"จาตุรนต์" รุกถึงคิวทวงสิทธิ์คืนธุรกรรมการเงิน ส่งทนายยื่นขอผู้ตรวจฯพิจารณาส่งศาล รธน.ชี้คำสั่ง คสช.สั่งระงับธุรกรรมขัด รธน.หรือไม่ มองเลือกปฏิบัติ ละเมิดสิทธิเสรีภาพ
เมื่อวันที่ 15 มิ.ย.61 ที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกรัฐมนตรี แกนนำพรรคเพื่อไทย มอบหมายให้ทนายไปยื่นหนังสือถึงผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อขอให้พิจารณานำเรื่องส่งศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาคำสั่ง คสช.ที่ 10/2557 เรื่องระงับธุรกรรมทางเงิน เมื่อวันที่ 24 พ.ค.57 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่
โดยต่อมา นายจาตุรนต์ โพสต์เฟซบุ๊กว่า "เนื่องจากคำสั่งดังกล่าวที่บังคับใช้ต่อผมมา 4 ปีกว่า ทำให้เกิดความเดือดร้อน เป็นคำสั่งที่ขัดต่อหลักนิติธรรม ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เพิ่มภาระหรือจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลเกินสมควรแก่เหตุ และกระทบต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของบุคคล คำสั่งดังกล่าวมีลักษณะโดยเบื้องต้นเป็นกฎหมาย เนื่องจากมีการกำหนดโทษทางอาญา หากฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตาม แต่กลับมีผลใช้บังคับแก่บุคคลบางบุคคลเป็นการเฉพาะ โดยไม่ได้มีผลใช้บังคับเป็นการทั่วไปตามหลักการออกกฎหมาย ที่มีผลเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนตามที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 26 วรรคสอง กำหนด การคงไว้ซึ่งคำสั่งดังกล่าวปราศจากเหตุผลตามกฎหมายและปราศจากความจำเป็นใดๆ ทั้งปวง เพราะผู้ถูกออกคำสั่งมิได้มีพฤติการณ์ก่อความไม่สงบในบ้านเมือง การห้ามทำธุรกรรมเป็นการตอบโต้การไม่มารายงานตัวต่อ คสช. ซึ่งระบุชัดในย่อหน้าแรกคำสั่งนี้ ดังนั้นเมื่อเหตุที่อ้างในคำสั่งหมดสิ้นไปและล่วงเลยมากว่า 4 ปี แล้ว ก็สมควรเพิกถอนคำสั่งดังกล่าว"
นายจาตุรนต์ ระบุต่อว่า "แต่เมื่อขอให้เพิกถอนคำสั่งกลับไม่ได้รับการเพิกถอนคำสั่ง กลับมีการอ้างว่าให้มาขออนุญาตเป็นครั้งๆ ไป ซึ่งไม่สมควรแก่กรณี และเป็นการละเมิดต่อสิทธิและเสรีภาพในทางทรัพย์สิน สิทธิในทางเศรษฐกิจ และสิทธิในการประกอบกิจการ อาชีพ หรือวิชาชีพ อันเป็นสิทธิมนุษยชนและเป็นสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 37 และมาตรา 40 ขณะที่คำสั่งดังกล่าวเข้าลักษณะเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม เพียงเพราะผู้ถูกออกคำสั่งมีความคิดเห็นทางการเมืองที่แตกต่าง อันขัดต่อหลักการห้ามเลือกปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 27 ไม่กำหนดระยะเวลา กระบวนการยกเลิกคำสั่งก็มีความยุ่งยากและยากที่จะปฏิบัติได้จริง"
...
นายจาตุรนต์ ระบุต่อว่า "ดังนั้นจึงถือได้ว่าเป็นคำสั่งที่ขัดแย้งต่อรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน มาตรา 25 มาตรา 26 มาตรา 27 มาตรา 37 มาตรา 40 และมาตรา 77 ตลอดจนพันธกรณีตามกฎหมายระหว่างประเทศที่ประเทศไทยเป็นภาคี ได้แก่ กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม (ICESCR) ภาค 1 ข้อ 1 ถึงข้อ 3 ภาค 2 ข้อ 2 ข้อ 4 ข้อ 5 ภาค 4 ข้อ 25 ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (UDHR) ข้อ 2 ข้อ 7 ข้อ 8 ข้อ 12 ข้อ 22 กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ข้อ 1 ข้อ 4 ข้อ 26 ซึ่งได้รับการคุ้มครองและรับรองตามรัฐธรรมนูญ"
"ด้วยเหตุนี้จึงได้ไปยื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อขอให้นำเสนอเรื่องคำสั่ง คสช. ที่ 10/2557 เป็นคำสั่งที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยต่อไป ตามมาตรา 230 และ 231 แห่งรัฐธรรมนูญ" นายจาตุรนต์ ระบุต่อ