"พงศพัศ" ลุยนำร่องใช้ 5 เกาะ จ.ภูเก็ต ทำนิคมลิง หย่าศึกพิพาท โต้ไม่ได้นำลิงไปปล่อยเกาะ การันตีเป็นพื้นที่มีอาหาร-น้ำสมบูรณ์ เตรียมทำประชาพิจารณ์ สอบถามความต้องการคนในพื้นที่ก่อนดำเนินการ มั่นใจไม่เข้าข่ายขัด พ.ร.บ.ทารุณกรรมสัตว์
เมื่อวันที่ 16 พ.ค.61 ที่รัฐสภา คณะกรรมการติดตามกลไกและพิจารณาการปกป้องคุ้มครองสัตว์ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) จัดสัมมนา "แนวทางการบริหารจัดการปัญหาลิงในพื้นที่วิกฤติ (ตามยุทธศาสตร์แผนแม่บทการบริหารจัดการปัญหาลิงในจังหวัดลพบุรีอย่างยั่งยืน)"
โดยนายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ ประธานคณะกรรมการติดตามกลไกและพิจารณาการปกป้องคุ้มครองสัตว์ มอบแผนแม่บทการบริหารจัดการปัญหาลิงในพื้นที่วิกฤติ ให้รองผู้ว่าราชการจังหวัด 12 จังหวัด ที่มีพื้นที่วิกฤติของลิง ได้แก่ กระบี่ ตรัง ภูเก็ต อำนาจเจริญ กทม. ชลบุรี ประจวบคีรีขันธ์ สตูล สระบุรี เพชรบุรี มุกดาหาร เพื่อให้จังหวัดนำไปบริหารจัดการ อาทิ การลดปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนกับลิง การหาสถานที่รองรับลิงแห่งใหม่ การสร้างนิคมลิงรองรับลิงจากพื้นที่มีปัญหา
นายจรูญ ชูเกียรติวัฒนา ปศุสัตว์จังหวัดลพบุรี กล่าวว่า ในเขต จ.ลพบุรี มีลิงอาศัยกระจายอยู่ตามอำเภอต่างๆ รวมกว่า 10,000 ตัว ในปี 2560-2561 จ.ลพบุรี จัดการควบคุมประชากรลิงในเขตเมืองไปแล้ว 6 ครั้ง มีการทำทะเบียนลิงทำให้ปัจจุบัน มีลิงเพิ่มขึ้นเพียง 800-1,000 ตัว เป็นผลจากการจัดการควบคุมประชากรลิง จากการทำประชาพิจารณ์คนในชุมชนย่านเขตเมืองลพบุรี พบว่า 66% อยากให้ย้ายลิงออกจากพื้นที่ไปอยู่ที่อื่น อย่างไรก็ตามการดักจับลิงในพื้นที่ลพบุรีมาทำหมันค่อนข้างยาก เพราะลิงในพื้นที่มีพฤติการณ์ฉลาด หลบเร็วมาก ไม่ยอมให้เจ้าหน้าที่ยิงยาสลบ บางครั้งเอามือจับลูกดอกแล้วขว้างกลับใส่เจ้าหน้าที่ การจับลิงไม่ใช่เรื่องง่าย ลิงแค่ 60 ตัว แต่ต้องระดมเจ้าหน้าที่นับร้อยคนมาจับ และปัจจุบัน มีลิงเพิ่มขึ้นมาเพียง 800-1,000 ตัว เป็นผลมาจากการจัดการควบคุมประชากร
...
พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ สนช. ในฐานะประธานอนุกรรมการติดตามกลไกการปกป้องคุ้มครองสัตว์ กล่าวว่า ในส่วนการทำนิคมลิง จะนำร่องทำที่ จ.ภูเก็ต มีการไปสำรวจ 5 เกาะ ที่จะย้ายลิงไปอยู่ ได้แก่ เกาะงำ เกาะปายู เกาะมาลี เกาะแพ เกาะทนาน ทั้งหมดเป็นเกาะที่ไม่มีคนอยู่ อยู่ห่างไกลจากธรรมชาติ แต่เป็นแหล่งที่มีอาหารลิงอย่างสมบูรณ์ และเตรียมจะทำแหล่งรองรับน้ำจืดให้ลิงได้กิน ไม่มีกลไกมนุษย์จะมาทำร้ายลิงได้ เป็นเกาะที่มีศักยภาพ เป็นที่อยู่ของลิงได้ ไม่ได้หมายความว่า อยู่ๆ จะเอาลิงไปปล่อยเกาะ เป็นแค่คำพูด ทั้งนี้เมื่อมีการเตรียมพร้อมเรื่องนิคมลิงเสร็จเรียบร้อยแล้ว จะมีการทำประชาพิจารณ์สอบถามประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากลิงว่า ต้องการให้ลิงอยู่ร่วมกับคนต่อไป หรือย้ายลิงออกจากพื้นที่ หากชาวบ้านไม่ต้องการลิง จึงย้ายลิงไปอยู่ในนิคมที่เตรียมไว้ หรือถ้าคนในพื้นที่บอกว่า สามารถอยู่กับลิงได้ ไม่มีปัญหา ก็ไม่เป็นไร ที่ผ่านมามีความพยายามทำหมันลิง แต่ไม่เพียงพอต่อการเจริญพันธุ์ของลิง การทำนิคมลิงจึงเป็นทางเลือกหนึ่งในการแก้ปัญหาในอนาคต ยืนยันว่า กลไกการย้ายลิงคำนึงถึงสวัสดิภาพเป็นหลัก เพราะ สนช.ชุดนี้เป็นผู้ออก พ.ร.บ.ป้องกันทารุณกรรมสัตว์ด้วยตัวเอง จึงมีจัดการให้ดีที่สุด ให้คนและลิงอยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน
ภายหลังการสัมมนา พล.ต.อ.พงศ์พัศ ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมว่า การระบุว่านำลิงไปปล่อยเกาะเป็นแค่ถ้อยคำเท่านั้น เพราะนิคมที่จะนำลิงไปอยู่เป็นพื้นที่สมบูรณ์ มีแหล่งอาหาร น้ำจืด ที่ลิงสามารถอยู่อาศัยได้ถึงบั้นปลายชีวิต เมื่อย้ายไปแล้วก็มีกระบวนคอยติดตามดูความเป็นอยู่ของลิง ไม่ถือว่าขัดต่อ พ.ร.บ.ทารุณกรรมสัตว์ เพราะไม่ได้ไปฆ่าหรือทำร้าย ได้หารือกับนักวิชาการ กลุ่มคนรักลิง และคนที่มีปัญหากับลิง ทุกคนยินดีให้ความเห็นเพื่อหาทางออกที่ดีที่สุด เป็นไปตามวิสัยทัศน์ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช.ที่ให้ไว้เกี่ยวกับการบริหารจัดการลิงที่ลพบุรี ส่วนงบประมาณที่จะใช้โครงการนี้คาดว่าใช้ไม่มาก ส่วนใหญ่เป็นแหล่งธรรมชาติอยู่แล้ว แค่เติมเต็มในสิ่งที่ลิงต้องการเพื่อใช้เป็นอาหาร ทั้งหมดเป็นกระบวนการทดลองเบื้องต้นเพื่อหาทางออก หากทำแล้วไม่ประสบความสำเร็จ หรือหลายฝ่ายไม่สบายใจ ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ ก็จะแสวงหาวิธีการอื่นต่อไป