ครม.อนุมัติหลักการ ร่าง พ.ร.บ.แรงงานบังคับเป็นของขวัญวันแรงงาน เพิ่มโทษหนักกระทำ "เด็ก-สตรี-คนพิการ" จำคุกไม่เกิน 20 ปี ปรับ 1 ล้านบาท

เมื่อวันที่ 1 พ.ค.61 ที่ทำเนียบรัฐบาล พ.อ.อธิสิทธิ์ ไชยนุวัติ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงผลประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ที่ประชุม ครม.อนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ป้องกันและปราบปรามการใช้แรงงานบังคับ พ.ศ. ... เนื่องจากประเทศไทยต้องให้สัตยาบันพิธีสาร ปี ค.ศ.2014 ว่าด้วยแรงงานบังคับ ภายในเดือน มิ.ย.61 โดยได้กำหนดพันธกรณีเฉพาะในการป้องกันแรงงานบังคับ การคุ้มครองเหยื่อ การเข้าถึงการเยียวยา รวมถึงการกำหนดให้ประเทศสมาชิกต้องมีนโยบายและแผนปฏิบัติการของประเทศ จึงเป็นที่มาของร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว ทั้งนี้ร่าง  พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวมีสาระสำคัญ คือ มีการกำหนดลักษณะความผิด ฐานใช้แรงงานบังคับ ให้หมายถึงผู้ใดข่มขืนใจผู้อื่นให้ทำงาน หรือบริการโดยไม่สมัครใจ ให้กับตัวเองหรือบุคคลที่สาม โดยการข่มขู่ ขู่เข็ญว่าจะลงโทษโดยมิชอบ หรือใช้กำลังประทุษร้าย ยึดเอกสารสำคัญประจำตัวของบุคคลนั้นไว้ และนำภาระหนี้สินของบุคคลนั้น หรือบุคคลอื่นมาเป็นสิ่งผูกมัดโดยมิชอบ หรือด้วยวิธีอื่นใด ที่ทำให้ไม่สามารถขัดขืนได้ ถ้าการกระทำแบบนั้นไม่เป็นความผิดฐานค้ามนุษย์ ให้ถือว่าผู้นั้นกระทำความผิดฐานใช้แรงงานบังคับ

พ.อ.อธิสิทธิ์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ร่างกฎหมายได้กำหนดบทลงโทษว่า หากผู้ใดกระทำความผิด ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือน ถึง 4 ปี หรือปรับตั้งแต่ 4 หมื่น ถึง 2 แสนบาท ต่อผู้เสียหาย 1 คน หรือทั้งจำทั้งปรับ โดยมีการเพิ่มกรณีที่มีการกระทำผิดต่อเด็ก ผู้สูงอายุ หญิงมีครรภ์ หรือผู้มีกายพิการไม่สมประกอบ หากทำให้ผู้เสียหายได้รับอันตรายสาหัส หรือเป็นโรคร้ายแรงจนถึงแก่ความตาย ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 6-12 ปี แต่ไม่เกิน 20 ปี ปรับตั้งแต่ 6 แสน ถึง 1.2 ล้านบาท อย่างไรก็ตามยังกำหนดให้จัดตั้งกองทุนเพื่อป้องกันและปราบปรามการใช้แรงงานบังคับ เพื่อช่วยเหลือและเยียวยาผู้เสียหายจากการกระทำความผิด โดยกำหนดให้มีคณะกรรมการ 2 คณะ คือ 1.คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการใช้แรงงานบังคับ ที่มีอำนาจหน้าที่กำหนดนโยบาย ยุทธศาสตร์ และกำหนดมาตรการการป้องใช้แรงงานบังคับ และ 2.คณะกรรมการกองทุนเพื่อการป้องป้องกันและปราบปรามการใช้แรงงานบังคับ.

...