"จาตุรนต์" อัด คสช.-รัฐบาล เห็นแก่ตัว ทำทุกอย่างเพื่ออยู่ต่อในอำนาจ แทนสร้างกติกาอย่างเป็นธรรม ลิดรอนสิทธิ์เพื่อจุดมุ่งหมายให้ "ประยุทธ์" เป็นนายกฯหลังเลือกตั้ง ซัดน่าละอายอาศัยความล้มเหลวสร้างความปรองดองหวังอยู่ยาว ชี้อย่าแปลกใจหากถูกรุมสกรัม
เมื่อวันที่ 1 เม.ย.61 นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกรัฐมนตรีและแกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีผู้ตรวจการแผ่นดินมีมติส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคำสั่ง คสช.ที่ 53/2560 เรื่องการดำเนินการตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยพรรคการเมือง ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ตามที่พรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์ยื่นคำร้องว่า ถ้าสุดท้ายแล้วทำให้คำสั่ง คสช.ที่ 53/2560 ถูกยกเลิกหรือถูกแก้ไขในสาระสำคัญ อาจจะลดความเสียหายที่เกิดกับพรรคการเมืองลง และถ้า คสช.รีบปลดล็อกพรรคการเมือง จะทำให้พรรคการเมืองดำเนินการในเรื่องต่างๆ เร็วขึ้น และการเลือกตั้งจะไม่ล่าช้าจนเกินไป เพราะพรรคการเมืองยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ แต่ศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้รับ แต่เมื่อผู้ตรวจการเป็นคนยื่น เชื่อว่าศาลรัฐธรรมนูญก็ต้องรับ
นายจาตุรนต์ กล่าวต่อว่า เนื่องจากถือว่าความเห็นของผู้ตรวจการฯมีประเด็นอยู่ เพราะเห็นว่าเป็นการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน โดยเฉพาะสมาชิกพรรค ซึ่งเป็นเหตุให้ผู้ตรวจการตัดสินใจยื่นรวมถึงได้แจกแจงประเด็นที่เห็นว่าขัดรัฐธรรมนูญว่าในแง่ของพรรคการเมืองการที่จะให้สมาชิกถูกลิดรอนสิทธิในการเป็นสมาชิก แต่ต้องมาทำตามเงื่อนไขที่ให้เวลาน้อยมาก และเหมือนกับทุกอย่างต้องมาเริ่มต้นกันใหม่หมด ทำให้เสียหายต่อผู้เป็นสมาชิกและมีผลกระทบต่อพรรคการเมืองมากที่สุด คือ ต้องยุบสาขาพรรคเดิมไปหมด และต้องเริ่มต้นกันใหม่ จะทำให้สมาชิกพรรคที่มีอยู่เดิมมีจำนวนเหลือน้อยมาก อย่างชนิดที่แตกต่างกันลิบลับกับที่เคยมีอยู่ บางพรรคมีเป็นแสนอาจเหลือแค่หลักหมื่น ที่มีเป็นล้านอาจจะเหลือแค่แสนหรือไม่ถึงแสน เป็นการทลายพรรคการเมืองอย่างมาก
...
นายจาตุรนต์ กล่าวต่อว่า ส่วนที่ขัดรัฐธรรมนูญแน่ๆ ก็คือการที่คำสั่งนี้กำหนดให้ คสช.เป็นผู้ดูแลให้พรรคการเมืองปฏิบัติตามกฎหมาย ซึ่งไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ เพราะรัฐธรรมนูญกำหนดให้ กกต.เป็นผู้ดูแลให้พรรคการเมืองปฏิบัติตามกฎหมาย นอกจากนั้นจากการแสดงความเห็นหรือการชี้แจงของคนในรัฐบาลก็ยังบอกด้วยว่าคำสั่งนี้มีผลทำให้ คสช.และรัฐบาลจะเป็นผู้กำหนดวันเลือกตั้ง บอกให้ คสช.และรัฐบาลหารือเกี่ยวกับการกำหนดวันเลือกตั้ง โดยอาจจะเชิญพรรคการเมืองหรือไม่ก็ได้ ซึ่งประเด็นสำคัญไม่ได้อยู่ที่การเชิญพรรคการเมือง แต่อยู่ที่ คสช.และรัฐบาลจะเป็นคนกำหนดการเลือกตั้ง ดังนั้นคำสั่งนี้นอกจากขัดรัฐธรรมนูญแล้วยังเป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ การที่ผู้ตรวจส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความจึงเป็นเรื่องที่สมควรแล้ว แล้วเราก็ได้แต่หวังว่าจะมีการวินิจฉัยไปในทางที่ทำให้ลดความเสียหาย ต่อฝ่ายต่างๆ ลงได้
นายจตุรนต์ กล่าวต่อว่า ดังนั้นคำสั่งของ คสช.นี้จึงมีผลต่อการทำลายพรรคการเมือง และมีผลโดยอัตโนมัติ เป็นปฏิกิริยาลูกโซ่ที่ทำให้ต้องมีการแก้ไขกฎหมายอื่นๆ ตามมา และทำให้การเลือกตั้งต้องเลื่อนออกไป ซึ่งเป็นจุดมุ่งหมายสำคัญของ คสช. และเรื่องที่เป็นปัญหามากควบคู่กันคือการที่ไม่ยอมปลดล็อกให้พรรคการเมืองดำเนินกิจกรรม ทั้งๆ ที่ไม่มีเหตุผลอะไรเลยที่จะต้องห้ามพรรคการ เมืองทำกิจกรรม ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่เกี่ยวข้องอะไรกับความวุ่นวายในบ้านเมืองเลย และเป็นเรื่องที่จำเป็นสำหรับการเลือกตั้งที่ต้องให้พรรคการเมืองในการเตรียมเรื่องต่างๆ เตรียมนโยบายที่ต้องมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับประชาชน และเมื่อขัดขวางกระบวนการนี้ก็จะทำให้พรรคการเมืองทำประโยชน์ได้น้อย การเลือกตั้งมีความหมายน้อยลงเป็น
"จุดมุ่งหมายของ คสช.คือ ต้องการให้การเลือกตั้งเลื่อนออกไป การเลือกตั้งไม่มีความหมาย และต้องการให้คนเห็นว่าถึงการเลือกตั้งแล้วบ้านเมืองก็ไม่ได้ดีขึ้น เพราะฉะนั้นต้องให้ คสช.และกองทัพปกครองเรื่อยไป อันนี้เรียกความเห็นแก่ตัวก็ได้ เป็นจุดมุ่งหมายของ คสช.มาตั้งแต่ต้นแล้ว" นายจตุรนต์ กล่าว
เมื่อถามว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.ตั้งคำถามเมื่อประกาศโรดแม็ปเลือกตั้งชัดเจนแล้ว แต่ทำไมยังเร่งรัดและเวลานี้ดูเหมือนบางพรรคการเมืองรุมสกรัมรัฐบาล คสช.นายจาตุรนต์ กล่าวว่า จริงๆ แล้วใครก็ตามที่ได้รับรู้ปัญหาที่เกิดขึ้นก็จะเข้าใจเจตนาอันไม่ชอบของ คสช.เมื่อพรรคการเมืองต่างๆ ได้สัมผัสด้วยตัวเอง และถึงขั้นตอนที่ต้องทำงานและเจอปัญหามากๆ ยิ่งทำให้เข้าใจได้ชัดเจนว่า
"ปัญหาทั้งหลายทั้งปวงมาจาก คสช.พูดให้ตรงประเด็นที่สุดคือ พล.อ.ประยุทธ์ ที่เป็นหัวหน้า คสช.ต้องการเป็นนายกฯหลังการเลือกตั้ง ทำทุกอย่างเพื่อไปสู่จุดหมายนั้น โดยไม่คำนึงถึงความเสียหายของบ้านเมืองว่าจะเป็นอย่างไร ดังนั้น พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ควรแปลกใจทำไมพรรคการเมืองถึงออกมาวิจารณ์เพราะว่าเขาเห็นปัญหาก็ว่าไปตามข้อเท็จจริง และไม่ใช่แค่พรรคการเมือง หลายๆ ฝ่ายในสังคมก็เห็นปัญหานี้ตรงกันมากขึ้น เพียงแต่ พล.อ.ประยุทธ์ ปกครองอยู่ด้วยการอาศัยกำลังกองทัพ และอาศัยอำนาจเบ็ดเสร็จเหนืออำนาจอธิปไตยทั้งหลาย จึงทำให้ฝ่ายต่างๆ ทำได้แค่เพียงวิพากษ์วิจารณ์เท่านั้น" นายจาตุรนต์ กล่าว
นายจาตุรนต์ กล่าวว่า ส่วนของอ้างหากยังขัดแย้ง การเลือกตั้งอาจเกิดขึ้นไม่ได้นั้น เป็นข้ออ้างในการเข้าสู่อำนาจของ พล.อ.ประยุทธ์กับพวก และเป็นข้ออ้างเรื่อยมาและกำลังเป็นข้ออ้างเพื่ออยู่ต่อไปอีกนานๆ ขณะนี้ถูกเอามาใช้เพื่อเป็นเงื่อนไขหนึ่งในการเลื่อนเลือกตั้งออกไปอีก ทั้งๆ ที่มันหมดความเป็นเงื่อนไขและความมีเหตุมีผลมานานแล้ว เพราะการที่ คสช.เข้ามายึดอำนาจควรเข้ามาสร้างกฎกติกาเป็นธรรมกับทุกฝ่าย และให้ระบบเดินหน้าไป โดยที่บ้านเมืองอยู่กันได้อย่างสงบภายใต้กติกาที่เป็นธรรม โดยไม่ใช้อาวุธมาเป็นผู้ปกครอง แต่เมื่อยังอ้างอยู่แบบนี้เท่ากับว่าฉวยโอกาสความไม่สงบเพื่อการอยู่ในอำนาจไปยาวๆ โดยไม่ได้ทำให้เกิดระบบที่ดีที่คนจะมั่นใจได้ว่าประเทศจะปกครองหรืออยู่กันได้โดยทุกคนอยู่ภายใต้กฎหมายเท่าเทียมกัน จริงๆ ก็เป็นประกาศความล้มเหลวของ พล.อ.ประยุทธ์ กับพวกในการที่อาสาเข้ามาแก้ปัญหาบ้านเมือง เพียงแต่ว่าเมื่อประกาศความล้มเหลวในการแก้ปัญหาแล้ว ยังอาศัยความล้มเหลวนั้นอยู่ปกครองบ้านเมืองต่อไป จริงๆ แล้วก็เป็นเรื่องน่าละอาย