ปธ.ศาลรธน. ย้ำ คนดี สำคัญสุดในกระบวนการยุติธรรม ชี้ หลักนิติธรรมอยู่เหนือบทบัญญัติทางกฎหมายที่เป็นลายลักษณ์อักษร ยัน ตุลาการ รธน.ใช้นิติธรรม วินิฉัยหลายวาระ รวมถึง ประเด็นเสียงข้างมากมุ่งแก้ที่มา ส.ว.ปี 56 ด้วย
วันที่ 9 เม.ย. นายนุรักษ์ มาประณีต ประธานศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวปาฐกถาพิเศษเรื่อง ศาลรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยภายใต้หลักนิติธรรม เนื่องในวาระศาลรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยครบรอบ 20 ปี ว่า หลักนิติธรรมมีสองประการ คือ มีหลักกฎหมายที่เป็นธรรม และต้องมีคนที่มาบังคับใช้กฎหมาย หรือบุคคลในกระบวนการยุติธรรมทั้งหมด เช่น ตำรวจ อัยการ ศาล ซึ่งคนที่บังคับใช้กฎหมายจะต้องเป็นคนดี หลักนิติธรรมถึงจะเดินต่อไปได้ แต่ส่วนใหญ่ที่มีปัญหาเช่นเดียวกันทั่วโลกคือบุคคลที่มาใช้กฎหมาย เพราะหากใช้กฎหมายอย่างไม่เป็นธรรมแล้วหลักนิติธรรมจะไม่เกิดขึ้น
นายนุรักษ์ กล่าวว่า รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน บัญญัติว่า รัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล องค์กรอิสระ และหน่วยงานของรัฐต้องปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ กฎหมาย และหลักนิติธรรมเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและความผาสุกของประชาชน ซึ่งสะท้อนว่าหลักนิติธรรมนอกจากจะมีสภาพบังคับแล้ว ยังตอกย้ำว่า หลักนิติธรรมเป็นไปเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ และความสุขของประชาชน โดยศาลรัฐธรรมนูญ ได้นำหลักนิติธรรมมาวินิจฉัยปัญหาทางรัฐธรรมนูญหลายครั้ง โดยศาลได้วางไว้ว่า การจำกัดสิทธิพื้นฐานของประชาชน ทำได้ แต่ต้องได้สัดส่วนกัน คือการดำเนินนโยบายของรัฐ กับการดำรงไว้ซึ่งสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ที่ศาลได้กำหนดไว้มีหลักฐาน คือ คำวินิจฉัย หลายเรื่อง เช่น ร่างพ.ร.บ.ทางหลวง พ.ศ...., พ.ร.บ.การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย พ.ศ.2511 และพ.ร.บ.การประปาส่วนภูมิภาค พ.ศ. 2522
ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ระบุว่า ศาลรัฐธรรมนูญยังได้กล่าวถึงหลักนิติธรรมในการใช้อำนาจรัฐ โดยนิยามไว้ในคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 15-18/2556 กรณีเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มาส.ว.ของสมาชิกรัฐสภาเข้าข่ายขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 ซึ่งหลักนิติธรรมถือเป็นแนวทางในการปกครองประเทศที่มาจากหลักความยุติธรรมทางธรรมชาติ อันเป็นความเป็นธรรมที่บริสุทธิ์ปราศจากอคติโดยไม่มีผลประโยชน์ส่วนตนเข้ามาเกี่ยวข้องและแอบแฝง หลักนิติธรรมจึงเป็นหลักการพื้นฐานสำคัญของกฎหมายที่อยู่เหนือบทบัญญัติที่เป็นลายลักษณ์อักษร
...
ดังนั้น การอ้างหลักเสียงข้างมากมาสนับสนุนการใช้อำนาจตามอำเภอใจโดยไม่ได้คำนึงถึงเสียงข้างน้อยในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ จนทำให้เกิดความเสียหายและความเสื่อมโทรมของประเทศชาติหรือการวิวาทบาดหมางและแตกสามัคคีกันอย่างรุนแรงในหมู่ประชาชน ตามที่ปรากฏเป็นปัญหาวิกฤติของชาติที่ผ่านมาย่อมถือว่าขัดต่อหลักนิติธรรม นอกจากนี้ยังพบพฤติการณ์การเสียบบัตรแทนกัน โดยอ้างว่ามีบัตรประจำตนหลายใบและเสียบเล่น ซึ่งก็อยากจะถามว่าไปตรวจสุขภาพจิตกันบ้างหรือไม่ แต่สุดท้ายศาลวินิจฉัยว่าเป็นการเสียบบัตรแทนกัน
“สิ่งใดที่ศาลวินิจฉัยไปแล้ว ทุกองค์กรต้องปฏิบัติตามเอาหลักนั้นไปปฏิบัติ นอกจากศาลรัฐธรรมนูญ ยึดตัวบทบัญญัติเป็นสำคัญ เหนือกว่านั้นคือหลักนิติธรรม สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ คน ตราบใดก็ตามถ้าคนไม่ดี เป็นตุลาการที่ไม่ดี กฎหมายจะดีเท่าไรก็ไร้ประโยชน์ ดังนั้นเราต้องหาคนดีมาปกครองประเทศ ให้คนดีมารักษากฎหมาย รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ถูกเรียกว่าเป็นฉบับปราบโกง แต่น่าจะเรียกว่าเป็นรัฐธรรมนูญคนดีมากกว่า” นายนุรักษ์ กล่าว และว่าศาลรัฐธรรมนูญไทย คือผู้ปกป้องคุ้มครองรัฐธรรมนูญ ซึ่งไม่ใช่หมายถึงรัฐธรรมนูญฉบับใดฉบับหนึ่งเท่านั้น แต่ยังหมายถึงหลักการพื้นฐานและอัตลักษณ์ทางรัฐธรรมนูญของประเทศไทยที่มีพัฒนาการมาอย่างต่อเนื่องยาวนานคู่กับการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของการเมืองการปกครองประเทศของเรา