กอ.รมน.อนุมัติแผนเบตง 61พร้อมเน้นให้บูรณาการข้อมูลอย่างรอบด้าน แก้ไขปัญหาให้ประชาชนในทุกพื้นที่ หนุนบูรณาการเศรษฐกิจ ดับไฟใต้
เมื่อวันที่ 2 ก.ค. 61 ที่กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) สวนรื่นฤดี พล.ต.พีรวัชฌ์ แสงทอง โฆษก กอ.รมน.กล่าวว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร(กอ.รมน.) ครั้งที่ 1/61 โดยที่ประชุมได้พิจารณาอนุมัติแผนปฏิบัติการเบตง 61 เพื่อให้การปฏิบัติเป็นไปตามกฎหมาย การแก้ไขปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ตามนโยบายการบริหารและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ สร้างความปลอดภัย เคารพในหลักสิทธิมนุษยชน ประชาชนมีความเชื่อมั่นและมีส่วนร่วมเสริมสร้างสันติสุขอย่างยั่งยืน ให้แผนการปฏิบัติยึดโยง และสอดคล้องกับโครงการเมืองต้นแบบ "สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน" ที่กำหนดให้อำเภอเบตง เป็นเมืองต้นแบบ "การพัฒนาที่พึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืน" (Sustainable Development City) ซึ่งจะมีการพัฒนาให้เป็นต้นแบบของเมืองท่องเที่ยวครบวงจรและแหล่งท่องเที่ยวใหม่ รวมทั้งพัฒนาคุณภาพระบบโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 28 พ.ค.61 ครม.ได้มีมติอนุมัติให้เขตพื้นที่ อ.เบตง จ.ยะลา เป็นพื้นที่ปรากฏเหตุการณ์อันกระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร และให้ กอ.รมน.หรือหน่วยงานภายในที่ กอ.รมน.มอบหมายให้เป็นศูนย์อํานวยการเป็นผู้รับผิดชอบในการป้องกัน ปราบปราม ระงับ ยับยั้ง และแก้ไขหรือบรรเทาเหตุการณ์อันกระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร และจัดทําแผนการดําเนินการในการบูรณาการ การกํากับ ติดตาม และเร่งรัดหน่วยงานของรัฐและเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องให้ดําเนินการเป็นไปตามแผนที่กําหนด โดยให้มีผลบังคับใช้ระหว่างวันที่ 28 พ.ค. 61 ถึงวันที่ 30 พ.ย. 61
...
จากคำสั่ง คสช.ที่ 51/2560 ได้แก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ซึ่งได้กำหนดให้มีคณะกรรมการอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค และจังหวัด นั้นคณะกรรมการอำนวยการ ฯจึงได้พิจารณาอนุมัติ ระเบียบคณะกรรมการอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค และจังหวัด ขึ้นเพื่ออำนวยการ บูรณาการ ประเมินผลการดำเนินการรักษาความมั่นคงภายในภาคและจังหวัด และนำนโยบายของรัฐบาล และนโยบายในการปฏิบัติงานของผู้อำนวยการไปสู่การปฏิบัติ โดยกำหนดมาตรการที่เหมาะสม มีความเชื่อมโยงระหว่างหน่วยงาน สอดคล้องกับสถานการณ์ในพื้นที่ เพื่อประโยชน์และความสุขของประชาชน รวมถึงให้ชุมชน/สังคมมีความมั่นคง ปราศจากภัยคุกคามทุกรูปแบบ
นอกจากนี้ คณะกรรมการฯ ได้รับทราบถึงการจัดทำแผนบูรณาการกลไกการบริหารจัดการความมั่นคง เพื่อรองรับยุทธศาสตร์ชาติด้านความมั่นคง, การดำเนินงานสนับสนุนโครงการ ไทยนิยม ยั่งยืน และผลการปฏิบัติงานที่สำคัญของศูนย์บูรณาการและขับเคลื่อน กอ.รมน.(ศบข.กอ.รมน.) ซึ่งคณะกรรมการอำนวยการฯ มีข้อห่วงใยสภาวะเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตของประชาชน จึงให้ กอ.รมน.ได้บูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาการดำเนินงานเพื่อสนับสนุนให้พี่น้องประชาชนในพื้นที่ มีคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี มีรายได้ รวมถึงให้มีการประเมินความมั่นคง การเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจและการมีส่วนร่วมในพื้นที่ เพื่อเป็นข้อมูลอย่างรอบด้านในการพัฒนาสังคม ให้มีสันติสุข มีคุณภาพชีวิตอย่างมั่นคงและยั่งยืน