ล่าสุดงานวิจัยชิ้นหนึ่งของไทยถูกนำไปตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับโลก กลายเป็นชนวนเหตุสำคัญของการกำหนดอนาคต “พาราควอต” สารเคมีเจ้าปัญหา หลังจากพบว่ามันตกค้างอยู่ในเลือดของแม่ และสายสะดือของทารกแรกคลอด

พาราควอต (Paraquat) เป็นสารเคมีกำจัดวัชพืช ที่จดสิทธิบัตร และถูกนำมาใช้ครั้งแรกในโลกเมื่อ 60 ปีที่แล้ว เฉพาะเมืองไทยมีใช้มานานไม่ต่ำกว่า 30 ปี มีชื่อทางการค้าที่เกษตรกรไทยคุ้นเคยกันดี อย่างเช่น กรัมม็อกโซน (Grumoxone) คาราโซน (KaraZone) น็อกโซน (Noxone) และ ท็อปโซน (TopZone) เป็นต้น

เคยมีการพิสูจน์มาแล้วว่า ถ้าใช้แรงงานคนในการถอนหญ้าแบบถอนรากถอนโคนออกจากเรือกสวน ไร่ นา บนพื้นที่ขนาด 1 ไร่ ภายใน 1 ชั่วโมง แรงงาน 1 คน จะถอนหญ้าได้เต็มที่ (แบบไม่อู้) ไม่เกิน 29 ตารางวา

ดังนั้น บนพื้นที่ขนาด 1 ไร่หรือ 400 ตารางวา ซึ่งเต็มไปด้วยหญ้ารก ภายใน 1 ชั่วโมง ต้องใช้แรงงานกรำศึกกับต้นหญ้า ไม่ต่ำกว่า 14 คน

ถ้าแรงงาน 1 คน มีค่าแรงขั้นต่ำอยู่ที่วันละ 300 บาท ถ้าต้องการจะถอนหญ้าบนพื้นที่ขนาด 10 ไร่ตั้งแต่ 8 โมงเช้ายัน 6 โมงเย็น หมายความว่า ผู้ที่ว่าจ้างให้ถอนหญ้า ต้องจ่ายค่าแรงถึงวันละ 4,200 บาท

แต่เมื่อเทียบกับการกำจัดหญ้าด้วย พาราควอต ผู้ว่าจ้างรายเดียวกัน จะมีต้นทุนเฉลี่ยอยู่แค่ไร่ละประมาณ 100 บาท หรือ 10 ไร่ จ่ายไม่เกิน 1,000 บาท

นี่จึงเป็นคำตอบว่า เหตุใดประเทศไทยถึงได้อาบไปด้วยสารพิษชนิดนี้!!!

เป็นที่น่ายินดีว่า ไม่นานมานี้ที่ประชุม 3 กระทรวง คือ กระทรวงสาธารณสุข เกษตรฯ และอุตสาหกรรม โดยคณะกรรมการขับเคลื่อนปัญหาการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง เห็นควรให้ระงับการใช้ “สารพาราควอต” ภายใน 2 ปีนี้ พร้อมกับให้มีการหาสารตัวอื่นมาทดแทน

...

ที่ไม่สั่งห้ามใช้สารกำจัดวัชพืชชนิดนี้ทันที เพราะเกรงว่าอาจส่งผลกระทบ และแม้ว่าสารเคมีทดแทนตัวใหม่จะมีราคาแพงกว่า แต่สุดท้ายต้องเลือกเอาระหว่างสุขภาพของประชาชนเป็นที่ตั้ง และเพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายประเทศไทยมีการเกษตรที่ปลอดภัยให้ได้ ร้อยละ 65 ภายในปี 2565 และมีการทำเกษตรอินทรีย์ ที่ไม่ใช้สารเคมี อย่างน้อย 35% ภายในปี 2570

แต่ทุกอย่างดูเหมือนจะไม่ง่ายไปเสียหมด เพราะเกษตรกรไทยเคยชินกับการใช้ พาราควอต มานานหลายสิบปี พอๆกับที่ช่างทาสีเคยชินกับกลิ่นทินเนอร์ ยิ่งกว่ากลิ่นเส้นผมของเมีย จึงเชื่อกันว่า ถึงแม้รัฐบาลจะแบนพาราควอตได้สำเร็จ แต่ในอนาคตคงต้องมีการแอบซื้อขายสารพิษชนิดนี้ เหมือนกับการแอบแทงหวยใต้ดิน

วันก่อน ที่อาคารสุขภาพแห่งชาติ จ.นนทบุรี มีแรงกระเพื่อมเรื่อง “พาราควอต” ครั้งใหญ่อีกครั้ง

อรพรรณ ศรีสุขวัฒนา รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ บอกว่า ในเรื่องเกษตรและอาหารปลอดภัยนั้น ต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานสำคัญ 3 อย่าง คือ 

การเคารพสิทธิด้านสุขภาพของบุคคล เพราะอาหารปลอดภัย ถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานด้านสุขภาพ ที่องค์การอนามัยโลกกำหนดไว้

ถัดมา ต้องใช้หลักป้องกันไว้ก่อน (Precaution principle) เมื่อมีข้อมูลที่พิสูจน์ถึงผลกระทบด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมจากพาราควอตมากมาย ทำไมจึงยังปล่อยให้ประชาชนมีความเสี่ยงบริโภคอาหารที่ไม่ปลอดภัย

สุดท้าย ทุกภาคส่วนจึงต้อง ร่วมกันแก้ปัญหาการใช้พาราควอต ซึ่งเป็นสารเคมีอันตรายร้ายแรงอย่างยั่งยืน

“แผ่นดินไทยที่เคยเป็นอู่ข้าวอู่น้ำของไทยและของโลก ต้องไม่เป็นแผ่นดินอาบยาพิษ ถึงเวลาแล้วหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเร่งยกเลิกการต่ออายุใบอนุญาตนำเข้าและใช้พาราควอตในผลิตภัณฑ์อาหารของไทย เพื่อให้อาหารไทยมีแบรนด์ที่ปลอดภัย และสร้างมูลค่าเพิ่มในตลาดโลก”

พรพิมล กองทิพย์ จากคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล บอกว่า

ทุกวันนี้ พาราควอตนอกจากมีพิษเฉียบพลันสูง ยังไม่มียาถอนพิษ จึงมีประเทศที่ห้ามใช้แล้วทั่วโลกมากกว่า 50 ประเทศ และประเทศที่จำกัดการใช้อีก 15 ประเทศ เพราะพบว่ามีความเสี่ยงต่อ โรคพาร์-กินสัน และ ระบบประสาท ถ้ายังคงปล่อยให้ขายและใช้กันต่อ แหล่งน้ำใต้ดิน น้ำผิวดิน และน้ำประปาในหลายจังหวัดจะปนเปื้อน โดยเฉพาะที่จังหวัดซึ่งเป็นแหล่งต้นน้ำสำคัญของประเทศ

“ล่าสุด มีการตรวจพบพาราควอตตกค้างอยู่ในปัสสาวะหญิงตั้งครรภ์ใน 3 จังหวัดคือ นครสวรรค์ กาญจนบุรี และอำนาจเจริญ โดยพบตกค้างอยู่ในซีรัมของมารดา และซีรัมสายสะดือของทารกแรกคลอด แถมยังพบอยู่ในขี้เทาของทารกแรกเกิด”

นอกจากนี้ ข้อมูลจากศูนย์พิษวิทยาโรงพยาบาลรามาธิบดี และข้อมูลสำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมโรค ระบุว่า ในปี 2560 พบว่ามีการนำพาราควอตไปใช้ฆ่าตัวตายถึง 111 เหตุการณ์ ซึ่งผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบจากพาราควอต ส่วนใหญ่มีอาชีพเกษตรกร และรับจ้าง

พวงรัตน์ ขจิตวิชยานุกูล ผู้อำนวยการสถานวิจัยเพื่อความเป็นเลิศทางวิชาการฯ มหาวิทยาลัยนเรศวร บอกว่า

เมืองไทยมีการนำเข้าสารพาราควอตมาใช้กำจัดวัชพืชในภาคเกษตรมานานกว่า 30 ปี โดยฉีดพ่นในอัตราส่วนสูงกว่าค่าที่กำหนดไว้ในฉลาก ทำให้สารถูกดูดซับไว้ในดิน เกิด “การคายซับ” หรือปลดปล่อยสารละลายไปกับน้ำที่ไหลผ่าน ถ้าแหล่งน้ำนั้นใช้เพื่อการอุปโภคบริโภค จะมีโอกาสเข้าสู่ร่างกาย และน้ำที่มีสารพาราควอตปนเปื้อนสามารถเคลื่อนเข้าสู่รากของพืชได้เช่นเดียวกัน

“การตรวจพบพาราควอต ทั้งในน้ำและผัก ผู้บริโภคต้องคำนึงด้วยว่า การได้รับสารนี้เข้าสู่ร่างกายไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะเกษตรกรผู้ใช้สารเคมีตัวนี้เท่านั้น แต่ผู้บริโภคเองก็มีโอกาสได้รับสารชนิดนี้ผ่านการกินพืชผัก ผลไม้ ไม่ต่างไปจากเกษตรกร”

ด้าน วิเชียร เจษฎากานต์ ประธานครือข่ายธุรกิจเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม บอกว่า มนุษย์ทุกคนควรมีสิทธิพื้นฐาน และเสมอภาคในการได้บริโภคอาหารที่ปลอดภัย ถ้านโยบายการแก้ปัญหาสารพาราควอต ไม่เกิดผลเป็นรูปธรรม ต่อไปการจัดการสารเคมีอื่นๆที่อันตรายน้อยกว่า ก็คงไม่มีทางประสบความสำเร็จ

“เรามักจะคิดแต่การสูญเสียผลประโยชน์ทางธุรกิจ แต่ไม่ค่อยใส่ใจต่อการสูญเสียของทรัพยากร และระบบนิเวศ นโยบายการใช้สารเคมีเกษตรขณะนี้ไม่คุ้มค่า และไม่ใช่ทางเลือกที่ยั่งยืน”

เขาบอกว่า ถึงเวลาที่ภาครัฐต้องใช้มาตรการทางกฎหมาย โดยให้ผู้ผลิตอาหารทั้งระบบมีส่วนรับผิดชอบ และสามารถตรวจสอบย้อนกลับไปยังผู้ที่บกพร่องได้ ไม่ว่าจะเป็นเจ้าของตลาด หรือซุปเปอร์มาร์เกตที่นำสินค้านั้นมาขาย พ่อค้าคนกลาง เกษตรกร และผู้ขายสารเคมี ฯลฯ

นอกจากนี้ ภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง ควรสร้างข้อตกลง “สัญญาความปลอดภัยทางอาหาร” ด้วยการให้เงิน และสนับสนุนการทำงานของภาครัฐ เพื่อตรวจสอบสินค้า และอำนวยความสะดวกในการตรวจสอบ พร้อมเปิดเผยข้อมูลสู่สาธารณะ

ทั้งนี้ เพื่อให้อาหารจากแผ่นดินไทย เป็นครัวที่ปลอดภัย และน่าเชื่อถือของโลก.