คดีทุจริตธนาคารกรุงไทย ปล่อยกู้ 9 พันล้าน บริษัทกฤษดามหานคร เริ่มต้นจาก ”พ่อแม้ว” แต่ไม่แคล้วเป็น ’หอกร้าย’ ทิ่มแทง ’ลูกโอ๊ค’

แล้วศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งการเมือง ก็อนุมัติออกหมายจับ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นใบที่ 2 ในคดีร่วมทุจริตการปล่อยกู้ของธนาคารกรุงไทย กับกลุ่มกฤษดามหานคร หลังมีการแก้ไขกฎหมาย วิ อาญาฯ นักการเมืองใหม่ อนุญาตให้พิจารณาคดีลับหลังจำเลยได้

คดีดังนี้ หากใครจำได้ เรื่องเริ่มมาตั้งแต่ พ.ศ. 2546 เมื่อผู้บริหารธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ในขณะนั้น ได้ให้สินเชื่อกับ กลุ่ม บมจ.กฤษดามหานคร ที่มีสถานะในกลุ่มลูกหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของธนาคาร แต่ได้มีการอนุมัติสินเชื่อให้บริษัทในกลุ่มกฤษดามหานคร 

คดีนี้ อัยการสูงสุดเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายทักษิณ, กรรมการบริหาร, กรรมการสินเชื่อ, เจ้าหน้าที่สินเชื่อของธนาคารกรุงไทย และกลุ่มบริษัทเอกชน รวม 27 ราย โดยมี 4 คน ที่เคยถูก คตส. กล่าวหาว่า มีส่วนเกี่ยวข้อง แต่อัยการสูงสุดสั่งไม่ฟ้อง ซึ่งหนึ่งในนั้นมี "นายพานทองแท้ ชินวัตร" รวมอยู่ด้วย

...

ทั้งนี้ โดยองค์คณะผู้พิพากษาศาลฎีกาฯ ได้อ่านและอธิบายคำฟ้องให้พวกจำเลยฟัง ยกเว้น พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จำเลยที่ 1 ที่ไม่เดินทางมาศาล ฟังแล้วสอบถาม ปรากฏว่า จำเลยให้การปฏิเสธ ถือว่าได้รับทราบนัดโดยชอบแล้ว มีเหตุให้สงสัยว่า จำเลยจะหลบหนี จึงให้ออกหมายจับ และให้จำหน่ายคดีในส่วนของจำเลยที่ 1 ออกจากสารบบความชั่วคราว

ต่อมาในปี 2560 ศาลฎีกา มีคำสั่งยกเลิกคำสั่งจำหน่ายคดีชั่วคราว และมีคำสั่งให้ดำเนินการกระบวนการพิจารณาต่อไป โดยไม่ต้องกระทำต่อหน้าจำเลย

และในปีเดียวกันนั้น นายพานทองแท้ ได้เข้ารับทราบข้อกล่าวหาจากดีเอสไอ พร้อมให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา จากนั้น นายพานทองแท้ ได้มอบอำนาจให้ทนายความเข้ายื่นหนังสือขอให้ดีเอสไอสอบปากคำพยานเพิ่มเติม โดยพนักงานสอบสวนดีเอสไอ อนุมัติสอบปากคำพยานเฉพาะปากที่เกี่ยวข้องโดยตรง รวม 8 ปาก

อย่างไรก็ตาม คดีนี้จะครบอายุความ 15 ปี ภายในสิ้นปี 2561 สำหรับความผิดฐานฟอกเงิน มีโทษตามกฎหมาย จำคุก 1-10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 20,000-200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

สำหรับคดีฟอกเงินจากการทุจริตอนุมัติเงินกู้ของธนาคารกรุงไทย ให้กับเครือกฤษดามหานคร มีเงิน 2 ก้อน คือ 10 ล้าน และ 26 ล้านบาท โดยก้อนเงิน 10 ล้านบาท ทางคดี มีการชี้แจงมาโดยตลอดของฝ่ายผู้ถูกกล่าวหา ว่าเป็นเงินที่ นายรัชฎา กฤษดาธานนท์ โอนมาเพื่อร่วมการลงทุนนำเข้ารถยนต์หรูเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทย แต่ภายหลังแผนธุรกิจไม่เป็นไปตามข้อตกลง จึงยกเลิกโครงการ โอนเงินคืนให้กับนายรัชฎา ไปแล้ว ซึ่งพนักงานสอบสวนไม่เชื่อตามคำชี้แจง เนื่องจากรถยนต์หรูมีราคาสูง เงินลงทุนเพียงคนละ 10 ล้าน อาจไม่สามารถนำเข้ารถยนต์หรูได้จริง

ส่วนเงินอีกก้อน 26 ล้าน เชื่อมโยงไปยัง นางกาญจนาภา หงษ์เหิน เลขานุการส่วนตัวของคุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพชร, นายวันชัย หงษ์เหิน สามีนางกาญจนาภา และ นางเกศินี จิปิภพ แม่ของนางกาญจนาภานั้น อ้างว่าเป็นการโอนเงินของ นายรัชฎา กฤษดาธานนท์ ไปเพื่อลงทุนซื้อหุ้น แต่ไม่ได้ลงบัญชีกันเป็นลายลักษณ์อักษร เมื่อขายหุ้นได้มีกำไร ก็ได้ทยอยคืนเงินให้กับ นายรัชฎา กฤษดาธานนท์ ไปแล้ว

ทั้งหมดจึงเป็นมหากาพย์ของคดีทุจริตธนาคารกรุงไทย ที่เรื่องเริ่มต้นมาจากผู้ใหญ่ (นายทักษิณ ชินวัตร) แต่ลงท้าย (พานทองแท้ ชินวัตร) เด็กในขณะนั้น ลูกชายอดีตนายกรัฐมนตรี ต้องมารับผลกระทบจากการกระทำของพ่อตัวเองไปด้วยแบบไม่อาจหลีกเลี่ยง เวรกรรมแท้ๆ...