นายกฯ แจงลงพื้นที่เพื่อพบประชาชน ให้เห็นปัญหากับตา แลกเปลี่ยนแนวคิด เพื่อเป็นกำลังใจ ยกลงปัตตานีงานลูกเสือถือคำปฏิญาณสอน ซื่อสัตย์ เสียสละ อดทน เตรียมความพร้อม ไม่ต่างวางยุทธศาสตร์ชาติ คำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวม ก่อนประโยชน์ส่วนตน

เมื่อวันที่ 13 เม.ย. 61 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวในรายการศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนว่า ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ตนมีภารกิจในการลงพื้นที่และประชุมที่ต่างประเทศที่สำคัญๆ หลายโอกาส อยากจะหยิบยกบางประเด็นมาเป็นข้อคิดสังคมของเราได้ตระหนัก รับรู้ และร่วมมือกัน ทั้งนี้ ในการลงพื้นที่พบปะพี่น้องประชาชนนั้น ต้องการได้เห็นกับตาตัวเอง ได้สนทนาปัญหากับพี่น้องประชาชน และแลกเปลี่ยนแนวความคิดกับผู้หลักผู้ใหญ่ ผู้เฒ่าผู้แก่ ผู้นำชุมชน ปราชญ์ชาวบ้าน ด้วยตนเอง เราต้องการรับฟังข้อปัญหาเพื่อจะนำมาแก้ไข หากมีคำนิยมใดๆ ก็ถือเป็น "กำลังใจ" ให้กับคณะรัฐมนตรี (ครม.) และข้าราชการทุกคน อันเป็นผลมาจากการทุ่มเทในการทำงานที่ผ่านมา

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวต่อว่า อย่างสิ่งที่อยากจะสะท้อน จากงานชุมนุมลูกเสือจังหวัดชายแดนภาคใต้ ณ จ.ปัตตานี นั้น เห็นว่ากิจกรรมที่ไม่มีการแบ่งแยกกีดกันในเรื่องเชื้อชาติ ผิวพรรณ วรรณะ ลัทธิทางศาสนาใดๆ อีกทั้งไม่อยู่ภายใต้อิทธิพล หรือเกี่ยวข้องกับการเมือง สำหรับประเทศไทยนั้น การเป็น "ลูกเสือ ลูกเสือชาวบ้าน" ช่วยปลูกฝังความเป็นผู้มีระเบียบวินัย มีความซื่อสัตย์เสียสละอดทน และมี "จิตอาสา" ปฏิบัติหน้าที่อย่างมีกฎเกณฑ์และยินดีช่วยเหลือผู้อื่นทุกเมื่อ ยึดถือ "คำปฏิญาณและกฎของลูกเสือ" เป็นหลักในการปฏิบัติตนในสังคม เป็นพื้นฐานการเป็น "พลเมืองดี" ของประเทศอีกด้วย ส่วนคติพจน์ที่ว่า "จงเตรียมพร้อม" สอนให้เรามองไกล มองไปข้างหน้า อย่างมีวิสัยทัศน์ รู้จักเตรียมการวางแผนล่วงหน้า ทำงานอย่างมีแบบแผน หรือที่เรียกว่ามี "ยุทธศาสตร์" สอดคล้องกับที่รัฐบาลนี้ ที่ต้องทำให้เป็นจริงเป็นจัง

...

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวต่อว่า สำหรับการเดินทางไปแสดงปาฐกถาพิเศษ ภายใต้หัวข้อ "บทบาทสถานศึกษากับการขับเคลื่อน Thailand 4.0" นั้น ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็เป็นสถาบันการศึกษาอันทรงเกียรติ เป็นสถาบันอุดมศึกษาแห่งแรกของประเทศไทย อยู่คู่สังคมไทยมายาวนานกว่า 101 ปี ที่ตนได้ย้ำกับนิสิตจุฬาฯ คือ พระราชดำรัสของ สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ที่ว่า "ขอให้ถือประโยชน์ส่วนตนเป็นที่สอง ประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์เป็นกิจที่หนึ่ง" ซึ่งมีความหมายชัดเจนตรงตัว ว่า "เราควรคำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวม ก่อนประโยชน์ส่วนตน" ในนทุกๆ เรื่อง เพราะสังคมหรือบ้านเมืองก็เป็นที่ๆ เราอยู่ร่วมกันเป็นจำนวนมาก หากต่างคนก็เรียกร้องในสิ่งที่ตนพึงพอใจ โดยไม่สนใจส่วนรวม แล้วความสุขจะอยู่ที่ตรงไหน การเดินหน้าประเทศ การลงทุนโครงการต่างๆ บางโครงการที่ติดขัดก็ด้วยเหตุนี้ เราต้องหา "จุดสมดุล" ร่วมกันให้ได้ เพื่อจะรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติในภาพรวม บางครั้งเราก็ต้องยอมเสียบางส่วน เพื่อให้ได้สิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่าในวันข้างหน้า