เลขาฯ สมช.ระบุฝ่ายมั่นคงเกาะติดใกล้ชิดสถานการณ์สหรัฐฯ อังกฤษ และฝรั่งเศส ร่วมกันถล่มซีเรีย ชี้ไม่ประมาท ประเมินเป็นระยะๆ แต่เชื่อไม่น่าขยายวงกว้างเหตุมุ่งถล่มเฉพาะศูนย์ผลิตอาวุธเคมี
พล.อ.วัลลภ รักเสนาะ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) กล่าวถึงสถานการณ์ความตึงเครียด หลังกองทัพของสหรัฐอเมริกา อังกฤษ และฝรั่งเศส จับมือเปิดฉากปฏิบัติการโจมตีทางทหารกับประเทศซีเรียว่า ฝ่ายความมั่นคงของประเทศมีการเฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด รวมถึงต้องมีการประเมินเป็นระยะๆ ส่วนการโจมตีในคราวนี้ ความสูญเสียของประชาชนจะน้อย เพราะสหรัฐฯ มุ่งโจมตีสถานีผลิตศูนย์วิจัยอาวุธเคมี ตรงนี้น่าจะไม่มีการขยายวงกว้างมากขึ้นในการโจมตี เป็นการป้องกันไม่ให้กระทบประชาชน และในส่วนของพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ไม่ได้กำชับอะไรเป็นพิเศษ เป็นเรื่องที่หน่วยงานด้านความมั่นคงต้องติดตามอยู่แล้ว ส่วนผลกระทบในภาพรวมแน่นอนย่อมเกิดผลกระทบไปในภูมิภาคและทั่วโลก เพราะประเทศมหาอำนาจเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้อง ด้านเศรษฐกิจก็ต้องมีผลกระทบบ้าง เพราะประเทศซีเรียก็ถือว่าเป็นประเทศผลิตน้ำมันรายใหญ่ ตลาดหุ้นคงมีตกใจบ้าง
เมื่อถามว่า มีความจำเป็นที่ฝ่ายความมั่นคงของประเทศต้องเรียกประชุมอะไรเป็นพิเศษเพื่อเตรียมความพร้อมหรือไม่ พล.อ.วัลลภ กล่าวว่า จะประเมินต่อไป ดูว่ามีความตึงเครียดเพิ่มมากขึ้นหรือไม่ และไทยในฐานะประเทศสมาชิกสหประชาชาติ การดำเนินการต่างๆ จะยึดกฎหมายระหว่างประเทศ เราก็ไม่เห็นด้วยที่จะให้เกิดความรุนแรง อยากให้ทั้งสองฝ่ายอดทนอดกลั้น สำหรับสถานการณ์ครั้งนี้เกิดขึ้นในตะวันออกกลาง ถ้ามองแง่ดีไม่น่าจะมีเหตุรุนแรงมากขึ้น เพราะฉะนั้นไม่อยากให้ประชาชนวิตกจนมากเกินไป อย่างไรขอให้ติดตามสถานการณ์ ส่วนคนไทยที่ซีเรียตอนนี้จะในส่วนของแรงงานไทยในอิสราเอล อาจจะได้รับผลกระทบบ้าง ซึ่งคิดว่าฝ่ายกระทรวงการต่างประเทศและสถานทูตที่นั้นคอยดูแลอยู่แล้ว
...
พล.อ.วัลลภ ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติม ว่า การใช้อาวุธเคมีเป็นเรื่องที่หลายประเทศไม่เห็นด้วยตามหลักกฎหมายสากลระหว่างประเทศ เนื่องจากอานุภาพการนำมาใช้โจมตีดังกล่าวเป็นการทำลายชีวิตและสร้างความสูญเสีย ทั้งนี้ ไทยไม่ต้องการให้เกิดความสูญเสียและอยากให้ทุกฝ่ายใช้ความอดทน อดกลั้น ซึ่งหน่วยงานด้านความมั่นคงของไทยได้เฝ้าติดตามสถานการณ์ความเคลื่อนไหว ตามคำสั่งของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แต่ขณะนี้นายกรัฐมนตรียังไม่ได้มีคำสั่งใดๆ เพิ่มเติมนอกจากติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ กล่าวว่า หากสถานการณ์ดังกล่าว สร้างความห่วงกังวลยิ่งขึ้น อาจจะมีการประชุมองค์การสหประชาชาติ หรือ ยูเอ็น ซึ่งสามารถเรียกประชุมฉุกเฉินได้หรือหากมีชาติสมาชิกร้องขอ
เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ยังกล่าวด้วยว่า ในการเดินทางไปสหรัฐอเมริกา ของพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมในปลายเดือนเมษายนนี้ซึ่งจะมีโอกาสได้พบปะหารือกับรัฐมนตรีกลาโหมของสหรัฐฯ นั้น ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะมีการหารือในเรื่องประเด็นซีเรียด้วยหรือไม่ เนื่องจากเป็นการนัดหมายและวางกำหนดการไว้ก่อนหน้านี้แล้ว