"อภิสิทธิ์" แนะ รบ.คสช.ทบทวนใช้งบกระตุ้นเศรษฐกิจไม่เข้าเป้า พร้อมเหน็บทุ่มงบ 7 ล้านภาษี ปชช.จ้างทำไลน์ พีอาร์ รัฐบาล ชี้การลงพื้นที่ ปชช.ดูออกมุ่งเป้าหมายการเมืองหรือไม่ ยันการเมืองไทยต้องยึดระบบถ่วงดุล พร้อมติงแทรกแซงองค์กรอิสระ สร้างปัญหาเท่าซื้อเสียง ลต. เตือน คสช.มีส่วนได้-เสีย อย่าลงสนาม ย้ำอันตราย...

เมื่อวันที่ 16 เม.ย.61 นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์และอดีตนายกฯ กล่าวถึงการบริหารเศรษฐกิจของรัฐบาลคสช.ว่า อยากให้ประเมินการถึงการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลว่าที่ผ่านมาทุกอย่าง แล้วดูความคุ้มค่า เพราะข้อสังเกตที่ได้มาตลอดสามถึงสี่ปีที่ผ่านมาคือ หลายโครงการไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่รัฐบาลวางไว้ เพราะไม่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างที่ตั้งใจ แต่กลับจำกัดอยู่กับคนบางกลุ่มมากกว่าจะทำให้คนทั่วไปมีรายได้ที่ดีขึ้น โดยเมื่อเทียบงบประมาณที่ลงไปกับความคุ้มค่าที่ได้รับ มีผลที่ได้น้อยเมื่อเปรียบเทียบกับเงินงบประมาณที่ลงไปจึงอยากให้ปรับวิธีคิดว่า ทำอย่างไรให้ประชาชนมีรายได้ดีขึ้นโดยธรรมชาติ ซึ่งจะยั่งยืนและเป็นผลดีต่อภาวะการเงินการคลังด้วย อย่างไรก็ตาม เชื่อว่ารัฐบาลคงไม่ตั้งใจให้เกิดปัญหาแต่มองสภาวะเศรษฐกิจไม่ตรงกับความจริงที่เปลี่ยนไปมากกว่า

นายอภิสิทธิ์ ยังกล่าวถึงการลงพื้นที่ของรัฐบาล คสช. ในช่วงนี้ ว่า ถ้าจะบอกว่าเขาลงพื้นที่มันผิดก็คงสรุปไม่ได้ เพราะการบริหารราชการแผ่นดินโดยปกติก็ต้องพยายามที่จะตอบสนองความต้องการของประชาชน ก็หวังว่าประชาชนจะพึงพอใจ พูดง่ายได้คือได้คะแนนทางการเมือง ถ้าลงไปเพื่อจะไปดูข้อเท็จจริง ทำให้การแก้ไขปัญหาตรงจุด เราก็ไปต่อว่าเขาไมได้ แต่ของอย่างนี้ดูไปสักพักก็จะดูออกเองว่าเป็นเรื่องของประสิทธิภาพของการบริหารราชการแผ่นดินหรือเป็นเรื่องของการมีเป้าหมายทางการเมือง

...

ส่วนกรณีที่รัฐบาลทำไลน์ขึ้นมา โดยเอางบประมาณไปซื้อนั้น นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า การประชาสัมพันธ์ก็อยู่ที่ของหน่วยงานว่าจะรูปแบบไหน แต่ก็มีข้อสังเกตว่ารูปแบบที่จะทำไลน์ โดยเอาไลน์ออฟฟิเชียลมาทำจะประชาสัมพันธ์งานของรัฐได้ขนาดไหน เพราะนึกไม่ออกว่าเขาจะเขียนอะไรมา และไม่แน่ใจว่าจะมีคนติดตามมากหมายแต่ไหน และงบที่ใช้ 7 ล้านบาท โดยมีการทำสติกเกอร์ไลน์ สันนิษฐานว่าเป็นรูปนายกฯ และใครอยากได้สติกเกอร์นี้ฟรีก็ไปโหลดมาได้ โดยการมาติดตามตัวไลน์นี้ เขาก็จะสามารถส่งข้อความได้ อย่างไรก็ตามรัฐบาลสามารถทำได้ แต่เป้าหมายการประชาสัมพันธ์คืออะไร และเป็นข้อมูลแบบไหน

"ผมคุยกับเพื่อนๆ หลายคนบอกว่าอย่างนี้ บริษัท ห้างร้านทำกันเยอะแยะ เวลาเขาอยากได้สติกเกอร์เขาก็โหลดมา เวลาไม่อยากได้ ก็บล็อกออกไป แล้วสติกเกอร์ก็ส่งกันไป ผมก็ไม่แน่ใจว่า การมาเทียบเคียงกับรัฐบาล การประชาสัมพันธ์ตรงนี้จะเป็นอย่างนี้ แต่นี่ไม่ใช่ครั้งแรก รัฐบาลเคยทำตอนที่มีค่านิยม 12 ประการ แล้วบอกว่ามีสติกเกอร์ชุดหนึ่ง บังเอิญผมไม่ได้ไปติดตาม และไม่ได้รับสติกเกอร์ชุดนั้นเลย จึงไม่รู้ว่าการทำอย่างนี้จำคุ้มค่าแค่ไหน ทั้งที่เป็นเงินภาษีอากรของประชาชน จะบอกว่า 7 ล้านบาท เล็กน้อย แต่ก็เป็นเงินภาษีประชาชน และการทำสติกเกอร์ สวัสดี ขอบคุณ เป็นประชาสัมพันธ์รัฐอย่างไร" นายอภิสิทธิ์กล่าว

นอกจากนี้ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า การเมืองในประเทศไทย ถ้าเราไม่ยึดตัวระบบตรวจสอบถ่วงดุลให้เกิดความพอดี ตอนนี้มาตรา 44 ใหญ่กว่าทุกอย่าง ซึ่งความจริงศาลรัฐธรรมนูญต้องตีความต่อว่าเป็นอย่างนั้นจริงหรือไม่ ทำให้เราเริ่มสูญเสียตัวระบบว่าถ่วงดุลจริงหรือไม่ เวลามีพี่ใหญ่ใช้อำนาจเหนือทุกอย่างบางเรื่องก็ถูกใจ ตนก็ยอมรับ บางทีก็สะใจว่ามันง่าย รวดเร็ว แต่ความสะใจในบางกรณีสังคมก็ต้องอดทน ระบบที่มีการถ่วงดุลอาจจะช้า ไม่สะใจเสมอไป แต่จะเป็นหลักประกันที่ดีกว่า

นายอภิสิทธิ์ กล่าวต่อว่า ส่วนที่เป็นห่วงเรื่องการใช้มาตรา 44 กับองค์กรอิสระทั้งหลาย โดยเฉพาะกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ไม่ว่าจะอยู่ขั้วไหนคิดว่าทุกคนเห็นน่าจะตรงกันว่าการเมืองประเทศไทยถ้าจะเดินไปข้างหน้า 1. ต้องมีเลือกตั้ง และ 2. ถ้าเริ่มจากเลือกตั้งที่ไม่บริสุทธิ์เที่ยงธรรม ตนว่าไม่มีทางที่การเมืองจะดีขึ้น บางยุคบางสมัยบอกว่าเราคิดแต่เรื่องการซื้อเสียง แต่การใช้อำนาจรัฐหรือการใช้อื่นเข้ามาแทรกแซงทำให้การเลือกตั้งไม่เป็นธรรม เป็นปัญหาที่ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการซื้อเสียง และเหตุผลที่มีกกต.มาตั้งแต่ต้นเพราะทุกคนบ่นว่า รัฐเข้าไปเข้าไปมีส่วนได้เสียเพราะเป็นผู้จัดการเลือกตั้ง ดังนั้นเมื่อมี กกต.ที่เขาบอกว่าเป็นอิสระ แล้วเรายังเปิดโอกาสให้คนใช้อำนาจบริหารเข้าไปแทรกแซง ชี้นำได้ สุดท้ายก็กลับไปสู่ปัญหาเดิมว่าการเลือกตั้งไม่สามารถปราศจากการแทรกแซงของการใช้อำนาจรัฐ ทำให้การเลือกตั้งไม่เที่ยงธรรมก็จะกลายเป็นปัญหาความชอบธรรมของระบบประชาธิปไตยอีก 

เมื่อถามว่า เมื่อมาตรา 44 ออกโดย คสช. การที่คสช.จะลงเล่นการเมือง เหมือนเอาเปรียบหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า แม้ไม่มีส่วนในการเลือกตั้ง ตนก็ยังลังเลว่าจะสามารถใช้อำนาจมาแทรกแซงการทำงานขององค์กรอิสระได้ เพราะทำให้ไม่เป็นอิสระ แต่ยิ่งบอกว่าคนที่ใช้อำนาจอาจจะมีส่วนได้ส่วนเสียกับการเลือกตั้งครั้งต่อไปก็ยิ่งเป็นอันตรายมากยิ่งขึ้น และรัฐธรรมนูญก็เขียนไว้ชัดว่าหากจะลงเล่นการเมือง ฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ ก็ต้องลาออก 90 วันหลังรัฐธรรมนูญประกาศ ซึ่งก็ชัดเจนว่าป้องกันผลประโยชน์ทับซ้อน กรณีหัวหน้าคสช. ก็ลง ส.ส.ไม่ได้แล้ว แต่ตามตัวอักษรของรัฐธรรมนูญไม่ได้ห้ามให้พรรคการเมืองเสนอชื่อเป็นนายกฯ 1ใน 3 แล้วเจ้าตัวยินยอม แต่คงไม่ค่อยสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญเท่าไหร่ เพราะชัดอยู่แล้วว่า ไม่ต้องการให้ฝ่ายบริหารมาเกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง จึงทำให้ตนมีความรู้สึกว่าในเรื่องของข่าวจะมีการตั้งพรรคโดยเอารัฐมนตรีมาเป็นหัวหน้าพรรค เป็นเลขาธิการพรรค ซึ่งเป็นรูปแบบที่แปลกเพราะรัฐมนตรีทั้ง 2คนไม่สามารถลงส.ส.ได้ และไม่ถูกเสนอชื่อเป็นนายกฯด้วย คำถามคือ ทำไมต้องเอาคนที่มีอำนาจอยู่ในกระทรวงพาณิชย์ ในกระทรวงอุตสาหกรรม มาเกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง.