ชอบธรรม สง่างาม

หากว่ากันตามรูปการณ์แล้ว ความเป็นไปได้ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ น่าจะหาต้นสังกัดในพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง

อย่างเช่นพรรคการเมืองที่นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯฝ่ายเศรษฐกิจ เลียบเคียงให้มองเห็นภาพ

แม้จะไม่พูดตรงๆก็ตาม

พรรคการเมืองนี้มีการถอดสมการเบื้องต้นว่า จะมีนายอุตตม สาวนายน เป็นหัวหน้าพรรค นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เป็นเลขาธิการพรรค ทั้ง 2 คนเป็นรัฐมนตรีร่วมรัฐบาลเดียวกัน

จะมีคน “รุ่นใหม่” และ “รุ่นเก่า” ผสมผสานกัน จึงน่าจะเหมาะสมที่นายกฯลุงตู่จะเข้าไปมีส่วนร่วมในฐานะที่ปรึกษาพรรค
ที่ว่าเหมาะสมก็เพราะจะเป็นพรรคการเมืองที่มีแนวทางชัดเจน และสานงานต่อของรัฐบาลชุดนี้

เน้นย้ำไปที่การปฏิรูปประเทศ การยกระดับประเทศว่าด้วยโครงการอภิมหาโปรเจกต์อีอีซี การแก้ไขปัญหาความยากจน
ความเหลื่อมล้ำในสังคม

แค่นโยบายหลักๆนี้ น่าจะได้รับความสนใจจากประชาชนได้

ที่บอกว่า พล.อ.ประยุทธ์เหมาะสมกับพรรคการเมือง ก็เพราะรู้ทิศทาง เข้าใจกันได้เป็นอย่างนี้ เนื่องจากบุคลากรล้วนเคยทำงานร่วมกันมา

พูดง่ายๆก็คือรู้มือ รู้ใจกันเป็นอย่างดี

สำคัญยิ่งก็คือ จะทำให้ได้รับการยอมรับจากประชาชน พรรคการเมือง นักการเมือง เพราะเป็นการเข้าทางตรอกออกทางประตูตามกติกาการเมืองที่ทุกฝ่ายต้องปฏิบัติไม่ต่างกัน

เสียงค่อนขอด หรือเสียงครหานินทาก็จะลดไปตามเงื่อนไขที่เป็นจริง ยิ่งไปกว่านั้น นอกเหนือจะชอบด้วยกฎหมายแล้ว

ยังมีความชอบธรรมที่ทุกฝ่ายต้องยอมรับ

เป็นการสืบอำนาจของ คสช.ที่สนับสนุนให้ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ ในฐานะ “นายกฯคนใน” โดยมีชื่อเป็นผู้ชิงตำแหน่งในบัญชีรายชื่อของพรรคเสนอให้รัฐสภาเลือกหลังการเลือกตั้ง ซึ่งจะต้องมีชื่อผู้สนับสนุน 376 เสียงของทั้ง 2 สภา

...

มีเสียง ส.ว. 250 คน อยู่ในมือแล้ว เหลืออีกแค่ 126 เสียงก็ได้เป็นนายกฯทันที

แต่ในทางการเมืองที่เป็นจริงนั้นแม้จะมีเสียง ส.ว.250 เสียง แต่เนื่องจากอำนาจและบทบาทในทางการเมืองในรูปแบบ 2 สภานั้น ค่อนข้างจะจำกัดเด่นชัดที่สุด สามารถร่วมโหวตนายกฯได้

ตรงนี้แหละที่จะเป็นปัญหาหากได้เป็นนายกฯคนในก็ตาม

ดังนั้น สิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งก็คือเสียง ส.ส. ที่จะสนับสนุนในสภาจะต้องมีเกินกึ่งหนึ่งเพื่อเป็นหลักประกันในอำนาจและการบริหารประเทศ

อย่างน้อยจะต้องมี 251 เสียงขึ้นไป จึงเป็นหลักประกันได้

เพราะหากได้เสียงไม่เกินกึ่งหนึ่งขึ้นไปแค่ฝ่ายค้านไม่ว่าจะเป็นพรรคการเมืองไหนก็ตาม หากคิดจะ “ลองเชิง” ด้วยการยื่นเปิดอภิปรายไม่ไว้ว่างใจเท่านั้นแหละ โอกาสปิ๋วจะสูงยิ่ง

เพราะการเมืองหลังการเลือกตั้งนั้นแม้จะเป็นแบบ “ครึ่งใบ” แต่ก็เป็นการเมืองในระบบรัฐสภาที่จะมีทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล

นายกฯมีอำนาจก็จริงแต่ไม่มีแม่น้ำ 5 สาย ไม่มี ม.44 เป็นเครื่องมือและกลไกอำนาจในการปกครองประเทศ

การตัดสินใจเพื่อสืบอำนาจต่อไปนั้น แม้ดูจะง่ายแต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายๆเช่นกัน จะเป็นองคาพยพทางการเมืองที่สำคัญคือประชาชนต้องให้การสนับสนุนเพื่อให้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของ ส.ส.

ก่อนตัดสินใจอย่างใดอย่างหนึ่งต้องคิดให้รอบคอบรอบด้านด้วย.

“สายล่อฟ้า”