้าที่ให้ดีที่สุด ส่วนความหวังที่จะนำน้องๆ ออกจากถ้ำโดยเร็วที่สุดนั้น เชื่อว่าจะทำได้ ทุกภาคส่วนช่วยเหลือกันเต็มที่ถือเป็นสิ่งดีๆ ที่เกิดขึ้นในเหตุการณ์ครั้งนี้ เป็นเรื่องที่น่าชื่นชม" พล.อ.เฉลิมชัย กล่าว

ขณะนี้เป็นเรื่องที่ตอบอยากว่า ควรนำเด็กและโค้ชออกทางน้ำหรือทางโพรงถ้ำ เพราะทั้ง 2 ทางมีทั้งข้อดีและข้อเสีย การเข้าทางโพรงถ้ำ ถ้าเราทำได้เป็นเรื่องที่ดี แต่ดูจากพื้นฐานก็ยากพอสมควร ทั้งความลึกและเครื่องมือที่จะต้องทำในเวลาจำกัด ส่วนการออกทางน้ำก็จะมีสิ่งที่ต้องคำนึงถึงมากมาย อย่างไรก็ตาม ให้หน้างานเป็นผู้ตัดสินใจ